จากอยุธยาถึงกรุงเทพฯ
เมื่อเปรียบเทียบกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศกับประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ พม่า มอญ เขมร และลาวแล้ว ก็กล่าวได้ว่า เมืองไทยมีความมั่นคงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจตลอดมา ในขณะที่บ้านเมืองด้งกล่าวอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงและไม่ปกติสุข โดยเฉพาะพม่าซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยามักประสบปัญหาเกี่ยวกับการขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติ บางครั้งก็รวมกันติด บางครั้งบ้านเมืองก็แตกแยก อยู่ในสภาพลุ่ม ๆ ดอน ๆ จนไม่มีกำลังและความคิดต่อเนื่องที่จะมารุกรานเมืองไทยได้
การที่ไม่มีศึกสงครามจากภายนอกเข้ามารบกวน ทำให้กรุงศรีอยุธยามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและร่ำรวยจากการค้ากับต่างประเทศมาตลอด ถึงแม้ว่าหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมา การค้าขายกับนานาชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปจะน้อยลงก็ตาม แต่เมืองไทยก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะปิดประเทศ ยังทำการค้าขายกับประเทศอื่นเรื่อยมาโดยเฉพาะกับจีน ทำให้รายได้ที่เข้าประเทศไม่แตกต่างไปจากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นไปจนถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของการค้าของป่าที่ได้มาจากภูมิภาคต่าง ๆ ของบ้านเมือง และในขณะเดียวกัน ก็เป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนสินค้านานาชาติ ทำให้ได้รายได้เข้ามาหลาย ๆ ทาง
ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชาลงมา การค้าขายกับชาวยุโรปการเป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนสินค้านานาชาติ และการค้าของป่าก็ลดน้อยลง แต่กลับไปเพื่มความสำคัญกับสินค้าออกบางชนิดที่เป็นที่ต้องการของภายนอก ได้แก่ ข้าว หนังโค หนังกวาง และดีบุก พวกของป่าอันได้แก่หนังสัตว์และดีบุกที่กล่าวมานี้ เป็นสินค้าผูกขายที่ขายให้กับฮอลันดา ส่วนข้าวนั้นขายให้กับจีนเป็นส่วนใหญ่ และมีความสม่ำเสมอเรื่อยมา ทำให้มีการขยายตัวในการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น มีการขยายตัวของชุมชนในระดับบ้านและเมืองตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการขุดคลองเพื่อการคมนาคมเชื่อมระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ กับเมืองและเมืองหลวงเพิ่มขึ้น ทำให้กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่การเป็นเมืองเวนิสตะวันออกอย่างสมบูรณ์
การที่บ้านเมืองมั่งคั่งและปราศจากศัตรูภายนอกมารบกวน ทำให้คนไทยตั้งอยู่ในความประมาท เพราะขาดสิ่งที่จะมากระตุ้นให้มีการรวมตัวกันเพื่อความปลอดภัยและมั่นคง ในขณะเดียวกันก็เกิดการแข่งแย่งชิงกันภายใน โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นปกครองในระดับสูงก็เป็นการมุ่งที่จะก่อการรัฐประหารชิงราชมบัติ ส่วนในระดับต่ำก็แสวงหาอำนาจด้วยการเข้าเป็นพรรคพวกของเจ้านายหรือขุนนางคนสำคัญของแผ่นดิน มีการสะสมบรรดาไพร่ทาสไว้เป็นบริวาร เป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกเป็นหลายกลุ่มเหล่าทั้งภายในราชธานีและตามหัวเมือง กล่าวคือ การขัดแย้งและแย่งชิงกันภายในราชธานีนั้น เปิดโอกาสให้เจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่ตามหัวเมืองมีโอกาสสะสมกำลังเพื่อความมั่นคงและเพื่อความมั่งคั่งของตน และขณะเดียวกันก็คอยดูจังหวะว่าจะเข้ากับกลุ่มภายในราชธานีกลุ่มไหน โดยเหตุนี้ ในการก่อรัฐประหารและชิงราชย์กันแต่ละครั้ง เมื่อสิ้นสุดลงจะมีการฆ่าฟันเพื่อกำจัดเสี้ยนหนามกันคราวละมาก ๆ ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกฆ่าและถูกกำจัดก็คือบรรดาเจ้านาย หรือขุนนาง ข้าราชการ ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองนั่นเอง พวกไพร่ฟ้าข้าทาสไม่ค่อยได้รับผลกระทบกระเทือนเท่าใด เพราะเป็นเหมือนกับทรัพย์สมบัติสิ่งของในครอบครอง อาจเปลี่ยนเจ้าของได้ และปล่อยไว้เพื่อรับใช้ทำงานต่อไป
ความขัดแย้งทำให้สภาพสังคมปละวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เปลี่ยนแปลงไปนั้น มาจากความหวาดกลัวและระแวงพวกชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกฝรั่งจะเข้ามาครอบครองบ้านเมืองและล้มเลิกพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่คือพระเพทราชาและหลวงสุรศักดิ์คบคิดกันแย่งอำนาจจากฝ่ายที่นิยมพวกฝรั่งในขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ประชวรใกล้สวรรคต เมื่อสำเร็จแล้วก็เลยตั้งตนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน สมเด็จพระเพทราชาได้เสวยราชย์ ส่วนหลวงสุรศักดิ์ได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าวังหน้า มีที่ประทับอยู่ ณ พระราชวังจันทร์เกษมนอกเขตพระราชวังหลวง
แต่เดิมพระราชวังนี้ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชโปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร มาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชานั้น หลวงสุรศักดิ์เป็นทั้งบุตรชายและผู้ร่วมก่อการรัฐประหารที่สำคัญ มีอำนาจทัดเทียมกับพระมหากษัตริย์จึงต้องยกย่องเป็นพิเศษเหตุนี้จึงเกิดตำแหน่งที่สองรองจากพระมหากษัตริย์ขึ้น จะเป็นรัชทายาทหรือพระมหาอุปราชก็ไม่เชิง เพราะมีอำนาจ มีกำลังคน และมีสิทธิพิเศษมาก นอกจากนั้นยังมีการปูนบำเหน็จเจ้านายขุนนางอื่น ๆ ที่ร่วมก่อการด้วย ให้เป็นเจ้าทรงกรมนอกเหนือไปจากการมีหน่วยราชการที่เป็นกรมกองตามระบบการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป นับเป็นการให้ความสำคัญแก่เจ้านายให้มีกำลังคนไว้ในบังคับบัญชาแต่ต่างไปจากสมัยก่อน ๆ และนับเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งในระบบศักดินาอีกด้วย ในมุมกลับ การที่เจ้านายได้ทรงกรม มีกำลังคนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชานั้น เป็นการเปิดโอกาสให้มีความทะเยอทะยานต้องการอำนาจ อาจรวมกำลังกันก่อการไม่สงบขึ้นได้ ดังเห็นจากเหตุการณ์บ้านเมืองตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชาลงมา
ความวุ่นวายในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชาเป็นเรื่องภายในโดยตรง อาจวิเคราะห์ได้เป็น 2 อย่างด้วยกัน
อย่างแรก เป็นเรื่องที่เกิดจากบรรดาเจ้านายและขุนนางที่ยังจงรักภักดีในสมเด็จพระนารายณ์ พวกนี้ที่ถูกทำลายล้างไปก็มาก แต่ที่เหลืออยู่ก็มีไม่น้อย พวกที่อยู่ภายในราชธานีมักไม่ใคร่แสดงออก การแข็งข้อต่อต้านสมเด็จพระเพทราชาจึงไปเกิดขึ้นตามหัวเมืองสำคัญ โดยเฉพาะเมืองนครราชสีมาและนครศรีธรรมราช ถึงแม้ว่าทางกรุงศรีอยุธยาจะทำการปราบปรามลงได้ แต่ก็หาได้ทำลายระบบการที่เจ้าเมืองมีอำนาจในการสะสมกำลังคนไม่ จึงเป็นแบบอย่างและต้นเค้าที่ทำให้เจ้าเมืองสำคัญมีอำนาจและสะสมกำลังคนเพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเองและแสดงความเฉยเมยต่อการเป็นสูนย์กลางของกรุงศรีอยุธยาในสมัยหลัง ๆ
อย่างที่สองก็คือ ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นจากบรรดาเจ้านายและขุนนางในกลุ่มของสมเด็จพระเพทราชาเอง เริ่มด้วยหลวงสุรศักดิ์ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวร ดำเนินการกำจัดนายจบคชประสิทธิ์ศิลปทรงบาศขวาในกรมช้าง ซึ่งได้รับตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขหรือวังหลังของเจ้าพระยาสุรสงคราม บุคคลเหล่านี้คือผู้ที่ร่วมก่อการกันทำประหารทั้งสิ้น
ตลอดรัชกาลสมเด็จพระเพทราชานั้น ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงคือกรมพระราชวังบวร เพราะเป็นบุคคลที่ทุกๆ คนเกรงกลัวจึงมักทรงกระทำการบางอย่างเกินหน้าสมเด็จพระเพทราชาอยู่เนืองๆ อย่างเช่นเมื่อครั้งกษัตริย์ลาวจากเวียงจันทน์ส่งพระราชธิดามาถวายสมเด็จพระเพทราชา กรมพระราชวังบวรก็ให้รับเอานางมาไว้เป็นพระสนมโดยพลการ แล้วไปกราบทูลขออนุญาตจากสมเด็จพระเพทราชาในตอนหลัง
ในตอนปลายรัชกาล ความขัดแย้งทวีคูณขึ้นระหว่างวังหลวงและวังหน้า เพราะมีแนวโน้มว่าสมเด็จพระเพทราชาอาจทรงให้ราชสมบัติกับเจ้าฟ้าพระขวัญ ราชโอรสอันเกิดแต่กรมหลวงโยธาทิพย์ซึ่งเป็นพระราชภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ ด้วยเจ้าฟ้าพระขวัญทรงนับได้ว่าเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระนารายณ์ ประชาชนทั่วไปนิยมรักใคร่ อีกทั้งจะเป็นการเชื่อมรอยร้าวแต่ครั้งก่อนด้วย กรมพระราชวังบวรจึงทรงทำอุบายให้เจ้าฟ้าพระขวัญเสด็จออกนอกพระราชฐานแล้วจับสำเร็จโทษเสียทั้งๆ ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ทำให้สมเด็จพระเพทราชาซึ่งขณะนั้นทรงพระประชวรใกล้สวรรคตพิโรธ เลยมอบสมบัติให้กับเจ้าพระพิชัยสุรินทร์ซึ่งเป็นพระราชนัดดา
แต่เมื่อสมเด็จพระเพทราชาสวรรคตแล้ว เจ้าพระพิชัยสุรินทร์ไม่มีกำลังพอและอำนาจพอ ทรงเกรงกลัวกรมพระราชวังบวรจึงรีบไปเฝ้าแล้วถวายราชสมบัติให้ กรมพระราชวังบวรขึ้นครองราชย์ ณ พระนครศรีอยุธยาทรงพระนามว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 คนทั่วไปเรียกว่าพระองค์ว่าพระเจ้าเสือ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็งและเฉียบขาดเป็นที่เกรงกลัวของเจ้านายและขุนนางข้าราชการทั้งหลาย ตลอดรัชกาลไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวายอันเกิดจากการรุกรานจากภายนอก และการกบฏจะถูกทำลายและลงโทษทันทีไม่มีละเว้นแม้แต่พระโอรส ดังเห็นได้จากครั้งเมื่อเสด็จไปล้อมช้างเถื่อนที่นครสวรรค์ เผอิญมีบึงใหญ่ขวางทางเสด็จพระราชดำเนิน จึงโปรดให้พระราชโอรสที่ตามเสด็จมาด้วย 2 พระองค์คือ กรมพระราชวังบวร และพระบัณฑูรน้อย ทำหน้าที่เป็นแม่กองถมถนนข้ามบึง พอถมเสร็จก็เสด็จข้าม แต่เผอิญตรงกลางบึงยังมีหล่มเพราะถมไม่แน่พอ ช้างพระที่นั่งถลำจมลงไปแล้วกลับขึ้นมาได้ ต้องค่อยๆ ย่างไป ก็ทรงพิโรธหาว่าคิดกบฏโดยทำถนนให้เป็นหล่มไว้หวังจะให้ช้างติดหล่มแล้วรุมฆ่าพระองค์เสีย พอเสด็จพ้นบึงได้ก็จะเอาพระแสงของ้าวฟันกรมพระราชวังบวร แต่เผอิญสมเด็จพระบัณฑูรน้อยซึ่งเป็นพระอนุชายกของ้าวรับพระแสงไว้ได้จึงไม่ถูก แล้วพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ก็รีบขับช้างหนีไป สมเด็จพระเจ้าเสือทรงขับพระคชาธารตามไล่แต่ไม่ทัน เลยทรงประกาศให้ตามจับพระราชโอรสในฐานะกบฏเป็นเหตุให้พระราชโอรสทั้งสองต้องเสด็จหนีไปพึ่งกรมพระเทพามาตย์ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือมาทูลขอพระราชทานอภัยโทษ
ตลอดรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะสงบแต่ทุกคนก็อยู่ด้วยความระมัดระวัง เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเต็มไปด้วยความหวาดระแวง และลงโทษบุคคลที่ทรงคิดว่ากระทำผิดถึงแก่ชีวิตเป็นจำนวนมาก เมื่อสิ้นรัชกาลแล้ว กรมพระราชวังบวรได้เสวยราชย์ในพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ก็ทรงมีพระทัยและทรงประพฤติเช่นเดียวกับพระราชบิดา กล่าวคือ นอกจากทรงหวาดระแวงว่าจะมีผู้คิดก่อการกบฏแล้ว ยังโปรดการเสด็จประพาสตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น การล่าสัตว์ ตกปลา และคล้องช้าง ไม่เป็นที่ชื่นชอบของไพร่ฟ้าประชาชน และสมณชีพราหมณ์แต่อย่างใด ดังเห็นได้จากผู้บันทึกพงศาวดารเองก็เขียนไว้ตอนท้ายรัชกาลว่า "ได้เสวยราชสมบัติอยู่ 26 ปีเศษพระชมมายุได้ 54 ปีเศษ กระทำกาลกิริยา ผู้ใดมีเมตตา ไม่ฆ่าสัตว์ อายุยืน ไม่มีเมตตา ฆ่าสัตว์ อายุสั้น"
ในตอนปลายรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระก็มีสิ่งที่คล้าย ๆ กันกับรัชกาลสมเด็จพรเพทราชา เกิดการขัดแย้งกันระหว่างวังหลวงและวังหน้า พระเจ้าท้ายสระคงไม่อยากให้ราชสมบัติแก่กรมพระราชวังบวรซึ่งเป็นพระอนุชา ทรงอยากจะให้พระราชโอรสคือเจ้าฟ้านเรนทร์ซึ่งทรงเป็นที่รักใคร่ของกรมพระราชวังบวรเหมือนกัน แต่เจ้าฟ้านเรนทร์ไม่สนพระทัยในราชสมบัติจึงเสด็จออกผนวชเสียและไม่สึก เมื่อตอนใกล้จะสวรรคต สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงทรงยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัยแทน ทำให้กรมพระราชวังบวรไม่พอพระทัยจึงเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างวังหน้าและวังหลวงขึ้นทันที่ที่พระเจ้าท้ายสระสวรรคต เป็นการรบพุ่งที่นองเลือดขนานใหญ่ภายในพระนครศรีอยุธยา ในที่สุดกรมพระราชวังบวรได้ชัยชนะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ชัยชนะของพระองค์คั้งนี้ทำให้มีการฆ่าฟันเจ้านายและขุนนางข้างราชการทางฝ่ายวังหลวงเกือบหมด แม้แต่บางคนหนีไปบวชเป็นพระก็ยังถูกตามสึกมาประหารชีวิตเสียก็มาก นับเป็นการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง
ถึงแม้ตอนต้นรัชกาลจะเต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณ แต่ระยะหลังมา สมเด็จพระเจ้าบรมโกศก็ทรงประพฤติธรรมราชา เอาพระทัยใส่ในการบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างวัดวาอารามตลอดจนปฏิสังขรณ์ศาสนสถานเก่า ๆ ทั่วราชอาณาจักร อาจกล่าวได้ว่าทรงทำการก่อสร้างสิ่งสำคัญในทางศาสนามากกว่าที่เคยทำมาในสมัยรัชกาลก่อน ๆ ก็ว่าได้ ทั้งนี้ เพราะกรุงศรีอยุธยาในระยะนี้มีความมั่งคั่งเป็นที่สุดอีกทั้งบรรดาบ้านเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะพม่าอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด สมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้รับการยกย่องจากประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในราชอาณาจักรว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่เต็มไปด้วยคุณธรรม และบ้านเมืองก็มีความสงบสุขอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสงบสุขและความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒรธรรมในยุคนี้ ก็แฝงไว้ซึ่งความขัดแย้งที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น เพราะเป็นยุคที่ใครก็อยากมีอำนาจ
เริ่มจากราชสำนักภายในกรุงศรีอยุธยาก่อน เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าบรมโกส และได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงระแวงว่าเจ้าฟ้านเรนทร์หรือเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระราชโอรสพระเจ้าท้ายสระซึ่งทรงผนวชอยู่นั้น ทรงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมากอาจจะได้ราชสมบัติ จึงทรงลอบฟันเอาขณะที่เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จเข้าพระราชฐานมาเฝ้าพระเจ้าบรมโกศแต่ไม่เป็นอันตราย สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงพระพิโรธ โปรดให้ค้นหากรมพระราชวังบวรและผู้ร่วมก่อการมาลงโทษ กรมพระราชวังบวรหนีไปบวช จับได้แต่พระเจ้าลูกเธอทั้งสองมาสำเร็จโทษ ต่อมาความขัดแย้งก็กระจายอยู่ตามกลุ่มพระราชโอรสที่ทรงกรมของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเอง โดยเฉพาะพระราชโอรสที่ต่างพระมารดากัน เริ่มด้วยการคอยจ้องหาความผิดซึ่งกันและกันและใส่ร้ายกัน จนในที่สุดกรมพระราชวังบวรก็ถูกลงโทษจนสิ้นพระชนม์ ในข้อหาที่ลักลอบกระทำชู้กับพระสนมของพระเจ้าบรมโกศ
ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นว่าท่ามกลางความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรมนั้นเต็มไปด้วยความละโมบในอำนาจและการขาดศีลธรรมในกลุ่มชนชั้นผู้ปกครองบ้านเมือง การที่กรมพระราชวังบวรทำร้ายพระสงฆ์ก็ดี หรือลอบกระทำชู้กับพระสนมของพระราชบิดาก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดี ในที่สุดความแตกแยกที่เกิดขึ้นนั้นก็ทำให้กลุ่มคนดีมีศีลธรรมเกิดความเบื่อหน่ายหันไปหาความสงบทางศาสนาเป็นที่พึ่ง อย่างเช่นเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เป็นต้น สมเด็จพระเจ้าบรมโกศเองก็ทรงตระหนักถึงความแตกแยกกันในบรรดาพระราชโอรส เจ้านายและขุนนาง เมื่อมีการเสนอให้ตั้งกรมพระราชวังบวรใหม่นั้น ทรงเลือกเจ้าฟ้าอุทุมพรหรือกรมขุนพรพินิต ให้ดำรงตำแหน่งเป็นการข้ามหน้าเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งเป็นพระเชษฐา ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเป็นผู้ "โฉดเขลา หาสติปัญญาและความเพียรไม่ได้ ถ้าจะให้ดำรงถานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชกิจสิ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย" จึงทรงบังคับให้เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีไปผนวชเสีย เมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคตทรงมอบราชสมบัติให้กรมพระราชวังบวร และให้หาพระเจ้าลูกเธอที่ทรงกรมมาถวายสัตย์ยอมเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทต่อหน้าพระที่นั่ง
กระนั้นก็ดี ก็หาได้ยุติความขัดแย้งไม่ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จสวรรคตแล้ว บรรดาพระราชโอรสที่ทรงกรมทั้งหลายก็ก่อความวุ่นวายขึ้น เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรต้องใช้กำลังจับกุมมาสำเร็จโทษเสียหลายพระองค์ พอปราบเสร็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเชษฐาทรงแสดงเจตจำนงให้เห็นว่าต้องการราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเลยถวายราชสมบัติให้แล้วเสด็จออกผนวช ณ วัดประดู่ทรงธรรม
การขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีหรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์นั้น เป็นเหตุให้บรรดาเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการที่ดีมีความรักบ้านเมือง ลาออกจากราชการไปบวช หรือย้ายไปอยู่ตามชนบทเป็นจำนวนมาก ปล่อยให้ราชสำนักเต็มไปด้วยเจ้านายที่อ่อนแอและขุนนางที่ประจบสอพลอ ถึงแม้ว่าจะมีผู้คบคิดกันถอดถอนพระเจ้าเอกทัศน์ออกจากราชสมบัติ แล้วจะเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกลับเข้ามาครองราชย์ดังเดิมอีกก็ไม่สำเร็จ เพราะสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไม่ทรงร่วมมือด้วย ในที่สุดพระนครศรีอยุธยาก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมและอ่อนแอ ไม่อาจเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเช่นในสมัยก่อน ๆ ได้ บรรดาเจ้านายและขุนนางที่เป็นเจ้าหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ก็เริ่มไม่เห็นความสำคัญของกรุงศรีอยุธยา หันไปสะสมความมั่งคั่งข้าทาสบริวารและอำนาจเพื่อตนเองยิ่งขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยาแต่เพียงในนามเท่านั้น
สภาพการณ์เช่นนี้คือความแตกแยกภายในราชอาณาจักร ตราบใดที่ยังไม่มีการรุกรานจากภายนอกก็สงบดี ความครึกครื้นรื่นเริงที่ควบคู่ไปกับการแสวงหาอำนาจ และการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองของพวกเจ้านายและขุนนางก็ยังดำเนินอยู่ได้ แต่เมื่อมีการรุกรานจากภายนอกขึ้นแล้ว ความอ่อนแอต่าง ๆ ก็ปรากฏอย่างเด่นชัด
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์พม่าตั้งตัวได้ เกิดมีผู้นำที่เข้มแข็งที่กรุงอังวะ พระเจ้าอลองพญาสามารถปราบปรามมอญและบรรดาบ้านเมืองที่แข็งข้อไว้ในพระราชอำนาจได้ ก็ต้องการที่จะแสดงแสนยานุภาพมาตีกรุงศรีอยุธยาเช่นกษัตริย์พม่าในสมัยก่อน จึงยกกองทัพเข้ามาทางเมืองกุยเมืองปราณทางเพชรบุรี ตีบ้านเล็กเมืองน้อยแต่อย่างสบายจนเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทางพระนครได้แต่ปิดประตูพระนครสู้ ส่งกองทับออกมาโจมตีพม่าทีใดก็แพ้ทุกที ในระยะนี้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงลาผนวชมาช่วยรักษาบ้านเมือง ความมั่นคงของป้อมปราการแลการที่มีแม่น้ำล้อมรอบเป็นสิ่งที่กีดกั้นการรุกล้ำของข้าศึกโดยแท้ ที่ทำให้พม่าไม่อาจตีหักเข้าโดยง่าย ได้แต่ระดมยิงปืนใหญ่เข้ามา ทำให้ปราสาทเสียหาย แต่คราวนี้เคราะห์ดีของพระนครยังมีอยู่บ้างที่พม่าล้อมอยู่ได้ไม่นานก็ต้องยกทัพกลับไป เหตุเพราะพระเจ้าอลองพญาทรงได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดปืนใหญ่ที่แตกขณะทรงบัญชาการยิงพระนครอยู่ ได้สิ้นพระชนม์ระหว่างทางเสด็จกลับ ทำให้เมืองพม่าว่างกษัตริย์และเกิดความวุ่นวายอยู่พักหนึ่ง
หลังจากที่พม่ากลับไปแล้ว ทางกรุงศรีอยุธยาก็ไม่มีการคาดคะเนเตรียมการอันใดที่จะป้องกันบ้านเมืองในอนาคตเมื่อพม่าหวนกลับมาอีก สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์กลับทรงครองราชย์ดังเดิม ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จออกผนวชดังเดิม บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่เหลวแหลกเช่นเดิม บรรดาเจ้านายและขุนนางในพระนครก็มัวแต่เสวยสุขในการรื่นเริง มัวเมาด้วยลาภยศ กอบโกยแต่ความมั่งคั่งโดยไม่คำนึงถึงไพร่บ้านพลเมือง ส่วนที่อยู่ตามหัวเมืองนอกพระนครก็ถือโอกาสกอบโกยความมั่งคั่ง สะสมกำลังผู้คนไว้เพื่อความมั่นคงของตนเอง
ในระยะนี้ดูเหมือนหลายคนตระหนักดีแล้วว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีอำนาจ และขณะเดียวกันก็อ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อต้านพม่าได้เมื่อมีการรุกรานเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นกรุงศรีอยุธยาจึงอยู่ในสภาพที่ถูกปล่อยเกาะให้ช่วยตัวเอง ดังนั้นเมื่อพม่าจัดการความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองได้แล้ว พระเจ้ามังระซึ่งเป็นกษัตริย์ในสมัยนั้นก็คิดการมาตีเมืองไทยอีก กองทัพพม่าบุกเข้ามาทั้งทางใต้และทางเหนือ ตีบ้านเล็กเมืองน้อยเข้ามาอย่างสบาย จะมีการต่อต้านอย่างเข้มแข็งก็แต่เพียงการรวมกำลังกันของชาวบ้านประชาชนที่ไม่รอพึ่งกำลังทางราชการ อย่างเช่นบ้านบางระจันในเขตจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งต่อต้านและทำความลำบากใจให้แก่พม่าเป็นเวลานานก่อนที่จะพ่ายแพ้แก่พม่าในที่สุด
เมื่อพม่าเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยานั้น ทางกรุงศรีอยุธยาสู้รบอย่างตามมีตามเกิด โดยหวังธรรมชาติช่วยในเวลาน้ำมาท่วมรอบๆ พระนคร จะทำให้พม่าลำบากและถอยกลับไปเอง แต่นับว่าเป็นการคาดการณ์ผิดเมื่อไม่มีกองทัพจากในกรุงออกมารบกวนสร้างความยากลำบากให้ อีกทั้งไม่มีกองทัพจากหัวเมืองมาช่วยตีขนาบ ทำให้พม่าอยู่อย่างสบาย สามารถสร้างค่ายและที่พักหนีน้ำได้ อีกทั้งหาเรือมาใช้ในการศึกอย่างเพียงพอ จึงได้เปรียบทางกรุงเพราะสามารถหาเสบียงอาหารได้สะดวก
ส่วนในกรุงนั้น ยิ่งนานวันเข้าความขัดสนอดอยากก็เพิ่มขึ้น มีการปล้นสะดมทำให้ผู้คนเสียขวัญและในบางครั้งก็มีไฟไหม้เกิดขึ้น จึงอยู่ในสภาวะที่ระส่ำระสายตลอดเวลา รอบ ๆ พระนคร บรรดาพ่อค้าและชาวต่างประเทศก็หมดกำลังใจที่จะช่วยสู้รบกับพม่า ต่างอพยพโยกย้ายไป แต่บางพวกก็ปล้นสะดมวัดวาอารามขนทรัพย์สมบัติมาเป็นของตัวเอง อย่างเช่นพวกจีนที่บ้านสวนพลูเข้าปล้นสะดมพระพุทธบาทเป็นตัวอย่าง โดยเหตุนี้ เมื่อทางกรุงหมดกำลังลง พม่าก็สามารถทำลายป้อมกำแพงเมืองและตีเข้าพระนครได้อย่างสบาย เผาผลาญบ้านเรือน วัดว่า ปราสาทราชวัง กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติที่มีค่าต่าง ๆ กลับไปพม่า ทำให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพไม่มีกฎหมาย ไม่มีศูนย์กลางการปกครอง ทุกหนแห่งอยู่ในสภาพตัวใครตัวมัน เกิดการปล้นสะดมและระส่ำระสายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ยกเว้นแต่ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่พม่าไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือมีกำลังพอจะรักษาตัวเองก็มีคนเข้ามาพึ่งพาอาศัยมากขึ้น ในที่สุดก็ตั้งตัวเป็นก๊กอิสระต่าง ๆ ขึ้นหลายก๊กหลายเหล่า
การเสียพระนครศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายนี้แลเห็นได้ชัดเจนว่า ทางหัวเมืองสำคัญ ๆ ไม่ให้ความร่วมมือ ดูเหมือนมีเจตจำนงปล่อยให้กรุงแตกไปเอง ในขณะเดียวกันก็คิดที่จะตั้งตัวเป็นใหญ่เมื่อมีโอกาสมาถึงเพราะฉะนั้น หลังกรุงศรีอยุธยาแตกแล้วจึงเกิดก๊กอิสระขึ้นอย่างเป็นดอกเห็ด แสดงว่ากำลังคนส่วนใหญ่นั้นกระจายอยู่ภายนอกมาก บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้นำได้ก็มีมาก ถ้าร่วมมือป้องกันบ้านเมืองอย่างจริงจังแล้ว พม่าก็คงไม่อาจเข้าพระนครได้อย่างแน่นอน พม่าเองก็ตระหนักในสภาพการณ์เช่นนี้ ไม่ได้มุ่งหวังที่จะเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นอย่างแต่ก่อน จึงมุ่งที่จะทำลายบ้านเมือง ปล้นเอาทรัพย์สมบัติและกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย เมื่อเลิกทัพกลับไปแล้ว ก็เป็นแต่เพียงแต่งตั้งสุกี้พระนายกองซึ่งเป็นชาวมอญสวามิภักดิ์ให้เป็นแม่กองอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยกวาดต้อนผู้คนและรวบรวมทรัพย์สมบัติส่งไปทางเมืองพม่า
ถ้ามองในมุมกลับ การเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งนี้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของบ้านเมืองขนานใหญ่นั้นเอง
ความขัดแย้งทางสังคมที่มีมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้เพิ่มพูนขึ้นจนสังคมไม่สามารถรักษาดุลยภาพไว้ได้ ถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงเอาในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้นำอ่อนแอไม่สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นภายในได้ ในขณะเดียวกันก็มีการรุกรานจากภายนอกเข้ามาเร่งรัด
แต่ภายหลังการเสียกรุงแล้ว ความเดือดร้อนและความเจ็บปวดที่ได้รับทำให้คนไทยรู้ตัว มีการรวมกำลังกันขจัดข้าศึกศัตรูออกไป หาได้ปล่อยให้บ้านเมืองล่มจมไปตามยถากรรมไม่ การเกิดตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้นมากมายภายหลังกรุงแตกนั้นเป็นประจักษ์พยานสำหรับความรู้สึกดังกล่าว สมดังที่มีคำกล่าวเสมอว่า "กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี" ผู้นำแต่ละก๊กนั้นมีความรู้สึกและมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกันในการที่จะกู้กรุงศรีอยุธยาให้กลับคนมา ความรู้สึกเสียดายราชธานีนั้นมีอยู่ทุกผู้ทุกนาม แต่ที่แสดงออกอย่างซาบซึ้งและกินใจคงไม่มีใครเกินสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 ทรงเป็นขุนนางในราชสำนักก่อนการเสียกรุง ได้แลเห็นทั้งความรุ่งเรืองของพระนคร และความอ่อนแอเหลวแหลกภายในที่มีผลให้เสียพระนครในที่สุด ดังมีแสดงบรรยายในพระราชนิพนธ์เพลงยาวรบพม่าตอนหนึ่งว่า
|
มีแต่บรมสุขา |
ครั้งนี้มีแต่พื้นพสุธา |
อนิจจาสังเวทนาใจ |
ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ |
จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ |
มิได้พิจารณาข้าไท |
เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา |
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ |
ประพฤติการที่ผิดด้วยอิจฉา |
สุภาษิตทานกล่าวเป็นราวมา |
จะตั้งแต่งเสนาธิบดี |
ไม่ควรอย่าให้อรรคฐาน |
จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี |
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี |
จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา |
เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ |
เสียทั้งพระนิเวศวงศา |
เสียทั้งตระกูลนานา |
เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร |
สารพัดจะเสียสิ้นสุด |
ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน |
จึงไม่รู้ก็แก้พระนคร |
เหมือนหนอนเบียฬให้ประจำกรรม |
อันจะเป็นเสนาธิบดี |
ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์ |
ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น |
ป้องกันปัจจาอย่าให้มี |
ที่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่ |
เหมือนไพร่ชาติชั่าช้ากระลาสี |
เหตุภัยใกล้กลายร้ายดี |
ไม่มีที่จะรู้สึกประการ |
.. |
.. |
ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา |
ครั้นทัพเขากลับยกมา |
จงองอาจอาสาก็ไม่มี |
แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ |
จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่ |
ฉิบหายตายลมไม่สมประดี |
เมืองยับอัปรีจนทุกวัน |
|
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวไว้ในพระราชวิจารณ์ว่า "ข้อความตามในพระราชนิพนธ์นี้ ถ้าผู้อ่านพิจารณาด้วยญาณอันหยั่งลงว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่อ่านเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ จะรู้สึกน้ำใจท่านผุ้เป็นต้นตระกูลของเราว่ามีความอัปยศทุกข์ร้อนลำบากยากเข็ญแค้นสักเพียงใด ความคิดเช่นนี้ใช่ว่าจะมีแต่กรมพระราชวัง ย่อมมีทั่วไปในบรรดาผู้มีบรรดาศักดิ์และผู้มีปัญญาในเวลานั้น" แต่ถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้วกรุงศรีอยุธยาไม่ได้เสียไปอย่างสูญเปล่าและกระทบกระเทือนต่อเอกราชของบ้านเมืองแต่อย่างใด หากเป็นการเสียที่ทำให้คนไทยเกิดความสามัคคีกันในการที่จะจรรโลงสังคมไทยให้ดำรงสืบเนื่อง ในขณะเดียวกันก็เป็นพลังกระตุ้นให้เกิดความเข้มแข็งที่จะขยายอำนาจของบ้านเมืองและสร้างราชธานีให้กลับมาคงเดิม ดังเห็นได้จากพระราชนิพนธ์เพลงยาวรบพม่าของกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ 1 อีกตอนหนึ่งว่า
|
จักพ้นเอื้อมมืออย่าสงสัย |
พม่าจะมาเป็นข้าไทย |
จะได้ใช้สร้างกรุงอยุธยา |
แม้นสมดังจิตไม่ผิดหมาย |
สมดังปรารถนาทุกสิ่งอัน |
ถ้าเสร็จการอังวะลงตราบใด |
จะพาใจเป็นสุขเกษมสันต์ |
ไอ้ชาติพม่ามันอาธรรม์ |
เที่ยวล้างขอบขัณธ์ทุกพารา |
แต่ก่อนก็มิให้มีความสุข |
รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา |
แต่บ้านร้างเมืองเซทั้งวัดวา |
ยับเยิบเป็นป่าทุกตำบล |
มันไม่คิดบาปกรรมอ้ายลำบาก |
แต่พลัดพรากจากกันทุกแห่งหน |
มันเล่าอาสัตย์ทรชน |
ครั้งนี้จะป่นเป็นธุลี |
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตีกรุงศรีอยุธยาคืนมาได้ และทำสงครามขับไล่พม่าออกไปจากราชอาณาจักรนั้น ต้องใช้เวลาเกือบตลอดรัชกาลในการปราบปรามบรรดาก๊กต่าง ๆ และการจัดระเบียบภายในบ้านเมืองให้เรียบร้อย กรุงธนบุรีจึงมีสภาพเป็นเมืองหลวงชั่วคราว
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะความมั่นคงทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ จึงเป็นเวลาที่สมควรให้แก่การสร้างพระนครขึ้นใหม่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพพระมหานครฯ ที่อุบัติขึ้นนั้น แท้จริงแล้วก็คือการสร้างพระนครศรีอยุธยาขึ้นใหม่นั้นเอง รัชกาลที่ 1 และสมเด็จกรมพระราชวังบวรทรงสร้างทุกอย่างที่เคยมีในพระนครศรีอยุธยาไว้ในกรุงเทพฯ นับแต่พระมหาปราสาทราชวังก็เป็นการเลียนแบบกรุงศรีอยุธยามาสร้างทั้งสิ้น บรรดาย่านตำบลที่อยู่อาศัยและการค้าขายตลอดจนสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม เช่นวัดวาอารามก็ล้วนมีชื่ออย่างที่เคยมีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาในสมัยรัตนโกสินทร์มีความรุ่งเรืองสุขสำราญยิ่งกว่าเก่า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตอันเป็นที่สักการะของประชาชนทั่วประเทศ และเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองทางพระศาสนาของราชอาณาจักร พระนครเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการค้าขายที่พ่อค้าวาณิชนานาชาติหลั่งไหลเข้ามา แม่น้ำลำคลองแออัดไปด้วยเรือค้าขายใหญ่หน้อยที่มาจากภายนอกและจากหัวเมืองภายใน ทำให้พระนครคือเมืองเวนิสตะวันออกเช่นเดิม ในด้านประเพณีพิธีกรรมและงานรื่นเริงนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ก็ได้รับการฟื้นฟูและปรุงแต่งให้เอิกเกริกยิ่งกว่าเก่า จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงทั่วไปในบรรดานานาประเทศ ในขณะเดียวกัน กรุงศรีอยุธยาใหม่นี้ก็มีอำนาจทางการเมืองยิ่งใหญ่ การสงครามรบพม่าที่ลาดหญ้าและท่าดินแดงในเขตเมืองกาญจนบุรีเป็นประจักษ์พยานที่แสดงว่ากองทัพไทยได้ทำลายพม่าอย่างยับเยินทั้งในด้านยุทธวิธีและกำลังฝีมือ แต่นั้นมาบ้านเมืองพม่าก็ระส่ำระสายและเสื่อมโทรมลงจนตกเป็นประเทศราชของอังกฤาในที่สุด ความย่อยยับของพม่าหลังสงครามกับไทยนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกันกับเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก พม่าได้ชัยชนะในตอนแรกแต่ตอนหลังก็เข้าสู่ความเสื่อมโทรมจนบ้านแตกสาแหรกขาด ในขณะที่ทางไทยประสบความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม จนเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองนั้น เป็นเพียงการเสียไปในสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ในด้านนามธรรมยังคงดำรงอยู่เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของความสืบเนื่องในทางสังคมของประเทศ และความรุ่งโรจน์ในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาติในส่วนรวมจนปัจจุบัน