เวนิสตะวันออก (1)

เวนิสตะวันออก 1

ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมา กรุงศรีอยุธยามีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าประเทศข้างเคียง มีความมั่นคงทางการเมืองที่ทำให้ผู้คนจากภายนอกเดินทางเข้ามาค้าขายได้อย่างปลอดภัย เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นเงาตามตัวมา

ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ เริ่มมีชาวตะวันตกโดยเฉพาะชาวยุโรปหลายชาติเดินเรือเข้ามาติดต่อด้วย แต่ก่อนมีเพียงโปรตุเกสเพียงชาติเดียวที่เข้ามาค้าขายตั้งหลักแหล่งและรับราชการเป็นทหารอาสา นำวิทยาการใหม่ๆ เช่นการสร้างป้อมปราการเมืองและการใช้อาวุธปืนมาสอนให้ แต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรลงมา ชาวอังกฤษ ฮอลันดา และฝรั่งเศส เริ่มเข้ามาติดต่อและมีบทบาททางการค้าและการเมืองในเมืองไทย

นอกจากชาวตะวันตกที่อยู่ห่างไกลแล้ว ชาวเอเชียด้วยกันทั้งที่อยู่ใกล้และไกลก็หลั่งไหลเข้ามา เช่น พวกพ่อค้าชาวอาหรับ พวกแขกจาม แขกมัวร์ จีน ญี่ปุ่น และมาลายู เป็นต้น ทำให้กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ยุคใหม่ของการเป็นที่รวมของชนหลายชนชาติหลายภาษาและเริ่มเกิดกลุ่มชนใหม่ขึ้น สงครามกับพม่าทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนถูกกวาดต้อนลี้หายจากถิ่นเดิม ในช่วงเวลาของการเป็นเมืองขึ้นก็ต้องโยกย้ายผู้คนจากที่ต่าง ๆ มาเป็นพลเมือง เท่ากับเป็นการสับเปลี่ยนผู้คนอยู่แล้ว ครั้นเมื่อเป็นเอกราช การทำสงครามปราบปรามศัตรูและขยายอำนาจนั้นก็ได้กวาดต้อนผู้คนจากถิ่นอื่น รวมทั้งรับพวกที่ลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ก็เท่ากับกุรงศรีอยุธยามีพลเมืองใหม่ที่มีหลายชาติหลายภาษา เช่น เขมร ลาว มอญ พม่าอยู่แล้ว บางกลุ่มก็กลายเป็นคนไทยง่าย บางกลุ่มก็ยังยึดมั่นในขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเดิมของตนอยู่ จึงต้องอยู่ในฐานะพวกข้าทาส หรือพวกที่ทางราชการกำหนดให้มีอาชีพพิเศษซึ่งคนไทยโดยทั่วไปไม่ทำ เช่น เป็นช่างปั้นหม้อ ตีเหล็ก และเลี้ยงช้าง เป็นต้น

ระบบศักดินาที่เป็นมรดกมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้นมีบทบาทอย่างมากในการจัดสรรและจำแนกชั้นและประเภทของชนเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีความลดหลั่นกันลงไป แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีหน้าที่และอาชีพมากมายหลายประเภท ที่มีผลให้สังคมไทยขณะนั้นมีโครงสร้างทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม

ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงมีพระราโชบายที่แยบยลในการเกี่ยวข้องกับบรรดาชนชาติต่าง ๆ ทั้งยุโรปและเอเชียที่เข้ามาค้าขาย ทรงเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายได้สะดวกสบาย พระราชทานแหล่งที่อยู่อาศัยและการสร้างคลังสินค้าให้ รวมทั้งการจัดตั้งโรงเรียน วัด และศาสนสถานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของกลุ่มชนเหล่านั้นด้วย จึงมีผลทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามามีความจงรักภักดี พากันรับราชการเป็นกองทหารอาสาให้ ในยามรบทัพจับศึก พวกนี้มีส่วนช่วยในการเป็นกำลังคนที่มีฝีมือ ในยามสงบก็ช่วยในงานช่างและงานวิชาการที่นำเอาศิลปวิทยาการที่ตนมีความรู้มาเผยแพร่ให้ ชาวต่างประเทศบางคนรับราชการในตำแห่งใหญ่โต เช่น ชาวจีนในด้านการคลังและการค้า กรุงศรีอยุธยาในระยะนี้ไม่แต่เพียงเป็นเมืองท่าที่มีเรือสินค้าจากชาติต่างๆ มาเข้านอกออกในอยู่เป็นประจำเท่านั้น ยังมีสำเภาของรัฐบาลออกไปค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศใกล้เคียงด้วย มีการส่งทูตไปเจริญไมตรีทำการค้าและชักชวนประเทศต่างๆ เข้ามาค้าขายในเมืองไทยอยู่เนืองๆ

สิ่งที่มีส่วนเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันภายในสังคม ที่มีผลไปถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและวิทยาการของบ้านเมืองก็คือพระพุทธศาสนา มีคติธรรมที่ไม่รังเกียจและรังแกลัทธิศาสนาอื่น ผู้ใดจะเลือกนับถือศาสนาใดนั้นขึ้นอยู่กับตนเอง ยิ่งกว่านั้น ยังสั่งสอนให้คนเชื่อในเรื่องของบุญของกรรมอันเกิดจากการกระทำของแต่ละบุคคลทั้งในชาติปางก่อนและในชาตินี้ สถานภาพของแต่ละบุคคลเป็นผลสืบเนื่องมาแต่ปางก่อน คนที่มั่งมีเป็นขุนนาง เจ้านานที่มียศถาบรรดาศักดิ์นั้นเป็นเพราะบุญเก่าส่งเสริม ส่วนผู้ที่ยากไร้เข็ญใจก็เพราะเป็นเวรมาแต่ชาติก่อน จำต้องรับกรรมไปจนกว่าจะสิ้นเวร

ความรู้สึกนึกคิดที่ได้จากากรอบรมสั่งสอนทางพุทธศาสนาดังกล่าว ได้ช่วยขจัดความรูสึกเหลื่อมล้ำต่ำสูงในระหว่างชนชั้นต่างๆ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะระหว่างชนชั้นปกครองและผู้ที่ถูกปกครอง ทำให้การขัดแย้งระหว่างชน 2 กลุ่มไม่ใคร่เกิดขึ้น ดังจะได้เห็นว่า การกบฏหรือการเรียกร้องจากเบื้องล่างนั้นไม่ใคร่ปรากฏพบในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะมีกบฏที่เรียกว่าผีบุญเกิดขึ้นก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่าการกบฏเหล่านั้นไม่เคยได้รับความสำเร็จเลย โดยปกติการกบฏหรือการทำรัฐประหารชิงราชบัลลังค์มักเกิดขึ้นจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในบรรดาชนชั้นปกครองเกือบทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะอยู่ในแวดวงที่มีความคุ้นเคยกัน เห็นข้อบกพร่องและจุดอ่อนซึ่งกันและกันยิ่งกว่านั้น ในคติและความคิดในทางศาสนาซึ่งเชื่อในเรื่องบุญกรรม ก็เปิดช่องว่างให้กับการขัดแย้งที่มาจากบรรดาผู้ที่อยู๋ในชนชั้นปกครองด้วยกัน กล่าวคือ การสิ้นบุญสิ้นวาสนา ของพระมหากษัตริย์ หรือผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งนั้นถือว่าเนื่องมาจากกรรมเก่า ส่วนผู้ที่เข้ามาแทนที่นั้นคือผู้มีบุญมาแต่ชาติปางก่อนนั้นเอง

ความคิดความเชื่อเช่นนี้มักเป็นสิ่งที่ต่อต้านการสืบสันติวงศ์หรือการสืบทอดมรดกของความยิ่งใหญ่ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง พระมหากษัตริย์ถึงแม้ว่าจะมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เป็นพระจักรพรรดิราชก็ตามแต่ตามแนวความคิดทางพุทธศาสนานั้นก็เป็นเพียงสมมุติราชหรือสมมุติเทพ จะดำรงอยู่ได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับบุญกรรมของพระองค์เอง เมื่อสิ้นบุญไปแล้ว กษัตริย์องค์ใหม่ที่เข้ามาแทนที่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายหรือผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวดองด้วยก็ได้รับการยกย่องเสมอกัน โดยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยามักเปลี่ยนราชวงศ์อยู่เนืองๆ การกำหนดผู้ที่เป็นรัชทายาทเองก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะบ่อยครั้งผู้ที่เป็นรัชทายาทถูกแย่งชิงราชสมบัติ

ความคิดและความเชื่อถือในเรื่องผู้มีบุญนี้เป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะของบุคคลจากที่ต่ำไปที่สูงได้ เช่นจากการเป็นข้าทาสและไพร่ในชั้นของผู้ถูกปกครอง มาเป็นผู้ดีข้าราชการและขุนนางในระดับชั้นปกครอง นับเป็นสิ่งที่ชดเชยหรือรักษาดุลยภาพในเรื่องการยอมรับความเหลื่อมล้ำต่ำสูง อันเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องของบุญกรรมของสังคมโดทั่วไป

อย่างไรก็ตาม โดยความเป็นจริงแล้วบุคคลผู้ที่จะคิดว่าตนเป็นผู้มีบุญนั้น มักจะเกิดในกลุ่มของคนที่มีความรู้สึกเหลื่อมล้ำต่ำสูงเสมอ คนในกลุ่มนี้มักจะอยู่ในชนชั้นปกครอง หรือไม่ก็เป็นผู้ทีมีวิชาความรู้บวชเรียนรอบรู้วิทยาการต่าง ๆ หรือไม่ก็เป็นทั้งสองอย่างรวมกัน มีความใกล้ชิดและเข้าใจว่าบุคคลที่เป็นเจ้านายเป็นผู้นำนั้น เนื้อแท้ก็คือคนธรรมดานี่เอง ดังนั้นการแย่งชิงราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยามักเกิดจากเจ้านายที่เคยออกบวชเป็นชั้นพระราชาคณะอยู่บ่อยๆ เช่น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นต้น ความสำเร็จในการชิงราชย์หรือการแย่งความเป็นใหญ่ มักขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดระหว่างหัวหน้าผู้ก่อการกับกลุ่มผู้มีอำนาจเดิม คือผู้ที่อยู่ในฐานะสูง เช่น พระราชวงศ์หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มีโอกาสกระทำได้สำเร็จกว่าผู้ที่อยู่ในฐานะต่ำต้อย เช่นขุนนางตามหัวเมือง หรือผู้คงแก่เรียนในชนบท โดยเหตุนี้ การกบฏของพวกที่อยู่ตามหัวเมืองจึงมักเรียกว่า ผีบุญและประสบผลล้มเหลวเสมอ

ตามที่กล่าวมานี้ เมื่อสรุปแล้วก็อาจกล่าวได้ว่า คติธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครองอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เป็นเหตุให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายใน โดยส่วนรวม การขัดแย้งกันมักจะเกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจกันในบรรดาชนชั้นปกครองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นครั้งคราวไม่กระทบกระเทือนประชาชนเบื้องล่างเท่าใด

แต่ในขณะเดียวกัน พระพุทธศาสนาก็ยังมีส่วนผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมด้วย ดังจะเห็นได้จากพระราชกำหนดกฎหมาย รวมทั้งระบบศักดินาและพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องด้วยประเพณีคติความเชื่อในศาสนาพรหมณ์นั้น ล้วนเสริมสร้างความห่างเหินระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นพุทธมามกะนั้น ต้องบำเพ็ญพระราชกุศลและทะนุบำรุงพระศาสนา พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ก็ต้องมีผู้อุปถัมภ์ เพราะถึงแม้จะมีพระสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศศาสนาแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของทางธรรม ไม่อาจจัดการในด้านสถานที่ องค์กร และดำเนินงานได้ หน้าที่ดังกล่าวจึงตกเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ทรงสร้างวัดและจัดการในเรื่องความเป็นไปของคณะสงฆ์ ให้บรรดาขุนนาง ข้าราชการตลอดจนไพร่ฟ้าประชากรเอาเยี่ยงอย่าง ในมุมกลับ บรรดาวัดต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นนั้นนอกจากเป็นศูนย์รวมในทางสังคมขงชุมชนแล้ว ยังเป็นที่นำความมั่งคั่งพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนาง ผู้สร้าง และของประชาชนในชุมชนมาสะสมไว้ นับเป็นการปรับระดับความเป็นอยู่และรูปแบบของชีวิตไม่ให้แตกต่างกันจนเกินไป ยิ่งกว่านั้น การที่พระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนางมาร่วมประกอบพิธีในการทำบุญที่วัดตามฤดูกาลหรือตามกำหนดเวลาประจำปี และในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ก็นับเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายผู้นำและผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กัน นับเป็นการลดความเหินห่างทางสังคมที่มีอยู่

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ถ้ามองอย่างผิวเผินแล้วด้วยสายตาจากภายนอก หรือจากปัจจุบันย้อนเข้าไปในอดีต พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาก็เป็นเสมือนเทพเจ้า เป็นเจ้าชีวิตที่มีพระราชอำนาจเหนือผู้ใดในโลก แต่ถ้ามองดูพระองค์ในฐานะพุทธมามกะในสายตาของคนไทยในสมัยนั้น โดยเฉพาะจากชนชั้นที่ถูกปกครองโดยทั่วไปแล้ว พระมหากษัตริย์ก็คือองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม การคิดร้ายต่อพระมหาษัตริย์คือการมุ่งร้ายต่อพระศาสนา โดยเหตุนี้ พระราชปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ที่ทรงแสดงต่อประชาชนก็คือ ทรงประพฤติเป็นธรรมราชานั้นเอง เป็นพระธรรมราชาที่ต้องทรงอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของทศพิธราชธรรม การทะนุบำรุงพระศาสนาและอุปถัมภ์ศาสนาลัทธิอื่น ๆ นั้น คือสิ่งที่จรรโลงให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายใน ซึ่งยังผลไปถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจด้วย ถึงแม้มีการผลัดแผ่นดินผลัดราชวงศ์ อันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจกันในกลุ่มของชนชั้นผู้ปกครองอยู่บ่อย ๆ ตามที่มีระบุถึงในเอกสารพงศาวดารและจดหมายเหตุชาวต่างชาติก็ตาม ความรุ่งโรจน์ของพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่รัชการสมเด็จพระนเรศวรลงมา ขึ้นอยู่กับความั่นคงทางการเมืองของราชอาณาจักรที่ปลอดจากการคุกคามและรุกรานจากภายนอก อีกทั้งความสงบภายในที่ปราศจากการขัดแย้งจากเบื้องลางคือในระดับชนชั้นที่ถูกปกครอง แต่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการค้าขายกับต่างประเทศนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแย่งชิ่งอำนาจความเป็นใหญ่ทางการเมืองตลอดมาจนต้องเสียกรุงแก่พม่าในที่สุด ทั้ง ๆ ที่ในช่วงระยะเวลาก่อนเสียกรุงนั้น พระนครศรีอยุธยามีความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการยิ่งกว่ายุคใด ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาการของบ้านเมือง เป็นระยะเวลาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมดังต่อไปนี้

วัดใหญ่ชัยมงคล

ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร กรุงศรีอยุธยามีอานุภาพและมั่นคง แต่ก็ไม่ใคร่ได้มีการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นศิลปวัฒนธรรมให้เห็นเป็นประจักษ์ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงทำสงครามแผ่พระราชอาณาจักรอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่พอจะกล่าวได้ก็เป็นแต่เพียงการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ที่ทรุดโทรมลง วัดที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ก็คือ วัดเจ้าพญาไท เป็นวัดสำคัญมาแต่ก่อนสร้างพระนครศรีอยุธยามีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าวัดป่าแก้ว เป็นที่สถิตของสมเด็จพระวันรัตซึ่งเป็นพระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ทรงนิยมศรัทธาในพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีมาก เพราะทรงถือว่าเชี่ยวชาญทางวิปัสสนา แลเห็นเหตุการณ์ภายหน้า และให้คำปรึกษาแก่พระองค์ได้ดี โดยเฉพาะสมเด็จพระนเรศวรซึ่งทรงเป็นกษัตริย์นักรบกล่าวว่าทรงพอพระทัยคำอรรถาธิบายของสมเด็จพระวันรัตครั้งทูลขอพระราชทานอภัยโทษไว้ชีวิตพวกแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จในกองทัพไม่ทันคราวทรงทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราช ปล่อยให้พระองค์และสมเด็จพระเอกาทศรถตกอยู่ท่ามกลางราชศัตรู จึงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดป่าแก้วให้ใหญ่โต และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นมงคลนามและเป็นอนุสรณ์ในการกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะของพระองค์ เหตุนี้พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลจึงถือว่าเป็นพระมหาเจดีย์ที่สูงและใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา ชาวกรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นพระมหาเจดีย์ที่สร้างข่มเจดีย์ภูเขาทองซึ่งพม่าสร้างไว้ในสมัยเป็นเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดีด้วย พระเจดีย์ได้เป็นแบบอย่างให้แก่พระเจดีย์ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ ซึ่งทางราชการได้สร้างไว้ในบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นที่กระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี

หลังรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์ต่อมา บ้านเมืองสงบและเริ่มเป็นศูนย์กลางของการค้าขายนานาชาติ เป็นเวลาที่ต้องจัดระเบียบแบบแผนการปกครองและการบริหารทั้งส่วนกลางและส่วนหัวเมืองให้เหมาะสม รวมทั้งการจัดกรมกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการค้าขาย การเป็นเมืองท่า และแหล่งพักสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมจึงไม่ค่อยปรากฏอย่างแน่ชัด แต่ในขณะเดียวกัน ความวุ่นวายภายในอันเกิดจากการแข่งขันแย่งชิงอำนาจเริ่มส่อเค้าขึ้นตอนปลายรัชกาล มีผู้ยุยงว่าพระราชโอรสที่ทรงสภาปนาไว้ในตำแหน่งรัชทายาทคิดร้ายจนทำให้ได้รรับการตำหนิ และในที่สุดปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการเสวยยาพิษ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมาก และเมื่อสวรรคตแล้ว ราชสมบัติจึงตกอยู่กับเจ้าฟ้าศรีเสาภาคย์ซึ่งมีพระเนตรพิการ แต่ทรงครองราชย์ได้ไม่นานเท่าใด สมเด็จพระพิมลธรรมซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งบวชเป็นเจ้าคณะอยู่ ณ วัดระฆังก็ซ่องสุมผู้คนยกเข้ามาชิงราชย์ได้ ทรงพระนามว่าพระเจ้าทรงธรรม บ้านเมืองอยู่ในสภาพเรียบร้อย มีชาวต่างประเทศหลายชาติหลายภาษาเข้ามาทำสัญญาค้าขาย ทางกรุงศรีอยุธยาเองก็ส่งทูตไปเจริญไมตรียังต่างประเทศเช่นอักฤษและฮอลันดา

ในระยะนี้ กรุงศรีอยุธยาเริ่มกลายเป็นแหล่งที่พ่อค้านานาชาติพากกันมาตั้งหลักแหล่งและสร้างคลังสินค้า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือน วัด และโรงเรียน จนเป็นชุมชนของแต่ละชาติแต่ละภาษาขึ้นตามริมลำน้ำรอบๆ พระนครศรีอยุธยา ไม่ทรงรังเกียจเดียดฉันท์ในเรื่องศาสนา และทรงอุปถัมภ์โดยทั่วถึงกัน ชาวต่างประเทศที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มาที่สุดในระยะนี้เห็นจะได้แก่ญี่ปุ่น มีทั้งพ่อค้าและกองทหารอาสาญี่ปุ่นเกิดขึ้น จนในบางครั้งพวกญี่ปุ่นก็ก่อความยุ่งยากจนถึงต้องให้กำลังปราบปรามกันก็มี

ในด้านการศาสนา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงฟื้นฟูการเล่าเรียนของพระสงฆ์ทางฝ่ายคันถธุระ โปรดให้สร้างพระที่นั่งจอมทองขึ้น ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เสด็จออกเป็นประธานอ่านหนังสือของพระสงฆ์เป็นประจำ มีการติดต่อกับพระสงฆ์ทางลังกา ทำให้ทราบเรื่องรอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ก่อนแล้วแต่สมัยทวารวดีในเขตจังหวัดสระบุรี โปรดให้ค้นหาจนพบแล้วเสด็จไปนมัสการ โปรดให้สร้างวัดและพระมณฆปครอบ เป็นเหตุให้เกิดประเพณีการไหว้พระพุทธบาทกันในสมัยต่อมา

ภายหลังที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตแล้วก็เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นอีก จนทำให้พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงซึ่งสืบทอดมาแต่สมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาสิ้นสุดลง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งแต่เดิมเคยดำรงตำแห่งเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มีอำนาจ ทรงสร้างความเจริญและนำกรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ยุคใหม่ทั้งในด้านการเมือง การค้าขายติดต่อกับนานาชาติ และการสร้างศิลปวัฒนธรรมที่มีรูปแบบและเป็นแบบอย่างสืบต่อมาจนถึงสมัยหลังๆ

ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กรุงศรีอยุธยามั่งคั่งสมบูรณ์ บ้านเมืองเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวยุโรปที่เข้ามาทั้งที่เป็นพ่อค้าและนักการทูตเป็นจำนวนมาก ได้ทำการศึกษาและบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองไว้อย่างค่อนข้างละเอียด ภาพพจน์ของกรุงศรีอยุธยาในสายตาของชาวต่างประเทศที่จำลองออกมาเป็นแผนที่นั้น เป็นเกาะเมืองตั้งอยู่ท่ามกลางแม่น้ำล้อมรอบ มีป้อมปราการป้องกันแข็งแรง ภายในพระนครมีถนนและลำคลองที่ใช้ประโยชน์ทั้งการระบายน้ำและการคมนาคมตัดกันไปมา แบ่งผังเมืองออกเป็นเขตๆ เช่นเขตพระราชวัง เขตวัด เขตที่อยู่อาศัยของเจ้านาย เขตย่านการค้าต่าง ๆ ล้วนเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่มีระเบียบเรียบร้อย ริมลำแม่น้ำรอบ ๆ พระนคร มีวัด มีย่านที่อยู่อาศัยของชุมชนต่าง ๆ เช่น หมู่บ้านของพวกชาวฮอลันดา อังกฤษ ญี่ปุ่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ห่างจากแม่น้ำรอบเมืองออกไปมีแม่น้ำลำคลองขุดอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าได้ใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมตลอดทุกฤดู มีชุมชนใหญ่น้อยสลับด้วยวัดวาอารามอยู่ทั่วไปตามริมแม่น้ำลำคลอง พื้นที่ว่างเปล่าระหว่างชุมชนและแม่น้ำลำคลองก็คือไร่นาที่มองไปสุดลูกหูลูกตา โดยเหตุนี้ จึงมีการกล่าวถึงพระนครศรีอยุธยาว่าเป็นเมืองเวนิสตะวันออก เป็นเมืองที่มีความสวยงามอุดมสมบูรณ์ด้วยปราสาทราชวัง วัดวาอาราม ตึกรามบ้านช่อง

เอกสารภายในประเทศอันได้แก่ คำให้การของขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม ได้บรรยายให้เห็นภาพพจน์ของพระนครศรีอยุธยาอย่างละเอียด สอดคล้องกับตำแหน่งและซากโบราณสถานส่วนใหญ่ที่ยังคงเหลืออยู่ กล่าวถึงตำแหน่งและชื่อวัดสำคัญๆ พระราชวัง พระมหาปราสาททั้งชั้นนอกและชั้นใน ชื่อถนน แม่น้ำ ลำคลอง ย่านที่อยู่อาศัยของพ่อค้าประชาชน ย่านตลาด และสถานที่ต่าง ๆ ทั้งภายในและรอบนอกพระนครอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะย่านตลาดนั้น ระบุให้เห็นว่ามีทั้งตลาดน้ำและตลาดบกประเภทต่าง ๆ ตลอดจนย่านสินค้าและย่านที่ผลิตสินค้าตามตำบลต่างๆ ดังนี้

ตลาดน้ำ มีตลาดใหญ่ 4 ทิศรอบพระนคร ในตำแหน่งที่เป็นชุมทางคมนาคม ได้แก่

ตลาดน้ำบางกะจะ อยู่บริเวณป้อมเพชร บริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาและคูขื่อหน้าที่กลายมาเป็นแม่น้ำป่าสัก มารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงมาทางใต้ เป็นบริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร ตลาดนี้สำพันธ์กับชุมชนที่มีทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ

ตลาดปากคลองคูจาม อยู่ทางด้านใต้ของตัวเมือง บริเวณใต้วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของพวกอิสลาม มีพวกชวาและมลายูนำหมาก หวาย และสินค้าทางภาคใต้มาขาย

ตลาดคูไม้ร้อง อยู่บริเวณลำน้ำลพบุรี ซึ่งเป็นคลองเมืองทางด้านเหนือพระนคร เป็นที่รวมของผลิตผลที่มาจากทางเหนือ

ตลาดปากคลองวัดเดิม (วัดอโยธยา) อยู่ในบริเวณลำน้ำหันตราหรือลำน้ำแม่เบี้ย ซึ่งเป็นลำน้ำป่าสักสมัยเก่า

นอกจากนั้นยังมีตลาดน้ำย่อยๆ ในที่อื่น ๆ อีกตามแม่น้ำลำคลอง สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่ในท้องที่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ตลาดน้ำเหล่านี้มีทั้งประจำทุฤดูกาล และเกิดขึ้นในบางฤดูเช่นตอนหน้าน้ำเป็นต้น

ตลาดบก มี 2 ประเภท ได้แก่

ตลาดขายของสดเช้าเย็น มีอยู่หลาย ๆ ท้องที่ ทั้งภายในและนอกกำแพงเมือง เป็นแหล่งที่มีผู้นำของประเภทผัก ปลา ที่เป็นของสดมาขายทั้งเช้าและเย็น เป็นแหล่งที่ขายอาหารประจำวันให้แก่คนในชุมชนตามท้องที่

อีกประเภทหนึ่งเป็นตลาดขายของเฉพาะบางอย่าง กระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ มีทั้งขายเฉพาะเวลาเข้าเญ้นเช่นเดียวกันกับตลาดสด และที่ขายประจำ

แบบที่ขายเฉพาะเวลาเช้าเย็นนั้น พบตามย่านที่อยู่อาศัยภายในเมืองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อนับรวมกับตลาดสดแล้วมีกล่าวถึงเป็นจำนวน 38 แห่ง เช่น ตลาดเชิงสะพานช้าง เป็นตลาดขายปลาสด ตลาดหัวไผ่ สะพานแก้ว ขายของสดเช้าเย็น ตลาดป่าตะกั่ว ขายลูกแห เครื่องตะกั่ว ฝ้าย ด้ายขาว ด้ายแดง ตลาดหน้าวัดมหาธาตุ ขายเสื้อตะนาว เสื้อแขก เครื่องอัฐบริขาร ฝาบาตร เชิงบาตร ตาลปัตร ย่านในไก่ ขายเครื่องสำเภา ไหม แพ ทองเหลือง ถ้วยโถ ชาม เนื้อสุกร และปลาสด ตลาดย่านฉะไกรใหญ่ซื้อไม้ไผ่มาทำฝาเรือนหอขาย ขายผ้าสุรัต ผ้าขาวป่าน เป็นต้น

ส่วนตลาดประจำนั้น มีการค้าขายอยู่ตลอด มักเป็นตลาดที่สัมพันธ์กับชุมชนที่ทำการผลิตสิ่งของเฉพาะหรือไม่ก็เป็นชุมชนที่ทำหน้าที่ หรือมีอาชีพเป็นคนกลางซื้อของจากที่อื่น ๆ มากมาย มีอยู่ทั้งภายในเมืองและนอกเมือง โดยทั่วไปแล้ว ชุมชนที่ผลิตหรือรวมสินค้าไว้ขายเหล่านี้มักใช้คำว่าย่าน จึงมักพบคำว่าย่านนี้แทนตลาดได้ เช่น ภายในเมืองมี ย่านป่ามะพร้าว ขายมะพร้าวห้าว มะพร้าวเผา มะพร้าวอ่อน ย่านป่าผ้าเหลือง ขายผ้าไตร จีวร ผ่านป่าโทน ขายเรไร ปี่แก้ว หีบไม้อุโลกใส่ผ้า ช้างม้าศาลพระภูมิ ย่านป่าขนม ขายขนมชะมด ขนมกง ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปันนี ย่านป่าเตียบ ขาย ตะลุ่มพาน พานกำมะลอ พานตะลุ่ม เชี่ยนหมาก ย่านขันเงิน ขายขัน จอก ผอบ ตลับเงินและเครื่องถมยาดำ ชิ้นจับปิ้ง สายสะอิ้ง กำไล ย่านป่ายา ขายเครื่องเทศเครื่องยา ย่านป่าฟูก ขายที่นอน หมอน เบาะ ย่านวัดกะชี มีช่างทำพระพุทธรูปทองคำ นาก เงิน สำริด เป็นต้น รวมแล้วย่านชุมชนและตลาดที่ขายของประจำในกำแพงเมืองมีถึง 26 แห่งด้วยกัน

การมีตลาดและย่านชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตและขายสินค้าของสดและสิ่งของเฉพาะอย่าง ทั้งที่จำเป็นและเป็นของฟุ่มเฟือยเป็นจำนวนมากนี้ แสดงให้เห็นว่าภายในเมืองและบริเวณรอบเมืองนั้น มีบุคคลที่มีอาชีพค้าขายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ที่เป็นคนพื้นเมืองและคนต่างถิ่นทั้งคนที่มีฐานะและคนจน การค้าขายของคนจนหรือคนมีฐานะไม่ดีนั้น ส่วนใหญ่คงมาขายในตลาดสด หรือไม่ก็ตลาดที่จัดให้มีขึ้นเป็นเวลาส่วนคนที่มีฐานะนั้นจะขายประจำในบริเวณที่อยู่อาศัย 

ย่านที่เป็นตลาดขายประจำภายในเมืองที่สำคัญคงจะได้แก่ย่านในไก่ซึ่งเป็นแหล่งที่มีตึกรามบ้านช่องและร้านค้าของคนจีนสองฟากถนน มีของมากมายหลายชนิดขาย อีกทั้งมีตลาดย่อย ๆ ขายของเป็นเวลารวมอยู่ด้วย สภาพของย่านในไก่นั้นคงเป็นไชน่าทาวน์ขนาดเล็ก ๆ ภายในพระนครศรีอยุธยานั้นเอง

นอกกำแพงเมืองออกไปก็มีตลาดย่านที่ผลิตและขายของประจำอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำอีก 30 แห่ง เช่นตลาดลาวเหนือวัดโคหาสวรรค์ ตลาดป่าปลา ตลาดบ้านบาตรวัดพิชัย ตลาดหลังตึกวิลันดา ตลาดวัดสิงห์บ้านญี่ปุ่น ตลาดปูนวัดเขียว ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนสะคอนชัย ตลาดเรือจ้างวัดธรรมา ตลาดวัดขุนญวนศาลาปูน ตลาดป่าเหล็ก ตลาดวัดโรงฆ้อง ตลาดวัดครุฑ เป็นต้น

| ย้อนกลับ | หน้าแรก | หน้าต่อไป |