สงครามไทยกับพม่า
การทำสงครามกับกรุงล้านนาจนทำให้พระมหาเทวีจริประภาซึ่งเป็นประมุขของรัฐยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระชัยราชาธิราชนั้นทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศสยาม เป็นที่ยอมรับหวั่นเกรงของบ้านเมืองใกล้เคียง
แต่ในขณะเดียวกัน ทางตะวันตกซึ่งเป็นประเทศของมอญและพม่า พวกมอญที่เคยเป็นใหญ่อยู่ทางใต้หมดอำนาจลง ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้าตะเบงชเวตี้กษัตริย์พม่าจากเมืองตองอู ซึ่งได้เข้ายึดครองเมืองหงสาวดีของมอญและสถาปนาเป็นราชธานีของพม่าขึ้น ต่อจากนั้นก็ทำการปราบปรามรัฐใหญ่น้อยและบ้านเมืองต่าง ๆ ในประเทศพม่ามาไว้ในอำนาจ การมีอำนาจของพม่า ณ กรุงหงสาวดีมีผลทำให้เป็นคู่แข่งกับกรุงศรีอยุธยาโดยปริยาย และมีแนวโน้มที่จะทำให้ทั้งสองราชอาณาจักรมาเผชิญหน้ากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความแต่ต่างระหว่างพม่ากับไทยนั้นอยู่ที่ว่า ทางไทยสามารถสร้างความกลมกลืนทางวัฒนธรรมและบูรณาการระหว่างกลุ่มชนที่อยู่ต่างรัฐต่างเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในราชอาณาจักรได้แต่พม่าทำไม่ได้ เพราะมีชนกลุ่มใหญ่ ๆ ที่มีความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรมหลายกลุ่ม เช่นพวกไทยใหญ่ทางภาคเหนือ พวกมณีปุระทางตะวันตก และมอญทางตะวันออก การที่จะทำให้เกิดการรวมกันได้นั้น ต้องอาศัยการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ และต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง ตราบใดที่มีแสนยานุภาพก็เป็นที่เกรงกลัว แต่เมื่อใดที่มีผู้นำที่อ่อนแอก็มักจะเกิดการกบฏแข็งเมืองและต่อต้านอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นผู้นำของพม่าจึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอและแผ่แสนยานุภาพภายในโดยการตีบ้านเล็กเมืองน้อยกวาดต้อนผู้คนเข้ามาเป็นกำลังคนของอาณาจักรอยู่เนืองๆ
ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชนี้ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเผชิญหน้ากับพม่า พวกมอญจากเมืองเชียงกราน (ปัจจุบันคือเมืองอัตรัน) ที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพม่าหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้าตะเบงชเวตี้ไม่พอพระทัย ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองเมืองเชียงกรานไว้ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกกองทัพไปขับไล่พม่า และตีเมืองเชียงกรานคืนมาได้ นับเป็นการสร้างความแค้นเคืองให้แก่พม่ามาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็งและมีอานุภาพยิ่งพระองค์หนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงของกรุงศรีอยุธยาก็มีอยู่ไม่นาน เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นภายในราชอาณาจักร สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน นัยว่ามีผู้วางยาพิษปลงพระชนม์ ราชสมบัติตกอยู่กับพระยอดฟ้าราชโอรสซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ อำนาจในการปกครองบ้านเมืองจึงตกอยู่ภายใต้ท้าวศรีสุดาจันทร์ซึ่งเป็นพระราชมารดา ต่อมาได้ตั้งตัวเป็นแม่อยู่หัวแล้วคบคิดกับขุนชินราชพนักงานเฝ้าหอพระผู้เป็นชู้ ถอดพระยอดฟ้าออกจากราชสมบัติ และตั้งขุนชินราชเป็นขุนวรวงศาธิราชปกครองแผ่นดิน ได้สร้างความไม่พอใจและแค้นเคืองแก่บรรดาเจ้านายและขุนนาง ในที่สุดพระเทียรราชาและขุนพิเรนทรเทพเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงและคณะขุนนางกลุ่มหนึ่งร่วมกันกำจัดขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันท์ได้สำเร็จ พระเทียรราชาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลร้ายแก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเป็นการแตกแยกกันภายในแล้ว ยังทำให้ความรุ่งเรืองต่าง ๆ ที่สืบกันมาแต่สมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหมดสิ้นลงด้วย สามเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเป็นผู้นำที่อ่อนแอ ได้กระจายอำนาจในการปกครองบ้านเมืองไปให้บรรดาขุนนางผู้ร่วมก่อการในการกำจัดขุนวรวงศาธิราช เช่น ขุนพิเรนทรเทพเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก และขุนอินทรเทพเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ครองเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะเมืองลูกหลวงที่มีอำนาจอย่างแต่ก่อนสมัยการปฏิรูปการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงและเมืองลูกหลวงในรัชกาลนี้ก็คือ การเกี่ยวดองกันในด้านการแต่งงานระหว่างพระมหากษัตริย์และเจ้าเมือง สมเด็จพระมหาจักพรรดิทรงยกพระวิสุทธิกษัตริย์พระราชธิดาให้เป็นพระชายาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระราชบุตรีอันเกิดแต่พระสนมให้เป็นชายาของพระยาศรีธรรมาโศกราช สายสัมพันธ์เช่นนี้อาจขาดลงได้ถ้าหากมีการขัดแย้งกันขึ้นในเรื่องของการแย่งความเป็นใหญ่กัน เมื่อกษัตริย์ผู้เป็นศูนย์รวมของความสัมพันธ์สวรรคตลง
เหตุการณ์การผลัดแผ่นดินและการชิงราชสมบัติกันในกรุงศรีอยุธยา พม่าได้รู้เห็นจึงฉวยโอกาสมารุกรานเพื่อแสดงแสนยานุภาพให้บรรดาหัวเมืองในราชอาณาจักรเกิดความเกรงกลัว
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ยกกองทัพผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ รุดเข้าตีพระนครศรีอยุธยา เกิดการชนช้างระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที แต่สมเด็จพระสุริโยทัยและพระราชบุตรีพระองค์หนึ่งซึ่งปลอมพระองค์เป็นชายมาในกองทัพด้วยถลันเข้าช่วยแก้จึงถูกฟันสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์กองทัพพม่าไม่สามารถตีพระนครศรีอยุธยาได้เพราะขาดความรู้ทางด้านภูมิประเทศ อีกทั้งกลัวกองทัพของสมเด็จพระมหาธรรมราชาจากเมืองเหนือมาขนาบจึงถอยกลับไป
ผลของสงครามครั้งนี้ พม่าไม่ได้อะไรกลับไปนอกจากการเรียนรู้ลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคิดอ่านมาทำสงครามกับไทยอีก
ส่วนไทยไม่เสียเอกราช แต่ทว่าเสียวีรสตรี 2 ท่านคือ สมเด็จพระสุริโยทัยและพระราชธิดา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้โปรดให้พระราชทานเพลิงพระศพ และสร้างวัดสวนหลวงสบสวรรค์ขึ้นเป็นอนุสาวรีย์ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่อัครเมเหสีและพระราชธิดาวันนี้ปัจจุบันอยู่ในบริเวณโรงงานสุรา ณ ตำบลหัวแหลม ใกล้กับบริเวณที่ลำน้ำลพบุรีมาบรรจบกับลำน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันอาคารและศาสนสถานส่วนใหญ่ถูกรื้อทำลายหมด เหลือเพียงพระเจดีย์ย่อมุมสิบสองขนาดใหญ่องค์หนึ่ง ที่เชื่อกันว่าคือพระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระสุริโยทัย
เมื่อพม่าถอยทัพกลับไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็มิได้ทรงประมาท ได้ทรงโปรดให้ปรับปรุงและตระเตรียมพระนครเพื่อรับการรุกรานของพม่าที่จะมีมาอีก
ประการแรก เป็นการก่อสร้างกำแพงพระนครมาประชิดริมลำน้ำทุกด้าน นับเป็นการสร้างกำแพงเมืองก่ออิฐถือปูน มีป้อมปราการเชิงเทิน และใบเสมารับทางปืนตามแบบตะวันตก พวกทหารช่างที่เป็นเชื้อสายชาวโปรตุเกสคงมีบทบาทมากในการก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อม รวมทั้งใบเสมาบนกำแพงเมือง นับเป็นการปรับปรุงโครงสร้างและรูปแบบเมืองพระนครศรีอยุธยาครั้งสำคัญ ป้อมและกำแพงเมืองดังกล่าวได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้มั่นคงในสมัยต่อๆ มาที่เหลือดังเห็นในปัจจุบันที่น่าสนใจคือ ป้อมเพชร ซึ่งอยู่ตรงมุมพระนครทางใต้ ใกล้บริเวณที่ลำน้ำเจ้าพระยาและลำน้ำป่าสัก (คูคื่อหน้าเก่า) มาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ลงมายังกรุงเทพฯ
ประการที่สอง โปรดให้รื้อกำแพงเมืองบางเมืองที่อยู่ไม่ห่างพระนครศรีอยุธยา เช่น นครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) และเมืองสุพรรณบุรี (สุพรรณภูมิ) เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าเข้ายึดเป็นที่มั่นได้ นอกจากนั้น มีการจัดตั้งเมืองใหม่ๆ ขึ้นหลายจุดตามจุดยุทธศาสตร์ในที่ต่างๆ เมืองเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบ หากเป็นที่ชุมนุมคน มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จวนเจ้าเมืองเป็นสำคัญ เช่นเมืองนครนายก เมืองตลาดแก้วตลาดขวัญ และเมืองฉะเชิงเทรา เป็นต้น นับเป็นการโยกย้ายและรวบรวมกำลังพลครั้งสำคัญ
ประการที่สาม มีการคล้องช้างและจัดหาช้างจากที่ต่าง ๆ ไว้เป็นพาหนะสำคัญในการทำศึก ดังปรากฎในพงศาวดาร การกล่าวถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปประกอบพระราชพิธีตามที่ต่างๆ และการพบช้างเผือกจำนวนถึง 7 เชือก การมีช้างเผือกมากเท่านี้ถือกันว่าเป็นบารมีของการเป็นพระจักรพรรดิราช ทำให้คนทั่วไปให้พระฉายาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าพระเจ้าช้างเผือก แต่ในทำนองกลับกัน ทางพม่าได้ใช้เรื่องการมีช้างเผือกนี้เป็นการหาเหตุมาตีพระนครศรีอยุธยาในคราวต่อไป เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์พม่าต้องการมีพระบารมีเป็นพระจักรพรรดิราชเช่นกัน การได้ช้างเผือกจากเมืองไทยนั้น ย่อมเป็นการเสริมแสนยานุภาพให้เห็นว่ามีอำนาจเหนือกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นอาณาจักรที่สำคัญในสมัยนั้นอย่างแท้จริง
ถึงแม้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมากต่อการปรับปรุงและตระเตรียมพระนครเพื่อการรรับศึกพม่าที่จะมีมาอีกก็ตาม แต่ก็หาได้แก้ไขจุดอ่อนที่สำคัญอันได้แก่โครงสร้างในการปกครองบ้านเมืองไม่ นั้นก็คือ ยังทรงปล่อยให้บรรดาเจ้าเมืองสำคัญ ๆ ของอาณาจักร เช่นนครศรีธรรมราชและพิษณุโลกปกครองอย่างมีอำนาจเต็มในลักษณะที่เป็นอิสระ ทั้งนี้ เพราะทรงวางพระทัยว่าบรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้นคือเขยและสะใภ้ของพระองค์
การปล่อยให้อำนาจกระจายอยู่ตามหัวเมืองสำคัญ ๆ ดังกล่าวเท่ากับเป็นการบั่นทอนการเป็นศูนย์อำนาจของพระนครศรีอยุธยาอย่างที่มีมาก่อนในสมัยรัชสมัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราช ทำให้อยุธยามีสภาพเป็นเมืองหลวงแต่เพียงในนาม เห็นได้ชัดว่า แม้แต่การโยกย้ายเมืองเก่าและจัดตั้งเมืองใหม่เพื่อรับศึกนั้นก็กระทำอยู่แต่เฉพาะหัวเมืองใกล้ๆ กับราชธานีเท่านั้น ในขณะเดียวกัน การขัดแย้งกันภายในระหว่างเมืองพระยามหานครกับเมืองราชธานีก็ค่อยๆ ปรากฏโฉมขึ้นอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางเครือญาตินั้นเอง ที่แน่ชัดที่สุดก็คือ ระหว่างสมเด็จพระราเมศวรและพระมหินทราชา พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกผู้เป็นราชบุตรเขย สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถือว่าพระองค์เป็นบุคคลสำคัญในการโค่นล้างขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์แล้วผลักดันให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้ได้ราชสมบัติ การเป็นพระราชบุตรเขยของพระองค์ก็มีสิทธิที่จะเป็นใหญ่ในราชอาณาจักรได้ ยิ่งกว่านั้นพระองค์ก็ทรงเป็นเชื้อสายพระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงการครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเปรียบเสมือนราชธานีแห่งหนึ่ง ก็ย่อมมีความสำคัญอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อดูจากโครงสร้างทางอำนาจที่แท้จริงแล้ว พระนครศรีอยุธยาในขณะนั้นหาได้เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจแต่เพียงแห่งเดียวไม่
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ค่อยๆ เพิ่มพูนและกลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่พม่าเข้าใจ การเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาของพม่าคราวต่อมาในครั้งสงครามช้างเผือกนั้น พม่านอกจากมีกำลังพลที่เหนือกว่าแล้ว ยังมีผู้นำที่เข้มแข็งรอบรู้ในกลยุทธ์เป็นอย่างดีคือพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงสามารถตัดกำลังฝ่ายไทยได้การตีหัวเมืองทางฝ่ายเหนืออันได้มีเมืองพิษณุโลกที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาปกครองอยู่ไว้ได้ ต่อจากนั้นจึงเคลื่อนกำลังมาล้อมและบีบกรุงศรีอยุธยา จนทางกรุงต้องยอมอ่อนน้อมต่อพม่า ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า นอกจากต้องให้ช้างเผือกแก่พม่าจำนวนหนึ่งแล้ว ทางฝ่ายพม่ายังขอสมเด็จพระราเมศวรราชโอรสไปเป็นตัวประกันอีกด้วย ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วก็คือการเป็นเมืองขึ้นของพม่านั้นเอง แต่ในเอกสารทางฝ่ายพม่าได้ให้ข้อมูลมากว่านี้คือว่า พม่ายังได้นำสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเมืองหงสาวดีด้วย จึงดูสอดคล้องกับพงศาวดารไทยที่ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงผนวชแล้วสละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระมหินทราชาธิราช ยิ่งกว่านั้น ก็ดูรับกันดีกับเหตุการณ์ต่อมาที่สมเด็จพระมหินทราชาธิราชขัดแย้งรบพุ่งกับสมเด็จพระมหาธรรมราชา เพราะถ้าหากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาจริงแล้ว ก็คงมีส่วนที่จะสร้างความประนีประนอมกันได้ไม่มากก็น้อย
เมื่อสมเด็จพระมหินทราชาธิราชขึ้นครองราชย์ ณ พระนครศรีอยุธยานั้น กรุงศรีอยุธยาหาได้เป็นราชธานีที่เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจทางการเมืองอย่างแต่เดิมไม่ หากมีฐานะเป็นเมืองขึ้นเมืองหนึ่งของพม่าเช่นเดียวกันกับเมืองพิษณุโลกที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาครองอยู่ เมืองพิษณุโลกได้กลายมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับอยุธยาได้อย่างเด่นชัดเพราะฉะนั้น การขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระมหินทราชาธิราชกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะการที่สมเด็จพระมหินทราชาธิราชสร้างความสัมพันธ์กับรัฐล้านนานและล้านช้างที่นครเวียงจันทน์เพื่อเอากำลังล้านช้างเข้ามารวม การส่งพระเทพกษัตรีพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปให้กับสมเด็จพระชัยเชษฐาธิราชของลาวนั้นถูกสกัดกั้นโดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งหันไปพึ่งกำลังทางผ่ายพม่ามาชิงตัวสมเด็จพระเทพกษัตรีไปถวายพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้พม่าเองก็แลเห็นว่าสมเด็จพระหมินทราชาธิราชและกรุงศรีอยุธยาต้องการแข็งเมือง ต่อมาจึงส่งกองทัพมาโจมตี และปราบปรามนครเวียงจันทน์ จนพระเจ้าชัยเชษฐาธิราชต้องพ่ายแพ้และหลบหนีไป ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนสมเด็จพระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกยกย่องให้เป็นเจ้าฟ้าสองแคว ซึ่งเท่ากันเป็นการสร้างความบาดหมางระหว่างสมเด้จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระมหินทราชาธิราชให้มากขึ้นอีก ในที่สุด สมเด็จพระมหินทราชาธิราชจึงทรงกระทำการหักหาญ เสด็จนำตัวพระวิสุทธิกษัตริย์พระเชษฐาภคินีผู้เป็นพระมเหสีของสมเด้จพระมหาธรรมราชา และสมเด็จพระเอกาทศรถพระราชโอรสมาไว้ ณ พระนครศรีอยุธยา ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างกรุงศรีอยุธยาและพิษณุโลกขึ้น ในที่สุดทางพม่าก็ถือเป็นสาเหตุว่าทางพระนครศรีอยุธยาแข็งเมือง จึงยกทัพใหญ่มาตีโดยมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาและกองทัพเมืองพิษณุโลกร่วมมาด้วย เมื่อตีพระนครศรีอยุธยาแล้วจึงแต่งตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์ในฐานะเป็นเจ้าเมืองประเทศราชของพม่าต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันความจงรักภักดี ทางพม่าได้นำตัวสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดีด้วย
กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึง 15 ปี พม่าขนสมบัติพระราชทรัพย์ เครื่องสูง และผู้คนไปเมืองหงสาวดีเป็นจำนวนมาก แม้กระทั้งเทวรูปและรูปสัตว์สำริดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงนำมาจากเมืองพระนครหลวงของกัมพูชามาถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดมหาธาตุ ก็ถูกนำไปเมืองพม่าด้วย สมเด็จพระมหาธรรมราชาเมื่อแรกขึ้นครองพระนครศรีอยุธยาจึงอยู่ในสภาพที่เกือบไม่มีอะไรหลือ ต้องทรงเริ่มสร้างใหม่ ทั้งบรรดาขุนนาง ข้าราชการซึ่งส่วนมากทรงย้ายมาจากเมืองพิษณุโลก และบรรดาเครื่องสูงเครื่องยศต่างๆ นับได้ว่าศิลปวัฒนธรรมในยุคนี้อยู่ในสภาพที่หยุดนิ่งและขาดตอนจากที่มีมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
อย่างไรก็ตาม ศิลปะและวัฒนธรรมของพม่าก็หาได้เข้ามามีอิทธิพลในกรุงศรีอยุธยาไม่ ในด้านสถาปัตยกรรมก็ดูเหมือนมีอยู่เพียงแห่งเดียวคือ พระเจดีย์วัดภูเขาทอง ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งภูเขาทองทางเหนือของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระสถูปขนาดใหญ่ ฐานสี่เหลี่ยมลดชั้นขึ้นไปหลายชั้นก่อนถึงองค์ระฆัง เป็นลักษณะของฐานพระเจดีย์แบบพม่า-มอญ อย่างเด่นชัด แต่องค์ระฆังเป็นแบบอย่างเจดีย์ย่อไม้สิบสองซึ่งเป็นแบบอยุธยาในสมัยหลัง ๆ ลงมา จึงอาจเป็นไปได้ที่องค์ระฆังเดิมหักพังลงมาแล้วมีการบูรณะใหม่ให้เป็นพระเจดีย์ย่อไม้สิบสองนี้แทน พระเจดีย์องค์นี้ได้เป็นเป็นสัญลักษณ์ของทุ่งภูเขาทอง ในฤดูน้ำมีงานไหว้งานฉลอง และคนมาลอยเรือเล่นสักวากัน ในคำให้การของชาวกรุงเก่าระบุว่าเป็นพระมหาเจดีย์องค์หนึ่งของพระนคร คู่กับพระเจดีย์วัดเจ้าพญาไทหรือวัดใหญ่ชัยมงคลทีเดียว ส่วนด้านขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อนั้น ไทยยังคงได้รับการเทศน์เรื่องพระมาลัยจากทางพม่า รวมทั้งการเล่นเทิดเถิงและกลองยาวด้วย
ในฐานะเมืองขึ้น กรุงศรีอยุธยามีสภาพความตกต่ำแม้แต่พวกเขมรจากกัมพูชาก็ดูถูก และมักเข้ามาโจมตีกวาดต้อนผู้คนตามชายแดนเสมอ ในบางครั้งก็ถึงกับยกเข้ามาหมายตีพระนครศรีอยุธยาเอาทีเดียว ทำให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาถือโอกาสปรับปรุงพระนครในด้านการป้องกันการรุกราน เช่นการขุดลอกคูขื่อหน้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นคูพระนครทางด้านตะวันออก โปรดให้บูรณะซ่อมแซมป้อมปราการ และขยายกำแพงพระนครมาประชิดคูขื่อหน้า โดยอ้างกับพม่าว่าเพื่อป้องกันการรุกรานของกัมพูชา
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระชนม์เติบใหญ่ขึ้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทูลขอพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองให้กลับมา แล้วส่งพระสุวรรณเทวีพระราชธิดาซึ่งเป็นพระเชษฐาภคินีของสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นตัวประกันแทน พระเจ้าบุเรงนองตอนนั้นทรงมีพระชนม์มากแล้ว และกรุงหงสาวดีเองก็มีความมั่นคง จึงโปรดให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถ่ายตัวพระนเรศวรมา สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สร้างพระราชวังจันทเกษมขึ้นเป็นที่ประทับของพระนเรศวรในกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้ได้ประทับสำราญพระราชหฤทัยอย่างเป็นอิสระพระราชวังนี้จึงเป็นต้นเค้าของพระราชวังบวรสถาณมงคลอันเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชในสมัยหลังๆ ลงมา แต่สมเด็จพระนเรศวรไม่โปรดประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยา กลับเสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกเพราะทรงเป็นอิสระมากกว่า โดยเฉพาะในการสร้างสมกำลังคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะเป็นขุนนาง ข้าราชการ และแม่ทัพนายกอง ในการที่จะกู้พระราชอาณาจักรต่อไป
ทางกรุงหงสาวดี เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ลง ความวุ่นวายก็เริ่มตั้งเค้าขึ้น บุเรงนองทรงพระเดชานุภาพยิ่งใหญ่ บรรดาเจ้าประเทศราชและหัวเมืองน้อยใหญ่เกรงกลัว บ้านเมืองก็สงบสุข แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ลง นันทบุเรงราชโอรสขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทน ไม่มีบารมีเท่าพระราชบิดา ความกระด้างกระเดื่องก็เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก จากภายในนั้น ได้แก่บรรดาเมืองใหญ่ ๆ ที่ล้วนแต่เป็นเชื้อสายของบุเรงนอง และเป็นพี่น้องกับนันทบุเรงทั้งนั้น เช่น เมืองอังวะ เมืองแปร เมืองตองอู เป็นต้น ส่วนจากภายนอกก็คือ บรรดาเมืองขึ้นต่างๆ รวมทั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย ในบรรดาเมืองขึ้น พม่ากลัวกรุงศรีอยุธยามากกว่าเมืองอื่นเพราะเป็นเมืองใหญ่อยู่ห่างจากพม่า อีกทั้งมีความแตกต่างกันมากในด้านภาษาและวัฒนธรรม ยิ่งกว่านั้น มีผู้นำที่แข็งแรงและกล้าหาญอย่างสมเด็จพระนเรศวร ผู้เคยอยู่ในเมืองพม่าตั้งแต่เล็กจนโต รู้จักพม่าเป็นอย่างดี ความกล้าหาญและการเป็นผู้นำของสมเด็จพระนเรศวรนั้นเป็นที่ประจักษ์หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งนันทบุเรงโปรดให้ไปตีเมืองรุมเมืองคังที่แข็งข้อกับพม่ารวมกับแม่ทัพนายกองพม่าคนอื่นๆ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดตีเมืองได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ทางพม่าจึงมีแผนที่จะกำจัดสมเด็จพระนเรศวรอยู่ตลอดเวลา
ในที่สุด เมื่อทางเมืองอังวะเป็นกบฏ นันทะบุเรงก็เกณฑ์บรรดาเมืองขึ้นและประเทศราชทั้งหลายให้ส่งกองทัพมาช่วยรวมทั้งสมเด็จพระนเรศวรด้วย ทรงหวังจะยืมพระหัตถ์สมเด็จพระนเรศวรปราบเมืองอังวะ หลังจากนั้นแล้วก็จะตีตลบหลังจับสมเด็จพระนเรศวรประหารเสีย เผอิญความลับแตกเพราะพระมหาเถรคันฉ่องผู้นำของพวกมอญซึ่งเอาใจออกห่างพม่าอยู่แล้วได้นำความมาบอก สมเด็จพระนเรศวรเลยถือโอกาส ประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาไม่ขึ้นกับพม่าอีก
การประกาศอิสระภาพของสมเด็จพระนเรศวรนั้น ทำให้บรรดาเมืองขึ้นอื่นๆ ไหวตัวตามไปด้วย เช่นมอญและเชียงใหม่หันมาเข้ากับทางกรุงศรีอยุธยา ทำให้ทางไทยมีกำลังเข้มแข็งขึ้น สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในได้ เพราะด้านกองทัพและการทหารนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นผู้นำแต่เพียงผู้เดียว บรรดาแม่ทัพนายกองส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ และพร้อมใจถวายความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนเรศวรทั้งสิ้น ในทำนองตรงข้าม ทางฝ่ายพม่ามีแต่ความวุ่นวาย เกิดความแข็งกระด้างเพิ่มขึ้นทั้งภายในและภายนอก ทางออกที่สำคัญของพม่าก็คือต้องปราบปรามกรุงศรีอยุธยาให้ได้ โดยเหตุนี้จึงทุ่มเทกำลังมาตีไทยอย่างสามารถ
สงครามครั้งนั้นได้แก่ เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาสวรรคตใหม่ๆ เพราะคาดว่าคงเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในพระนครศรีอยุธยา พม่ามาเป็นกองทัพใหญ่โดยมีพระมหาอุปราชทรงเป็นจอมทัพมาเอง ผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เพราะสามารถรุ่นเข้ามายังพระนครศรีอยุธยาได้รวดเร็ว แต่ทางพม่าคาดผิด เพราะกรุงศรีอยุธยาไม่มีเรื่องเดือดร้อน อีกทั้งสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงเตรียมพลปราบเมืองเขมร เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่ลอบเข้ามารุกรานเมืองไทยอยู่เนืองๆ อยู่แล้ว พอทรงทราบข่าวศึกพม่าจึงอยู่ในสภาพพร้อมสงคราม เพราะฉะนั้นการสงครามครั้งนี้จึงไม่เป็นฝ่ายรอให้พม่าเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาอย่างเคย แต่ทรงออกไปรับศึกนอกพระนคร การรบพุ่งกับพม่าที่ตำบลหนองสาหร่ายในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นการรบที่ยิ่งใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถพระราชอนุชาทรงทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะต่อพระมหาอุปราชและมังจาชะโร โดยทรงฟันคู่ปรปักษ์ขาดคอช้างทั้งคู่ ทำให้กองทัพพม่าแตกทัพยับเยินกลับไป
ผลดีของการทำสงครามยุทธหัตถีทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพใหญ่เข้ามาอีก ในทำนองเดียวกัน ทางผ่ายกรุงศรีอยุธยากลับมีความมั่นคงยิ่งขึ้น สมเด็จพระนเรศวรทรงปราบบ้านเล็กเมืองน้อยและตีกัมพูชาได้มาไว้ในขอบขัณฑสีมา ต่อจากนั้นก็ทรงทำสงครามรุกรานพม่าทั้งเป็นการตอบแทนได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีบ้างทำให้พม่าเกิดความระส่ำระสาย พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงต้องทิ้งเมืองหลวงไปประทับอยู่ ณ เมืองตองอูและถูกลอบปลงพระชนม์ที่นั้น กองทัพไทยยกไปล้อมตองอูอยู่พักหนึ่งแต่ก็ตีไม่ได้เพราะขาดเสบียงอาหารเลยต้องยกทัพกลับ ถึงแม้ว่าจะตีพม่าไม่ได้ก็ตาม แต่ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรางมีพระเดชานุภาพแผ่กระจายไปทั่ว บ้านเล็กเมืองน้อยมาอ่อนน้อมสร้างความยิ่งใหญ่และความมั่นคงให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนทางพม่านั้นมีผลให้บ้านเมืองแตกแยก เกิดการรวมตัวเป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้นแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน ถึงแม้ว่าในที่สุดพระเจ้าสุทโธธรรมราชาแห่งเมืองอังวะจะรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ก็ตาม กรุงหงสาวดีก็ถึงกาลสิ้นสุดการเป็นเมืองหลวง พม่าย้ายไปตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองอังวะแทน และไม่กล้ารุกรานเมืองไทยดังแต่ก่อนอีก