เวนิสตะวันออก (3)

เวนิสตะวันออก 3

วามรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจนถึงสมัยเสียกรุงแก่พม่านั้น แบ่งออกได้เป็น 2 สมัยตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง สมัยแรก ตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนสมัยหลัง ตั้งแต่สมเด็จพระเพทราชาลงมาถึงสมัยเสียกรุงในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์

ตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นการเริ่มต้นศิลปวัฒนธรรมยุคใหม่ของพระนครศรีอยุธยา ที่มีพัฒนาการสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

ความแตกต่างระหว่างสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ นั้นอยู่ที่ว่า พระองค์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในราชสมบัติ หากได้มาด้วยการช่วงชิงมาจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชและพระศรีศิลป เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วจึงต้องกระทำบางอย่างให้เป็นที่ยอมรับแก่คนทั้งหลายในสังคม ในขณะเดียวกัน โครงสร้างทางสังคมของบ้านเมืองก็ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ ๆ ที่มีทั้งชาวต่างประเทศที่เป็นพวกพ่อค้า และพวกที่กวาดต้อนเป็นเชลยศึกเข้ามาเป็นประชาชนอีกมากมาย ลักษณะค่านิยมและความรู้สึกนึกคิดจึงแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนเสียกรุงแทบทั้งสิ้น

ประการที่สำคัญทางการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศได้เพิ่มความมั่งคั่ง ความเจริญ และความต้องการทางวัตถุให้แก่ชาวอยุธยาเป็นอย่างมาก เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พระเจ้าปราสาททองจึงไม่ทรงเน้นการปฏิบัติพระองค์เป็นพระธรรมราชาอย่างเช่นกษัตริย์องค์ก่อน ๆ เช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและพระเจ้าทรงธรรมเป็นอาทิ หากทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์คือพระจักรพรรดิราชที่ทรงพระราชอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดินไทย และประเทศใกล้เคียง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นจึงมีทั้งทางโลกและทางธรรม แต่ว่ามักจะเน้นในการแสดงออกทางวัตถุ โดยเฉพาะในการสร้างจักรวาลใหม่เพื่อให้เกิดอำนาจและสิทธิธรรมขึ้นแก่พระองค์นั้น จำเป็นต้องหันไปศึกษารื้อฟื้นอดีตขึ้นมาปรุงแต่งเสียใหม่ สิ่งที่พอเห็นได้ชัดเจนจากหลักฐานทางเอกสารโบราณวัตถุในขณะนั้น ได้แก่

  1. การสร้างวัดและพระมหาปราสาท
  2. ฟื้นฟูและสร้างพระราชพิธีทางระบบความเชื่อที่เกี่ยวกับการเป็นพระจักรพรรดิราช

เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์นั้น พระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า มีพระราชพิธีปราบดาภิเษกอย่างเอิกเกริก มีทั้งประเพณีพุทธและพราหมณ์ ณ พระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาท ทรงใช้พระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง การก่อสร้างสิ่งแรกที่พระองค์โปรดให้ทำก็คือ การสร้างวัดขึ้นที่บริเวณบ้านพักของพระราชมารดา "พระเจ้าอยู่หัวให้สถาปนาสร้างพระมหาธาตุเจดีย์มีพระระเบียงรอบ พระระเบียงนั้นกระทำเป็นเมรุทิศเมรุรายวันรจนา และกอปรด้วยพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ และสร้างกุฏิ เจ้าอธิการนั้นถวายพระนามชื่อพระอชิตเถร ราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี ทรงพระราโชทิศถวายนิตยภัติและกัลปนาเป็นนิรันดรมิได้ขาด" จะเห็นได้ว่า วัดไชยวัฒนารามที่ทรงสร้างขึ้นนี้ สร้างได้อย่างมีความหมายมาก

วัดไชยวัฒนาราม

ประการแรก สร้างในที่เคยเป็นบ้านพักของพระราชมารดา และเพื่อให้เป็นที่พำนักของพระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี

สิ่งที่หน้าสังเกตก็คือ พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั้นทรงมีความสัมพันธ์กับพระราชาคณะทางอรัญวาสีมากกว่าคามวาสี เพราะพระสงฆ์ฝ่ายนี้มีอำนาจและอิทธิพลต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการนับถือศาสนาพุทธของคนไทยที่เน้นในเรือง วิปัสสนาธุระ เรื่องโชคลาง และอภินิหารมากกว่าพระธรรมคัมภีร์ทางพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น การอุปถัมภ์พระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีโดยเฉพาะพระราชาคณะจึงมีความหมายเป็นอย่างมาก

ลักษณะแบบแผนของวัดไชยวัฒนารามที่แตกต่างไปจากวัดอื่นๆ ในกรุงศรีอยุธยาที่สร้างมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถคือ ได้หันกลับไปสร้างพระปรางค์เป็นพระสถูปประธาน มีเจดีย์ทำเป็นเมรุรายและเมรุทิศเช่นเดียวกับการสร้างวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่นวัดมหาธาตุและวัดพระราม คติการสร้างวัดดังกล่าวรวมทั้งการสร้างพระระเบียงรอบนี้คือ การสร้างเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักรวาลเป็นแบบอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากปราสาทขอม แต่ก็มีการผสมผสานกับศิลปะในขณะนั้นจนมีลัษณะเป็นตัวของตัวเองพอสมควร กล่าวคือ ถึงแม้ว่าพระสถูปองค์กลางซึ่งเป็นพระปรางค์นั้นจะเน้นในเรื่องศิลปะแบบขอมอยู่มากก็ตาม แต่พระเจดีย์ที่เป็นเมรุทิศนั้นมีลักษณะ

วัดไชยวัฒนาราม

เป็นเจดีย์ปราสาทที่ปรุงแต่งเป็นรูปเฉพาะในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองอย่างแท้จริง

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในเมรุทิศเป็นพระทรงเครื่องสร้างด้วยปูนปั้น มีขนาดใหญ่ ดูสำคัญกว่าพระพุทธรูปปูนปั้นองค์อื่นๆ ที่มีขนาดเล็กรายรอบอยู่พระระเบียงคด

การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องให้มีลักษณะเด่นเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงพระราชประสงค์ของพระเจ้าปราสาททองอย่างแท้จริงว่าได้ทรงนำคติในเรื่องพระพุทธราชาเข้ามาเสริมพระราชอำนาจของพระองค์ พระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นประเพณีทางลัทธิมหายาน ซึ่งแสดงการเป็นจักรพรรดิของโลกของพระพุทธเจ้า นิยมสร้างกันมากในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป เพราะฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าพระเจ้าปราสาททองทรงฟื้นฟูประเพณีการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องขึ้นมาใหม่ให้แก่พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในยุคหลัง ๆ ลงมา จนกลายเป็นประเพณีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปทรงเครื่องนี้คงมุ่งให้เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ด้วย ดังเห็นได้ว่าพระพุทธรูปที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างถวายรัชกาลที่ 1 และที่ 2 ในวัดพระแก้ว ที่มีพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เป็นพระทรงเครื่องเช่นเดียวกัน

พระพุทธรูปวัดหน้าพระเมรุครั้งพระเจ้าปราสาททอง การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องไม่จำกัดอยู่เฉพาะวัดไชยวัฒนารามเท่านั้น แต่ได้มีการสร้างเป็นพระสำคัญ ๆ ในวัดอื่น ๆ ด้วย ที่เห็นได้เด่นชัดคือที่วัดหน้าพระเมรุ พระประธานเป็นพระทรงเครื่องที่งดงามมาก บรรดานักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดีต่างก็ลงความเห็นว่าเป็นของที่สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ถัดจากวัดไชยวัฒนารามก็เป็นการสร้างพระราชวังประทับร้อนตำบลริมวัดเทพจันทร์ สำหรับเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทโดยให้ช่างไปถ่ายแบบจากเมืองพระนครหลวง ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นวัดนครหลวงไปแล้ว แบบแผนที่พระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างขึ้นนั้นก็คือแบบเขาพระสุเมรุตามศิลปะแบบขอม คือการสร้างพระระเบียงรอบยกขึ้นไป 2 ชั้น มีพระเมรุทิศเป็นรูปปราสาทแบบขอม แต่ทว่าสร้างด้วยอิฐและมีขนาดเล็กว่า การสร้างพระราชวังนครหลวงนี้ก็เช่นกันเพื่อรื้อฟื้นอดีตที่เคยรุ่งเรืองมาเสริมพระราชอานาจของพระองค์ และเพื่อให้เป็นที่รับรู้กันในสมัยนั้นซึ่งกำลังขัดแย้งกับกัมพูชา การสร้างพระมหาปราสาทก็มีความหมายต่อการเป็นพระจักรพรรดิราชของพระองค์เป็นอย่างมาก

"ลุศักราช 994 ปีวอก จัตวาศก ทรงพระกรุณาสร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่งสิบเอ็ดเดือนเสร็จ ให้นามว่าศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงค์ ในเพลากลางคืน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตรว่า สมเด็จอมรินทราธิราชเสด็จลงมานั่งแท่นพระองค์ไสยาสน์ ตรัสบอกว่าให้ตั้งจักรพยุห แล้วสมเด็จอมรินทราธิราชหายไป เพลาเช้าเสด็จออกขุนนาง ทรงพระกรุณาตรัสเล่าพระสุบินให้โหราพฤฒาจารย์ทั้งปวงฟัง พระมหาราชครูปุโรหิตโหราพฤฒาจารย์ถวายพยากรณ์ ทำนานว่าเพลาวานนี้ทรงพระกรุณาให้ชื่อพระมหาปราสาทวาศิริยศโลธรมหาพิมานบรรยงค์นั้นเห็นไม่ต้องนาม สมเด็จอมรินทราธิราชจึงลงมาบอกให้ตั้งจักรพยุห อันจักรพยุหนี้เป็นที่ตั้งใหญ่ในมหาพิริยสงคราม อาจจะข่มเสียได้ซึ่งปัจจามิตรทั้งหลาย ขอพระราชทานเอานามจักรอันนี้ให้ตั้งชื่อพระมหาปราสาทว่า จักรวัรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทตามลักษระเทพสังหรณ์ในพระสุบินนิมิตรอันประเสริฐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังก็ดีพระทัยยิ่งนัก จึงให้แปลงชื่อพระมหาปราสาทตามคำพระมหาราชครูทั้งปวง"

พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์หลังนี้สร้างขึ้นริมกำแพงพระราชวังตอนติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ บริเวณหน้าพระมหาปราสาทคือท้องสนามชัยที่ใช้เป็นที่สวนสนามและประชุมพล ดังนั้น จึงเป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อการทหารโดยเฉพาะ สอดคล้องกับข้อความในพระราชพงศาวดารว่าเป็นที่ตั้งใหญ่ในมหาพิชัยสงคราม แต่พระเจ้าปราสาททองก็หาได้ให้เป็นแต่เพียงพระที่นั่งธรรมดาไม่ หากทรงนำเข้าไปเกี่ยวกับเรื่องราวของพระอินทร์เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นพระจักรพรรดิราชของพระองคื ในเรื่องนี้เห็นได้ว่า คณะโหราพฤฒาจารย์มีบทบาทอย่างมากในการตอบสนองพระราโชบายของพระมหากษัตริย์

ปราสาทอีกองค์หนึ่งที่ส่งเสริมความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าปราสาททองก็คือ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ แต่เดิมคือพระที่นั่งมังคลาภิเษก เป็นของที่มีมาก่อน เมื่อขึ้นครองราชย์ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก ครั้นถึง พ.ศ. 2198 ฟ้าผ่าเกิดเพลิงไหม้และลุกลามไปยังอาคารต่าง ๆ ในพระราชวังด้วย ในปีต่อมาจึงโปรดให้สร้างพระมหาปราสาทวิหารสมเด็จแทนที่พระที่นั่งมังคลาภิเษก เป็นพระที่นั่งใหญ่มีมุกสองมุก ลักษณะเป็นแบบเดียวกับพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท และใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เคยทำที่พระที่นั่งมังคลาภิเษกแต่เดิม

การสร้างปฏิสังขรณ์และปรับปรุงปราสาทและพระราชวังตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองลงมานั้น นับได้ว่าเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แทบทุกรัชกาล ส่งที่ทำให้การสร้างและการบูรณเปลี่ยนแปลงได้ผลดีก็เนื่องมาจากในระยะนั้นมีความเจริญในด้านเทคโนโลยีสูง มีนายช่างและผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาช่วยมาก การก่ออิฐถือปูนจึงมั่งคงแข็งแรงและทำได้ใหญ่โตกว่ายุคก่อน ๆ ผลที่ตามมาทำให้ราชสำนักมีความโอ่อ่า เป็นการเพิ่มและเสริมอำนาจทางฝ่ายฆราวาสซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นหระมุขให้เด่นชัด

การสร้งงานด้านสถาปัตยกรรมในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองดำเนินควบคู่ไปกับการฟื้นฟูลัทธิและประเพณีทางศาสนาเพื่อสนับสนุนการเป็นพระจักรพรรดิราชของพระองค์ สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งเพื่อการนี้คือ การแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาความร่มเย็นของบ้านเมือง พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นผู้มองการณ์ไกล เข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ในเรื่องข้าวยากหมากแพง โรคระบาด ศึกสงครามรวมทั้งความมั่นคงของราชบัลลังก์ด้วย โดยเหตุนี้ ในราชสำนักจึงพรั่งพร้อมไปด้วยพวกโหราพฤฒาจารย์ที่เชี่ยวชาญ สามารถประกอบพิธีปัดเป่าเรื่องร้ายแรงให้พ้นไปได้ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอยู่ในปีจุลศักราช 1000 ตามคำทำนายในอดีตจะเกิดกลียุคขึ้นต้องแก้ไข ทางออกการรื้อฟื้นประเพณีที่อดีตกษัตริย์เคยทำคือการลบศักราช การประกอบพระราชพิธีเช่นนี้มีผลดีเด่นแก่พระเจ้าปราสาททองหลายอย่าง เพราะเรื่องการเกิดกลียุคเป็นที่รู้จักดีในประเทศที่นับถือพุทธศาสนา โดยเฉพาะพม่าและมอญ ซึ่งใช้จุลศักราชเหมือนกัน ดังนั้น การชิงทำพระราชพิธีลบศักราชเสียก่อนก็เหมือนกับการยิงนกทีเดียวได้นกหลายตัวผลดีอันดับแรกก็คือ ความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ยิ่งไปกว่านั้นเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่เหนือบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพุทธศาสนาซึ่งใช้จุลศักราชเหมือนกัน

ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า พระราชพิธีลบศักราชของพระเจ้าปราสาททอง ก็คือการรื้อฟื้นเอาแนวความคิดในเรื่องจักรวาลที่เป็นทั้งพุทธและพราหมณ์มาผสมกัน แก่นที่สำคัญก็คือ การตั้งเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักรวาล มีการเชิญเทพเจ้าใหญ่น้อยมาชุมนุม รวมทั้งนำเอาพระพุทธรูปสำคัญของรัฐและพระสงฆ์มาร่วมด้วย ประธานในพระราชพิธีก็คือพระจักรพรรดิราช ซึ่งในที่นี้ก็คือสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราชพิธีจบลงด้วยการโปรยทานและกระทำสตสดกมหาทาน อันเป็นพระราชพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์ที่มีมาแต่อดีต พระราชพิธีลบศักราชครั้งนี้มีความสำคัญในการสร้างจักรวาลใหม่ และการสถาปนาการเป็นพระจักรพรรดิราชของพระเจ้าปราสาททองมาก บ้านเมืองใกล้เคียงแม้กระทั้งพม่าก็ส่งทูตมาร่วมในพระราชพิธีด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ยอมรับใช้ศักราชใหม่ด้วยก็ตาม การรื้อฟื้นประเพณีเรื่องราวเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุดังปรากฏในพระราชพิธีลบศักราชนั้นได้เป็นแบบฉบับของพระราชพิธีอื่น ๆ ตลอดจนการสร้างสรรค์ศิลปสถาปัตยกรรมทางศาสนาและราชสำนักต่อๆ มาซึ่งล้วนแต่เป็นการเสริมฐานะในการเป็นจักรพรรดิราชของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

ในสายตาของชาวต่างประเทศ กรุงศรีอยุธยาเป็นมหาสถาน มีมหาราชวังเป็นศูนย์กลางแห่งความรุ่งเรืองของบ้านเมือง โยสเซาเต็น พ่อค้าฮอลันดาที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจนถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกล่าวว่า พระราชวังหลวงที่ประทับของพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเสมือนเป็นเมืองเล็ก ๆ แยกอยู่อีกเมืองหนึ่ง ปราสาทราชมณเฑียรดูมโหฬาร ตลอดจนอาคารต่าง ๆ มีสีทองทั้งสิ้น พระมหากษัตริย์สยามเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในภาคตะวันออกนี้ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในแถบนี้ของโลกที่จะมีเมืองหลวงใหญ่โตมโหฬารวิจิตรพิสดารและสมบูรณ์พูนสุขเหมือนพระมหากษัตริย์ในราชอาณาจักรนี้

กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะนอกจากบ้านเมืองจะมีความมั่งคั่งแล้ว ยังมีความก้าวหน้าทางวิทยาการสูง ความสัมพันธ์กับราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ทำให้มีนักวิชาการมากมายหลายสาขา นับแต่สถาปนิก วิศวกร แพทย์ นักดาราศาสตร์ นักการทหารเข้ามาช่วยราชการ มีการสร้างป้อมปราการตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เช่น นครศรีธรรมราช ธนบุรี นครราชสีมา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น ได้สร้างเมืองลพบุรีหรือละโว้ขึ้นมาใหม่ให้เป็นเมืองสำคัญสำหรับพระมหากษัตริย์รองลงมาจากพระนครศรีอยุธยา มีพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นที่ประทับ ภายในมีพระมหาปราสาททั้งที่เป็นที่ประทับในพระราชฐานชั้นใน และที่ออกว่าราชการและรับแขกเมืองในชั้นนอก รวมทั้งตึกรามและอาคารที่เป็นพระคลังสมบัติ สถานที่รับแขกเมืองและอุทยานที่ประดับด้วยน้ำพุ ภายในเมืองลพบุรีมีเรือนหลวงรับแขกเมือง สร้างเป็นตึก 2 ชั้นแบบฝรั่ง มีการประปา มีท่อประปานำน้ำจากทะเลชุบศรและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่หัวยซับเหล็กเข้ามาใช้ในเมืองและพระราชฐาน นอกเมืองมีพระที่นั่งเย็นริมทะเลชุบศรเป็นที่ประทับสำราญพระอริยาบถ และเป็นสถานที่ดูดาวและศึกษาดาราศาสตร์

ในพระนครศรีอยุธยามีความโออ่า มีการก่อสร้างปราสาทราชวังเพิ่มเติม โดยเฉพาะการสร้างพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์มหาปราสาท เป็นปราสาทจตุรมุขที่งดงาม เสริมสร้างพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทให้โอ่โถง เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญของรัฐและสถานที่ออกรับแขกเมือง คณะราชทูตลังกาที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาต่อมาได้บันทึกถึงความงดงามของพระราชวังหลวงว่า

"เมื่อถึงเขตพระราชวัง แลเห็นปราสาทราชมณเฑียรล้วนปิดทองอร่าม…เจ้าพนักงานจึงนำทูตานุทูตเข้าไปในพระราชวังผ่านประตู 2 ชั้น ที่ประตูประดับประดาด้วยสีทองและสีอื่น ๆ เมื่อล่วงประตูชั้นที่สองเข้าไปก็ถึงพระที่นั่ง (สรรเพชญ์ปราสาท) สองข้างมุขเด็จพระที่นั่ง มีรูปภาพต่าง ๆ ตั้งไว้คือ รูปหมี รูปราชสีห์ รูปรากษส รูปโทวาริก รูปนาค รูปพิราวะยักษ์ รูปเล่านี้ล้วนปิดทองตั้งอย่างละคู่ ตรงหมู่รูปขึ้นไปเป็น (มุขเด็จ) ราชบัลลังก์ สูงประมาณ 10 คืบ ตั้งเครื่องสูงรอบ (มุขเด็จ) ราชบัลลังก์นั้นผูกม่านปักทองงามน่าพิศวง ฝาผนังพระที่นั่งก็ปิดทองบนราชบัลลังก์ตั้งบุษบกที่ประทับ เสด็จออกที่บุษบกนั้น พวกทูตานุทูตที่เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการเสร็จแล้ว พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงทรงพระกรุณาพระราชทานอนุญาตให้พวกทูตานุทูตไปเที่ยวดูสถานที่ต่างๆ ในราชวังต่อไป"

บรรดาทูตานุทูตพรรณนาถึงโรงช้าง (โรงยอด) ในและนอกพระราชวัง และได้บรรยายถึงประตูพระราชวังว่า

"ประตูพระราชวังยอดปิดทองประดับด้วยดอกไม้และเครื่องไม้ เมื่อแลดูกลับเข้าไปข้างใน เห็นพระที่นั่งหลังคา 5 ชั้น มียอดอื่นปิดทอง…พระราชวังอันวิจิตรที่กล่าวมานี้ สร้างริมกำแพงใกล้ปากแม่น้ำ"

ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ สถาปัตยกรรมไทยทั้งที่เป็นของทางศาสนาและราชาสำนักได้รับอิทธิพลศิลปทางยุโรป จนทำให้มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากของที่มีมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็สืบเนื่องลงมาในสมัยหลัง ๆ อย่างเห็นได้ชัด น. ณ ปากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะไทยชี้ให้เห็นลักษณะใหม่ ๆ ของศิลปสถาปัตยกรรมกรุงศรีอยุธยาในยุคนี้ว่า

"…ประการแรกเกิดความนิยมเจาะช่องหน้าต่างโค้งและถี่เป็นแถวแนวตลอดผนัง ทำให้แสงสว่างเข้าในตัวอาคารอย่างเต็มที่ ประการต่อมา มีการเริ่มนิยมก่อผนังด้านตัดหรือที่เรียกว่าผนังหุ้มกลองไปยังส่วนบนสุดที่อกไก่ ดังนี้ หน้าบันสลักไม้จึงเลิกใช้ กลับหันมานิยมปั้นปูนเป็นลวดลายตรงหน้าบันนั้นแทนที่ รวมทั้งหน้าบันปีกนอกก็เป็นปูนปั้นด้วย เพราะคติการทำผนังส่วนบนรูปสามเหลี่ยมไปยันรับน้ำหนักไม้อกไก่ ส่วนบนของหลังคานี้เองทำให้โครงสร้างเครื่องบนแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้เสากลางสองแถวดังที่เคยทำกัน จึงเปิดเนื้อที่ในอุโบสถและวิหารให้กว้างขึ้น แม้ว่าอุโบสถวิหารจะเล็กกว่าเก่า แต่เมื่อไม่มีเสาข้างในก็ทำให้รู้สึกกว้างและโปร่งตา"

ช่องหน้าต่างของอาคารในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มักทำเป็นช่องอาร์คโค้งยอดแหลมแบบศิลปะโกธิคของยุโรป ได้กลายเป็นที่นิยมใช้กันทั่งไปจนถึงสมัยหลัง ๆ เห็นได้จากพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทในเมืองลพบุรี และอาคารศาลาการเปรียญวัดตองปุ ลพบุรี เป็นตัวอย่าง

นอกจากลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแล้ว ก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องลวดลายปูนปั้นที่ประดับสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ด้วยเช่น ทำเป็นรูปฝรั่งปั้นเป็นรูปเทพพนมปะปนกับลวดลายอันวิจิตรพิสดารตามหน้าบัน ลวดลายแบบโคโคโค้ของฝรั่งก็เข้ามาปะปนและผสมกับลวดลายไทย อย่างเช่นที่หน้าบั้นวัดตะเว็ด ริมคลองปะทาคูจาม หลังวัดพุทธไธสวรรย์ มีลายใบอะแคนตัสและซุ้มคูหาแบบฝรั่งเศส ลายเครือเถาประดับปั้นลม ล้วนเป็นลายฝรั่งทั้งสิ้น นอกจากพบตามหน้าบัน ช่องหน้าต่างประตู และบนหลังคาของสถาปัตยกรรมตามที่กล่าวมาแล้ว บรรดาลวดลายที่ได้รับอิทธิพลฝรั่งยังมีพบตามจิตรกรรมฝาผนังและตามตู้หนังสือหรือพระธรรมลายรดน้ำปิดทองอีกด้วย ในหลายๆ แห่งทีเดียวที่มีภาพของฝรั่ง แขก และจีนผสมอยู่ด้วย

กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นเมืองเปิด สินค้าต่าง ๆ ทั้งจากยุโรป จีน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย และอื่น ๆ มีเข้ามาในพระนครเสมอ ยกตัวอย่างเช่น แจกันและเครื่องถ้วยชามเคลือบของจีน หีบ โต๊ะ ตู้ และฉากของญี่ปุ่น พรมจากเปอร์เซีย เป็นต้น ของที่ฟุ่มเฟือยเหล่านี้เป็นสิ่งของที่เจ้านาย ขุนนาง และข้าราชการมีไว้ครอบครอง เหตุนี้ฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยจึงบันทึกว่า คนไทยชั้นขุนนางมีพรมเปอร์เซียปูพื้นบ้าน มีโต๊ะ มีตู้ และฉากญี่ปุ่นประดับ มีรูปภาพจากยุโรป และมีเครื่องลายครามจากจีน ดูร่ำรวยและหรูหรากว่าบ้านเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

ความรุ่งเรื่องอีกอย่างหนึ่งที่ควบคู่ไปกับความโอ่อ่าทางศิลปกรรมก็คือ อักษรศาสตร์และวรรณกรรม ในสมัยนี้มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตและนักอักษรศาสตร์เป็นจำนวนมาก เช่น พระมหาราชครู พระศรีมโหสถ ศรีปราชญ์ เป็นอาทิ ผลงานที่ยังเหลือมาทุกวันนี้นับว่ามีมากกว่ารัชกาลอื่น ๆ ทั้งในด้านวรรณกรรม ทางโลก ทางศาสนา และตำรับตำราต่างๆ เช่น อนิรุทธ์คำฉันท์ เสือโคคำฉันท์ จินดามณี เป็นต้น

ในด้านขนบธรรมเนียมและพระราชพิธีก็มีพัฒนาการมากกว่าสมัยใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น การจัดขบวนพยุหยาตราทั้งทางน้ำและทางบก มีการจัดเป็นระเบียบแบบแผน ประกอบด้วยทหารหลายหมู่เหล่าทั้งคนไทยและทหารอาสาชาวต่างประเทศ เป็นแบบอย่างที่กระทำสืบต่อมาในสมัยหลัง ๆ เห็นได้จากภาพจิตรกรรมตามผนังวัดและจากบรรดาสมุดภาพที่ยังเหลืออยู่ พระราชพิธีสำคัญที่เนื่องด้วยการเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิราชสืบต่อมาจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ มีการสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่กลางท้องสนามหลวง อัญเชิญพระบรมศพเหนือพระราชรถและมีขบวนแห่อย่างมโหฬารมายังพระเมรุมาศ หลังถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วก็มีงานฉลองอย่างมโหฬาร เห็นได้จากการถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นตัวอย่าง

หลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ความรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการรวมทั้งการค้าขายกับต่างชาติซบเซาลงอันเนื่องมากจากเหตุผลทางการเมือง เกิดการแย้งชิงราชสมบัติกันบ่อย ๆ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ล้วนเป็นของที่กระทำสืบเนื่องตามแบบอย่างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์แต่ไม่มีความโอ่อ่าเท่า

ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเพทราชาจนถึงพระเจ้าท้ายสระ มีการสร้างสิ่งใหม่ๆ เพียงไม่กี่อย่าง เช่นการสร้างวัด มีวัดสำคัญที่สร้างขึ้นใหม่ได้แก่ วัดโพธิ์ประทับช้าง ในเขตจังหวัดพิจิตร วัดบรมมหาพุทธาราม ซึ่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ในพระนครศรีอยุธยา วิหารพระมงคลบพิตรและวิหารพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ในเขตจังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ในพระบรมมหาราชวังเองก็มีการสร้างพระที่นั้งบรรยงค์รัตนาสน์ ขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ล้อมรอบด้วยสระน้ำ มีสวนและน้ำพุประดับบริเวณอย่างสวยงาม เป็นที่ซึ่งชาวต่างประเทศมักกล่าวขวัญถึง

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลวงที่สำคัญ 2 วัด คือ วัดมเหยงค์ และวัดกุฎีดาว สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดแรก ส่วนวัดหลังนั้นกรมพระราชวังบวรทรงรับผิดชอบ ทั้ง 2 วัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวางและมีสิ่งก่อสร้างที่สวยงามเป็นตัวเอย่างแก่ศิลปกรรมในยุคหลังลงมาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะวัดมเหยงค์นั้น มีการสร้างพระอุโบสถขนาดใหญ่ มีทางฉนวนมายังท่าน้ำอันเป็นที่ซึ่งพระมหากษัตริย์และข้าราชบริพารฝ่ายในได้ใช้ในยามเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธี

จนกระทั้งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ บ้านเมืองก็เข้าสู่ความรุ่งโรจน์อีกระยะหนึ่งภายหลังจากสงครามกลางเมืองที่เกิดจากการแย่งความเป็นใหญ่กันในตอนสิ้นรัชกาลสามเด็จพระเจ้าท้ายสระ

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ทรงประพฤติธรรมราชา เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภ์ที่สนพระทัยในการทำบุญ สร้างวัดวาอาราม และบูรณปฏิสังขรณ์วัดและวังที่มีมาแต่อดีต อาจกล่าวได้ว่าบรรดาวัดเก่าแก่ที่มีมาแต่เดิมต่าง ๆ ที่บูรณปฏิสังขรณ์นั้นเกือบเท่ากับเป็นการสร้างใหม่ทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดพระมงคลบพิตรเป็นต้น เพราะส่วนมากอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมยิ่งกว่าสมัยใด ๆ ทำให้แยกกันไม่ออกว่าวัดใดเป็นวัดเก่าและวัดใดเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ บรรดาพระมหาปราสาทและพระอาคารต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวังก็เช่นเดียวกัน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลนี้ เช่น พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ พระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ เป็นต้น ผลของการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทราชวัง และวัดว่าอารามในรัชกาลนี้ ทำให้แลเห็นรูปแบบทางศิลปสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะแตกต่างไปจากครั้งรัชกาลก่อน ๆ อาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า เป็นพัฒนาการที่สืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จนมีรูปแบบเป็นตัวเองที่แตกต่างไปจากยุคต้นๆ น. ณ ปากน้ำ ให้ความเห็นว่า

"สมัยบรมโกศอาคารอยุธยาได้เปลี่ยนไปอีก โดยทำอาคารทรงอ้วนป้อมหลังคาก็ลาดต่ำกว่าเดิม โชว์ลวดลายปูนปั้นทั้งด้านหน้าและหลังอย่างเต็มที่ ลายปูนปั้นอันงดงามของอาคารแบบนี้ปรากฏที่วัดยางธนบุรี วัดลางสมุทรปราการ วัดท่าหลวงอำเภอวิเศษชัยชาญ และวัดธรรมารามในอยุธยา เป็นต้น วิวัฒนาการขั้นต่อมาก็คือ ได้มีการเสริมหลังคารูปเพิงหน้าคว่ำเฉพาะด้านหน้าอุโบสถซึ่งนิยมกันอย่างแพร่หลายในสมัยอยุธยาปลายสุด ซึ่งจะพบเห็นทั่วไปตามจังหวัดต่างๆ แม้ในกรุงเทพฯ ก็มีหลายแห่ง เช่นอุโบสถวัดสิงห์ วัดทองศาลางาม และวัดบางขุนเทียนนอก…"

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรดาบ้านเมืองอื่น ๆ ไม่ว่า มอญ ลาว และแม้แต่วัดว่าซึ่งเคยเป็นแหล่งศึกษาของพระพุทธศาสนาที่สำคัญก็ประสบความวุ่นวาย วัดวาอารามแลพระพุทธศาสนาถูกทอดทิ้งทำลาย เกิดสงครามกลางเมือง และความไม่สงบสุขทั่วไป โดยเฉพาะทางลังกา ถึงกับไม่มีพระสงฆ์พระเถระทีมีความรู้ทั้งพระพุทธศาสนามาสอนให้กับประชาชน จึงต้องส่งทูตเข้ามาของพระส่งฆ์จากกรุงศรีอยุธยาไปสอนพระพุทธศาสนาและประกอบพิธีบวชให้ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศก็พระราชทานความช่วยเหลือ ส่งพระเถระชั้นผู้ใหญ่และคณะธรรมทูตไปเมืองลังกาตามที่ขอมา เหตุนี้คนทั่วไปจึงเรียกการบวชและการอบรมพุทธศาสนาในลังกาว่าเป็นสยามวงศ์แทนลังกาวงศ์ที่เคยมีมาในอดีต

นอกจากการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาแล้ว กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศยังมีความรุ่งเรืองในด้านวรรณกรรม การช่างฝีมือ และการมหรสพอีกด้วย

ในด้านวรรณกรรมมีกวีสำคัญหลายคน แต่เป็นที่รู้จักกันมากก็คือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าบรมโกศและทรงเป็นกรมพระราชวังบวรในสมัยนั้น ทรงแต่งกาพย์เห่เรือและวรรณกรรมทางศาสนา เช่น ปุณโณวาทคำฉันท์และพระมาลัยคำฉันท์ ในขณะผนวชเป็นพระภิกษุ

ด้านการมหรสพนั้นรุ่งโรจน์กว่าสมัยใด ๆ มีการเล่นละครทั้งละครในละครนอก มีการแต่งบทละครกันทั้งเจ้านายและขุนนาง ส่วนงานด้านช่างฝีมือ เช่นการทำลวดลายปูนปั้น การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง การแกะสลักประตูไม้ การทำเครื่องลายรดน้ำปิดทองและประดับมุกนั้นก็เจริญถึงขีดสุด โดยเฉพาะบานประตูหน้าต่างของอาคารในทางพุทธศาสนาและพระราชวังทำได้ประณีตยิ่ง เช่นบานประตูประดับมุกที่วัดพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก เป็นต้น

กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศมั่งคั่งร่ำรวย และอึกทึกครึกโครมด้วยการดนตรี และการละเล่นต่าง ๆ ผู้ที่เคยเห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยายุคนี้ และสามารถบรรยายให้เห็นถึงความรุ่งเรืองสุขสำราญของพระนครได้เป็นที่สวยงามและประทับใจคงไม่มีใครเกินสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 ดังได้ทรงพรรณาความอาลัยพระนครหลวงไว้ในเพลงยาวไทยรบพม่าว่า

 

" ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร

ทุกถิ่นฐานบริบูรณหนักหนา

อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา

เช้าค่ำอัตรทั้งราตรี

ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน

เชยชื่นเป็นสุขเกษมศรี

………………………………..

…………………………..

แสนเสียดายภูมีพื้นกรุงศรี

บริเวณอื้ออลด้วยชลธี

ประดุจเกาะอสุรีลงกา

……………………………

…………………………………….

……………………………..

คิดมาก็เป็นที่อนิจจัง

ด้วยกรุงเป็นที่ตั้งพระศาสนา

ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา

ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ

ก็ทลายยับยุ่ยเป็นผุยผง

เหมือนพระองค์เสด็จดังสังขาร

ยังไม่สิ้นศาสนามาร

ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป

เสียดายพระนิวาศน์บุรีวัง

พระที่นั่งทั้งสามงามไสว

ตั้งเรียบระเบียงชั้นเป็นหลั่นไป

อำไพวิจิตรรจนา

มุขโถงมุขเด็จมุขกระสัน

เป็นเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา

เพดานในไว้ดวงดารา

ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน

ที่ตั้งบัลลังก์แก้งทุกองค์

ทวารลงอัฒจันทน์หน้าฉาน

ปราบพื้นรื่นราบดังพระลาน

มีโรงคชาธารตระการตา

ทีมดาบคดลดพื้นกำแพงแก้ว

เป็นถ่องแถวยึดยาวกันหนักหนา

เป็นที่แขกเฝ้าเข้าวันทา

ดังเทวานฤมิตประดิษฐ์ไว้

สืบราชวงศ์กษัตริย์มาช้านาน

แต่บุราณแล้วไม่นับพระองค์ได้

พระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่ข้างใน

มีสระชลาลัยชลธี

ชื่อที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์

ที่ประพาสมัจฉาในพระศรี

ทางเสด็จเสร็จสิ้นสารพันมี

เป็นที่กษัตริย์สืบมา

ก็สูญสิ้นศรีมลายหายหมด

จะปรากฏสักสิ่งไม่มีว่า

อันถนนหนทางมรรคา

คิดมาก็เสียดายทุกสิ่งอัน

ร้านเรียงเป็นระเบียบด้วยรุกขา

ขายของนานาทุกสิ่งสรรค์

ทั้งพิธีปีเดือนทุกคืนวัน

สารพันจะมีอยู่อัตรา

ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมสุข

แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา

ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา

อยุธยาจะสาบสูญไป

จะหาไหนเหมือนได้เหมือนกรุงแล้ว

ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส

นับวันแต่จะยับนับไป

ที่ไหนจะคืนคงมา"

 

 

| ย้อนกลับ | หน้าแรก | หน้าต่อไป |