เวนิสตะวันออก 2
นอกจากนี้ คำให้การของขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรมและเอกสารอื่น ๆ ตลอดจนหลักฐานทางโบราณคดี ยังแสดงให้เป็นถึงแหล่งที่มาของสินค้าจากหัวเมือง และแหล่งที่ผลิตสินค้าในบริเวณรอบ ๆ พระนครศรีอยุธยาอีกหลายแห่ง
สินค้าที่มาจากหัวเมืองนั้นได้แก่ พวกพ่อค้าแม่ค้าเมืองพิษณุโลก บรรทุกน้ำอ้อย ยาสูบ ขี้ผึ้ง ล่องเรือมาขายแถววัดกล้วยปากคลองข้าวสารและวัดเกาะแก้ว พ่อค้าแม่ค้าเมืองอ่างทอง ลพบุรี อินทร์บุรี พรหมบุรี สรรค์บุรี สุพรรณบุรี นำข้าวเปลือกบรรทุกเรือมาจอดขายบริเวณวัดสมอ วัดขนุน วัดขนาน พ่อค้าแม่ค้าเมืองตาก เพชรบูรณ์ บรรทุกสินค้าพวกครั่ง เหล็กหางกุ้ง เหล็กน้ำพี้ ไต้ หวาย นำมันยาง ยาสูบ เขาหนัง หนังงา มาขายแถวปากคลองสวนพลูและหน้าวัดพนัญเชิง พ่อค้าแม่ค้าชาวมอญ บรรทุกมะพร้าว เกลือ มาตั้งแหล่งขายแถวบริเวณคลองวัดเกาะแก้ว พ่อค้าจากเมืองเพชรบุรี และบ้านแหลม นำสินค้าพวกกะปิ ปูเค็ม ปลากะพง ปลาทู ปลากระเบน ปลากุเลา มาขายแถวท้ายวัดพนัญเชิง พวกพ่อค้าจีน แขกจาม นำน้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด สาคูเม็ดเล็กเม็ดใหญ่ กำมะถัน จันทน์แดง หลาย มาจอดเรือขายแถวตลาดน้ำบางกะจะ พวกพ่อค้าจากเมืองนครราชสีมา พระตะบอง น้ำสินค้าประเภท น้ำรัก ขี้ผึ้ง ปีกนก ผ้าสายบัว ผ้าตาราง หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ เอ็นเนื้อ เนื้อแผ่น ครั่งไหม กำยาน ดีบุก หนังงา ลูกเร่ง ลูกกระวาน และของป่าอื่น ๆ มาขายที่บ้านศาลาท่าเกวียน
สำหรับแหล่งที่ผลิตสินค้าในเขตเมืองพระนครศรีอยุธยานั้นมีอยู่หลายบ้านหลายตำบลได้แก่ บ้านสัมพะนี มีอาชีพตีสกัดน้ำมันงา น้ำมันลูกกะเบา น้ำมันสำโรง น้ำมันถั่ว ทำฝาเรือนไม้ไผ่สำหรับเรือนอยู่และเรือนหอขาย มีการหล่อเหล็ก ทำครกสาก และตีมีดพร้าขาย ย่านตำบลบ้านหม้อ ปั้นหม้อข้าว หม้อแกง กระทะ เตาขนมครก เตาไป ตะคั่นเชิงไฟ บาตรดิน กระโถนดิน ย่านตำบลบ้านกระเบื้อง ทำกระเบื้องตัวผู้ตัวเมียขาย กระเบื้องเกล็ดเตา กระเบื้องลูกฟูก ย่านตำบลบ้านศาลาปูน ทำปูนแดงปูนขาวขาย ย่านบ้านเขาหลวง เป็นคนจีน ตั้งโรงกลั่นสุราขาย บ้านเกาะขาด หล่อเต้าปูน ผอบยา ไม้ควักปูนเป็นเครื่องทองเหลือง บ้านวัดครุฑ ปั้นโอ่งนางเลิ้งสำหรับใส่น้ำขาย บ้าริมวัดธรณี เลื่อยกระดานไม้งิ้ว ไม้อุโลก บ้านริมวัดพร้าว มีพวกพราหมณ์และคนไทยทำแป้งหอม น้ำมันหอม กระแจะจันทร์ น้ำอบ ธูป รูปกระดาษ และเครื่องหอมขาย บ้านท่าโขลง เป็นแหล่งตั้งเตาตีเหล็กตะปู ตะปลิงขาย บ้านคนที ปั้นกระโถนดิน ที่สำหรับปลูกต้นไม้ ตะคั่นเชิงไฟ บั้นช้าง ม้าตุ๊กตาต่างๆ ขาย บ้านนางเลิ้งบ้านหอแปลพระราชสาส์น ทำสมุดและสมุดข่อย บ้านคลองธนู ขายไม้ไผ่ป่า ไม้ไผ่สีสุก ไม้ไผ่รวก ไม้รอด บ้านริมวัดพิชัย ทำตะลุ่มพานแว่นพังขาย บ้านนางเอียน เลื่อยไม้สักทำฝาเรือน ฝากกระดาน ปรุงเรือน บ้านน้ำวน เป็นบ้านคนจีนตั้งโรงตีเหล็ก ทำขวานหัวเหล็ก หัวป้าน และขวานปลูขาย
การค้าขายในกรุงศรีอยุธยามี 2 ระดับ คือ
ระดับภายใน เป็นการค้าขายเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและของจำเป็นกันเองระหว่างชาวบ้านชาวเมืองหรือชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ เพื่อการดำรงชีวิตประจำวันภายในสังคม
ในลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางที่มีสรรพสินค้านานาชนิดตามตลาดในย่านต่าง ๆ ตอบสนองความต้องการของประชาชนพ่อค้าวาณิชทั้งใกล้และไกล บรรดาสินค้าที่มีอยู่และขายออกไปเหล่านั้น มีพอเพียงที่จะสร้างความแตกต่างในรูปแบบของการดำรงชีวิตของแต่ละกลุ่มแต่ละชั้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นปกครองผู้ปกครอง และพวกที่เป็นพ่อค้าต่างชาติกับคนไทยโดยทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครองคงสร้างเป็นบ้านเรือนด้วยไม้จริง เช่นไม้สัก เพราะมีหลักฐานว่ามีตลาดขายฝาและเครื่องปรุงเรือนไม้สักอยู่ แต่ในขฯะเดียวกันก็มีย่านตลาดที่ขายฝาไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเรือนอาศัยและเรือนหอให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป
ความแตกต่างในเรื่องลักษณะที่อยู่อาศัยนี้ สอดคล้องกับบรรดาจดหมายเหตุที่ชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวยุโรปได้บันทึกไว้ พวกที่เป็นพ่อค้าชาวจีนและชาวผรั่งเป็นจำนวนมาก มีที่อยู่อาศัยสร้างเป็นตึกและร้านค้าก่อด้วยอิฐถือปูน ยิ่งกว่านั้น บรรดาชนชั้นปกครองและคนเรวยมักมีเครื่องใช้ไม้สอยและเครื่องประดับบ้านประดับกายที่มีราคา บางอย่างเป็นของที่มาจากต่างประเทศ เช่นผ้ากำมะหยี่ ผ้าแพร ฉากญี่ปุ่น เครื่องถ้วยชามเคลือบของจีน ญวน และญี่ปุ่น เครื่องประดับมุก เครื่องถม เครื่องเงิน และเครื่องทอง เป็นต้น นับได้ว่าบรรดาวัตถุที่มีการซื้อขายกันเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในรูปแบบของชีวิตระหว่างชนต่างชั้นและต่างกลุ่มกันพอสมควรทีเดียว
ส่วนการค้าขายอีกระดับหนึ่ง เป็นการค้ากับต่างชาติภายนอก พวกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นที่ถูกปกครองไม่มีสิทธิที่จะทำการค้าขายกับชาวต่างประเทศได้ เพราะเป็นเรื่องการผูกขาดทางการค้าของรัฐบาล ผู้ที่จะมีส่วนได้ผลประโยชน์ในการค้าดังกล่าวนี้ก็คือ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนางข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
การค้าขายกับต่างประเทศเป็นระบบผูกขาดที่เรียกว่าระบบ พระคลังสินค้า รัฐบาลสร้างพระคลังสินค้าภายในประเทศที่ได้จากการซื้อจากประชาชน และการเก็บส่วยมาขายให้กับพ่อค้าชาวต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ซื้อสินค้าจากพ่อค้าต่างประเทศมาขายให้ประชาชนอีกทีหนึ่ง
นอกจากค้าขายกับพ่อค้าต่างประเทศที่เข้ามาในเมืองไทยแล้ว ยังจัดส่งสำเภานำสินค้าไปขายกับเมืองท่าและบ้านเมืองภายนอกแล้ว ซื้อสินค้ากลับเข้าในประเทศ สินค้าภายในประเทศบางอย่างโดยเฉพาะของป่าที่หายาก รัฐบาลจะกำหนดไม่ให้ประชาชนค้าขาย จะต้องนำมาขายให้กับพระคลังสินค้าแต่เพียงแห่งเดียว ในทำนองเดียวกัน สินค้าเข้าบางชนิดที่ถือว่าเป็นของสำคัญไม่ต้องการให้ประชาชนทั่วไปมีครอบครองก็จะไม่ขายให้ แต่จะเก็บไว้เป็นของสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และขุนนางสำคัญ ๆ เท่านั้น
การผูกขาดสินค้าของพระคลังสินค้าเป็นประโยชน์ต่อทางรัฐบาลเพราะสามารถควบคุมการค้าต่างประเทศได้ใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้ชาวต่างประเทศชาติใดมีอิทธิพลทางการค้ามากจนมีผลกระทบกระเทือนกันเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ยิ่งกว่านั้น ระบบผูกขาดนี้ยังทำรายได้ให้แก่บ้านเมืองเป็นอันมาก เพราะพระคลังสินค้าเป็นผู้ขายเอง ชาวต่างชาติไม่สามารถต่อรองราคาได้ถนัด จะเรียกร้องแพงขึ้นบ้างก็ไม่ขัดข้องเพราะซื้อกับพ่อค้าคนอื่นไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อพ่อค้าชาวต่างประเทศนำสินค้าเข้ามา ทางพระคลังสินค้าจะเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการเอาไว้ก่อน ตั้งราคาซื้อตามใจชอบ ในการชำระเงินค่าสินค้า บางครั้งก็เอาสินค้าอย่างอื่นมาแลกเปลี่ยนแทน
สินค้าสำคัญที่เป็นสินค้าออกของกรุงศรีอยุธยาคือ ของป่า และ ข้าว เป็นสิ่งที่ทำให้มีรายได้ดี รัฐบาลพยายามเอาใจให้พ่อค้าต่างชาติมาค้าขายด้วย มีทั้งส่งทูตไปยังประเทศต่าง ๆ ชักชวนให้เข้ามาตั้งสถานีการค้าในเมืองไทย และให้สิทธิพิเศษในการซึ้อสินค้าหายากบางอย่างแต่ผู้เดียว เช่นให้สิทธิพิเศษแก่พวกฮอลันดาในการซื้อหนังสัตว์ ในบางครั้งก็มีการลดหย่อนภาษีหรืองดเว้นการเก็บภาษีศุลกากรและภาษีอื่น ๆ ในกับพ่อค้าชาวต่างประเทศบางกลุ่มที่เข้ามาค้าขายในเมืองพระนครศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตาม การค้าขายและการติดต่อกับชาวต่างประเทศนั้นก็มีผลไปถึงเรื่องการเมืองด้วย ชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวยุโรปที่เข้ามาค้าขายนั้น วิเคราะห์ได้เป็น 2 พวก
พวกแรก พวก โปตุเกส สเปน และฝรั่งเศส นับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก มีนโยบายที่เข้ามาทั้งทำการค้าและเผยแพร่ศาสนาด้วย พยายามอย่างยิ่งที่จะให้พระมหากษัตริย์ ขุนนาง ข้าราชการและราษฎร เปลี่ยนมาเป็นพวกคาทอลิก
ส่วนพวกหลัง ได้แก่ ฮอลันดา และอังกฤษ เป็นพวกโปรแตสแตนต์ ไม่สนใจเรื่องการเผยแพร่ศาสนา แต่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ในทางการค้าเพียงอย่างเดียว
ทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ขัดแย้งและแย่งขันกันในเรื่องการค้าขายและการเมืองในบ้านเมืองที่ต้นมาเกียวข้องด้วย โดยเฉพาะกลุ่มแรกที่มีความมุ่งหมายในการแพร่ศาสนานั้น มีส่วนเข้าไปถึงการยึดครองดินแดนและบ้านเมืองให้เป็นอาณานิคมของประเทศตนด้วย
ยิ่งกว่านั้น พวกชาวยุโรปเหล่านี้มีอำนาจทางทะเล มีกองเรือรบ มีอาวุธยุทธภัณฑ์ และความเจริญในด้านเทคโนโลยีที่เหนือกว่าบรรดาบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้น ทางกรุงศรีอยุธยาจึงมีความระมัดระวังในการติดต่อกับชาวยุโรปเหล่านี้ มีนโยบายที่ผ่อนหนักผ่อนเบา ใช้ประโยชน์ในการขัดแย้งกันระหว่างชาวยุโรปกลุ่มต่าง ๆ ให้เป็นผลดีแกการค้าขาย และปลอดภัยทางการเมืองของราชอาณาจักรด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในระยะแรกตั้งแต่สมันก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรุงศรีอยุธยาและมีอิทธิพลการค้าทางทะเลเรื่อยมา ในบางครั้งไม่พอใจในการค้าผูกขาดของรัฐบาลไทยเกิดการเรียกร้องสิทธิพิเศษและขัดแย้งกันบ้าง พอมีพวกฮอลันดาเข้ามาเกี่ยวข้อง ทางกรุงศรีอยุธยาก็สร้างไมตรีให้สิทธิในการผูกขาดซื้อสินค้าบางอย่างกับฮอสันดา และพยายามเอาอิทธิพลของฮอลันดาถ่วงดุลกันการก้าวร้าวของพวกโปรตุเกส พอมาถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พวกฮอลันดามีการค้ารุ่งเรืองและมีอิทธิพลมาก ในบางครั้งก็แสดงอาการบีบคั้นไทยทำให้เกิดความไม่พอใจ ทางกรุงศรียุธยาก็หันไปเอาใจอังกฤษและฝรั่งเศสโดยเฉพาะกับฝรั่งเศสนั้น มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นทั้งในด้านการค้า และการเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
นอกเหนือไปจากการค้าขายที่ทำให้มีรายได้เข้ารัฐบาลเป็นอย่างมากแล้ว การเกี่ยวข้องกับต่างชาติโดยเฉพาะยุโรปมีผลดีไปถึงการรับความเจริญในด้านเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้เกิดความก้าวหน้าแก่บ้านเมืองในหลาย ๆ ด้าน
ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร กรุงศรีอยุธยาติดต่อกับโปรตุเกสได้รับความรู้ในการสร้างป้อมปราการ ตลอดจนการใช้อาวุธปืนและตำรับตำราในการรบพุ่ง ทำให้ลักษณะบ้านเมืองแตกต่างไปจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ๆ แต่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถและพระเจ้าทรงธรรมลงมา เทคโนโลยีและวิทยาการต่าง ๆ ที่เข้ามาพร้อมกับชาวยุโรปหลายชาติหลายภาษานั้นมีมาก จนทำให้กรุงศรีอยูยาเข้าสู่ยุคใหม่ในทางศิลปะและวิทยาการอย่างแท้จริง เห็นได้จากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นับแต่กำแพงเมือง ป้อมปราการ ปราสาทราชวัง ถนน สะพาน คูคลองระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำ การประปา และการตกแต่งสวนแบบฝรั่งที่มีน้ำพุ เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลงมา มีพัฒนาการในด้านการก่อสร้างสถาปัตยกรรมในด้านปราสาทราชวังอันเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนกิจกรรมที่เป็นสาธารณะประโยชน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แตกต่างไปจากยุคต้น ๆ ซึ่งการสร้างสิ่งถาวรนั้นมักมุ่งไปในเรื่องทางศาสนาเป็นใหญ่
ความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในด้านศิลปกรรมและความก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ จนเป็นราชธานีที่ได้รับสมญาว่าเมือง เวนิสตะวันออกนั้นมีที่มาจากการที่บ้านเมืองร่ำรวย ไม่มีเรื่องเดือดร้อนในความอดอยากของประชาชน และพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ที่จะสร้างราชธานีให้รุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางอารยธรรมที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เพราะฉะนั้น รายได้ของประเทศจึงหนักไปในการใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้างเพื่อการนี้ นอกจากภายในพระนครศรีอยุธยาแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงท้องถิ่น และภูมิภาคอีกด้วย โดยเฉพาะนอกเขตกรุงศรีอยุธยาออกไปนั้นส่วนมากเป็นเรื่องของการสร้างวัดวาอารามและการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่า ๆ ที่เคยมีมาก่อน นอกเหนือไปจากการสร้างก็เป็นเรื่องของการมีพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับพระศาสนา และพระมหากษัตริย์ การปกครอง และระบบความเชื่ออื่น ๆ โดยเฉพาะประเพณีการเสด็จพยุหยาตราทั้งทางน้ำและทางบกไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี มีการสร้างเรือพระที่นั่งทั้งเรื่อกิ่งและเรือชัยเป็นรูปสัตว์และรูปภาพในวรรณคดี เป็นขบวนเรือที่สวยงามซึ่งยังคงสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ด้วยการสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ สร้างพระราชรถที่อันเชิญพระบรมศพและพระโกศทองเป็นต้น
การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยดังกล่าวนี้ ถ้ามองด้วยสายตาปัจจุบัน ก็จะเป็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองและไร้ประโยชน์ แต่ถ้าพยายามทำความเข้าใจและโลกทัศน์ของคนในสังคมอยุธยาสมัยนั้นซึ่งสะท้อนออกจากเรื่องราวในตำนาน พงศาวดาร วรรณกรรม และจดหมายเหตุชาวต่างประเทศแล้ว จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่คนในยุคนั้นชื่นชมกัน
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ รายได้ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นมีมากถ้าไม่นำไปใช้ในการนี้แล้วจะไปทำอะไร เพราะบ้านเมืองในขณะนั้นปลอดภัยจากการรุกรานของข้าศึกศัตรู มีความสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ ไม่เป็นที่อดอยากแก่ราษฎร
สังคมไทยในอยุธยาก็เหมือกับสังคมอีกหลาย ๆ สังคมในยุคนั้น ที่ไม่มีความคิดและค่านิยมที่เกี่ยวการสร้างอะไรต่าง ๆ เพื่อตนเอง (Individualism) การจะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวยและมีเกียรติยศนั้น ไม่ได้หมายถึงการมีคฤหาสน์ที่โอ่อ่า ครอบครองที่ดิน มีข้าทาสบริวารมากมายเช่นทุกวันนี้ หากอยู่ที่การมีหน้ามีตาของบ้านเมืองและอาณาจักรเป็นสำคัญ
ในสมัยนั้นไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างเช่นทุกวันนี้ ทุกพื้นที่เป็นของพระมหากษัตริย์ซึ่งได้รับพระราชทานให้ทุกคนได้มีที่อยู่อาศัยและทำมาหากินสืบมาถึงลูกหลานได้ สิทธิในการครอบครองที่ดินมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตำแหน่งชั้นและศักดินา เป็นสิ่งที่ควบคุมความประพฤติของเจ้านาย ขุนนาง และข้าราชการอยู่แล้ว ทำให้การมีหน้าตาและมีเกียรติยศของแต่บุคคลมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้พระมหากษัตริย์และเจ้านายพอพระทัย การได้พระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์นั้น นอกจากได้รับพระราชทานเครื่องแสดงฐานะและเกียรติยศ เช่น มีสิทธิ์นั่งคานหาม นั่งเรืองมีประทุน มีเชี่ยนหมาก พานทอง ตลอดจนเสื้อผ้าที่แสดงตำแหน่งยศ เป็นเจ้าขุนมูลนายที่มีไพร่รับใช้และทำงานให้นอกเหนือไปจากข้าทาสที่มีอยู่แล้ว ในสายตาของคนทั่วไป ขุนนางข้าราชการคนใดที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ดีมีอำนาจบารมีนั้น อยู่ที่การเป็นคนใจบุญ โอบอ้อมอารี เห็นได้จากการทำบุญสร้างวัดวาอาราม การชุบเลี้ยงไพร่และทาสหญิงชายให้มีความสุข
กฎเกณฑ์และค่านิยมทางสังคมที่ควบคุมความประพฤติของบรรดาเจ้านาย ขุนนาง และข้าราชการซึ่งเป็นชนชั้นปกครองดังกล่าวนี้ มีผลสะท้อนไปยังชีวิตความเป็นอยู่ของพวกไพร่ข้าทาสที่เป็นชนชั้นที่ถูกปกครองด้วย เพราะได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่จากบรรดาเจ้าขุนมูลนาย
จริงอยู่ที่มีการขูดรีดแรงงานข้าทาสและไพร่ดังมีการกล่าวถึงในเอกสารต่าง ๆ ในยุคนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกหนทุกแห่งและทุกเวลาโดยทั่วไป เพราะระบบสังคมแบบนี้ดำรงสืบต่อมาอีกนานจนหมดไปในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแสดงว่าจะต้องมีความดีและความเหมาะสมอยู่พอสมควรจึงดำรงอยู่ได้
ถ้าพิจารณาโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจในอีกแง่มุมหนึ่งแล้วจะเห็นว่า พวกไพร่หรือประชาชนธรรมดานั้น มีความเป็นอยู่อย่างค้อนข้างสบาย อาชีพหลักคือการเป็นชาวนาและชาวสวน พืชผลที่ผลิตได้นั้น นอกจากเพื่อกินอยู่ในครอบคัวแล้ว ก็มีส่วนเกินเพียงพอแก่การขายเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราหรือสิ่งของ และเสียเป็นค่าภาษีอากรแก่รัฐ
การมีที่ทำกินและสภาพดินฟ้าอากาศที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เมื่อถึงฤดูนั้น ไม่ทำให้ประชาชนเหล่านี้เดือดร้อนจนถึงต้องมีการแสวงหาหรือคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยให้การผลิตดีขึ้น เมื่อถึงฤดูกาลในปีหนึ่งก็ทำการเพาะปลูกเสียที หลังจากนั้นก็อยู่ว่าง ๆ หลายเดือน สิ่งที่จะต้องตอบสนองรัฐนอกเหนือจากการเสียภาษีอากรแล้ว ก็มีเพียงการเข้ารับราชการเป็นไพร่สมหรือไพร่หลวงในช่วงเวลาหนึ่งของปีการเข้ารับราชการนั้น ทำให้มีความสัมพันธ์กับเจ้าขุนมูลนายในลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกัน เกิดความเคยชินต่อระบบการอุปถัมภ์ เป็นคนของเจ้านายคนโน้นคนนี้สืบมาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ บางครั้งความสะดวกสบายที่ได้รับจากการเป็นไพร่นั้นก็ทำให้คนไม่นึกถึงความเป็นอิสระกัน เพราะปรากฏว่าไพร่ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นล้มละลายกลายเป็นข้าทาสไปก็มาก ยิ่งเป็นข้าทาสก็ยิ่งไม่ต้องกังวลเรื่องอาชีพ ครอบครัวของเจ้านายขุนนางไพร่ร่ำรวยมีข้าทาสมาก พวกบริวารเหล่านั้นก็สบายเพราะมีแรงงานเหลือเฟือเมื่อเทียบกับปริมาณงาน อาจจะเป็นเช่นนี้กระมัง เมื่อมีการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น พวกทาสเป็นจำนวนมากไม่อยากเป็นอิสระปลดแอกตัวเองออกจากเจ้าขุนมูลนาย
การที่ไพร่ฟ้าประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำสวนทำนาและรับราชการนั้น ทำให้อาชีพเฉพาะอื่นๆ เป็นของชนต่างชาติต่างศาสนาและบรรดาลูกหลานของคนเหล่านั้นไป ซึ่งเห็นได้สองระดับ
ระดับทั่วไป ได้แก่บรรดาพวกช่างฝีมือและพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป เช่น บางหมู่บ้านหรือย่านที่ทำการผลิตเครื่องใช้ไม้สอย การตีเหล็กตัดมีด และการปั้นหม้อนั้น มักเป็นพวกมอญหรือลาวที่อพยพลี้ภัยเข้ามาหลังถูกกวาดต้อนเข้ามา พวกแขกที่นับถืออิสลามเป็นพวกพ่อค้าเนื้อสัตว์พวกคนจีนเลี้ยงสุกรและทำการค้าขาย
อีกระดับหนึ่งก็คือบรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการหรือสัมพันธ์กับทางราชการ จะมีบทบาทในฐานะผู้ชำนาญการหรือผู้ดำเนินการในกิจกรรมบางอย่างของรัฐ พวกนี้มีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าพวกแรกเพราะมักได้รับตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ จัดอยู่ในระบบชนชั้นปกครองได้ ตัวอย่างเช่น คนจีน คนญี่ปุ่น และฝรั่งที่มาทำหน้าที่เกี่ยวกับการค้าให้แก่รัฐบาล เป็นต้น พวกนี้มีความมั่งคั่ง และถ้าหากอยู่เมืองไทยเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ถ่ายเททรัพย์สมบัติกลับไปบ้านเมืองตนได้อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ไม่มีชนชั้นกลางนั้น ก็เพราะบุคคลเหล่านี้แฝงอยู่กับชนชั้นปกครองนั่นเอง