อยุธยาสยามประเทศ (3)

อยุธยาสยามประเทศ 3

ารสร้างระบบขุนนางศักดินาขึ้นดังกล่าวนี้ ทำให้ทุกคนมุ่งมองอยู่ที่พระมหากษัตริย์ในฐานะศูนย์กลางแห่งอำนาจ เป็นเจ้าชีวิตที่จะกำหนดอนาคตของตน จึงเป็นระบบที่ใช้ในการสร้างความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง

นอกจกการสร้างระบบขุนนางศักดินาที่มีผลทำให้อำนาจในการปกคองและบริหารราชการแผ่นดินมารวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ในเมืองหลวงแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังทรงตระหนักถึงสภาพสังคมของบ้านเมืองในยุคนั้นด้วย

กรุงศรีอยุธยาในตอนนั้นเริ่มเป็นที่รวมของชนหลายชาติหลายภาษา เพราะพระนครเป็นศูนย์กลางการค้าขายและคมนาคม อีกทั้งการทำสงครามขยายพระราชอาณาเขตก็มีผลทำให้การกวาดต้อน ผู้คนต่างเผ่าพันธุ์จากที่อื่น ๆ มาทำให้เกิดความแตกต่างกันในทางวัฒนธรรมของประชาชนภายในราชอาณาจักร จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดบูรณาการในทางสังคมขึ้น จึงทรงกำหนดให้ระบบศักดินามีความหมายที่ครอบคลุมไปถึงไพร่ฟ้าประชาชนด้วย นั่นก็คือการให้พวกไพร่และทาสถือศักดินาคนละ 25 ไร่ ส่วนทาสซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำสุดในสังคมถือศักดินา 5 ไร่ การกำหนดเช่นนี้เท่ากับเป็นการจัดแบ่งชนชั้นและกำหนดสิทธิของแต่ละชั้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกัน

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรแพร่หลายไปทั่วทุกเมืองและหมู่บ้าน ในระดับหมูบ้านนั้น บรรดาเอกสารที่เป็นกฎหมายและพระราชบัญญัติเหล่านี้ ชาวบ้านที่รู้หนังสือมักจะคัดลอกไว้ หรือไม่ก็เก็บไว้ตามวัดวาอารามของท้องถิ่น ชาวบ้านชาวเมืองรู้จักกฎหมายและพระราชบัญญัติที่สืบกันมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนถึงมีการสังคายนาขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า กฎหมายตราสามดวง

เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า การสร้างระบบศักดินาขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น ก็คือการกำหนดลักษณะชนชั้นและสิทธิหน้าที่ต่างๆ ของคนในสังคมไทย ทั้งลักษณะที่เป็นแนวตั้งและแนวนอน

ลักษณะที่เป็นแนวตั้ง ก็คือการแสดงให้เห็นถึงความลดหลั่นกันลงมา ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เจ้านายในพระราชวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ จนถึงไพร่ฟ้าข้าทาส ในลักษณะนี้จะแลเห็นได้ว่า สังคมไทยประกอบด้วยชน 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มผู้ปกครอง อันได้แก่พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และขุนนางข้าราชการ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มผู้ถูกปกครอง อันได้แก่ ไพร่ฟ้า ประชาชน และข้าทาส

ลักษณะที่เป็นแนวนอน นั้นคือการกำหนดความแตกต่างในสิทธิที่สัมพันธ์กับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลในแต่ละชนชั้น ตัวอย่างเช่น บุคคลที่เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าจะมีศักดินาเท่ากันในระดับ 10000 ไร่ก็ตาม แต่ตำแหน่งฐานะอาจแตกต่างกันได้ เช่น ตำแหน่งสมุหนายกย่อมใหญ่กว่า ตำแหน่งของพระนครบาลและเกษตราธิบดี ขุนนางที่มียศชั้นระดับขุนนางหรือหมื่นอาจมีศักดินามากกว่าขุนหรือหมื่นผู้อื่น เช่น ขุนทิพย์โอสถถือศักดินา 600 ไร่ แต่ขุนกุมารแพทย์มีศักดินาเพียงแค่ 400 ไร่ เป็นตัวอย่าง

ระบบศักดินาตลอดจนพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ ที่กำหนดชนชั้นและการแยกประเภทหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคคลในสังคมทุกผู้ทุกเหล่าที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น เป็นเสมือนการวางรากฐานความมั่นคงในการสร้างบูรณาการทางสังคมและการปกครองของประเทศสยาม เป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาในสมัยหลัง ๆ ทรงยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ และแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

นอกจากการปฏิรูปบ้านเมืองในด้านการปกครองและการบริหารแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังทรงพยายามทำให้พระนครศรีอยุธยามีความสง่างามในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักร โดยการปรับปรุงพระราชฐานและศาสนสถานให้เหมาะสมกับกาลเวลา ทรงย้ายพระราชวังที่ประทับซึ่งสร้างมาแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ไปสร้างใหม่ทางเหนือตอนติดกับกำแพงและแม่น้ำลพบุรีซึ่งทำหน้าที่เป็นคูเมืองด้านเหนือ ทำให้มีบริเวณกว้างขวางที่จะจัดสรรให้เป็นพระราชวังที่มีทั้งชั้นนอกและชั้นใน ซึ่งแยกออกได้เป็นบริเวณเพื่อการรักษาความปลอดภัยรอบนอก บริเวณที่ใช้เป็นสถานที่ว่าราชการตลอดจนประกอบพระราชพิธีของบ้านเมือง และบริเวณรโหฐานอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ฝ่ายใน

แต่ก่อนพระราชวังของพระมหากษัตริย์มีขอบเขตไม่กว้างขวางอีกทั้งอาคารเป็นอาคารที่ประทับก็มักสร้างด้วยไม้ในลักษณะที่เรียกว่าเรือนจันทร์ ไม่นิยมสร้างด้วยวัสดุที่คงทนถาวร เพราะเมืองแต่เดิม ๆ มีขนาดเล็กซึ่งมีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบเหมาะแก่การรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว ผู้คนที่อยู่ในเมืองมีจำนวนน้อย ส่วนมากเป็นพวกขุนนางข้าราชการเท่านั้น ไม่ใคร่มีใครแปลกปลอม ตัวเมืองหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเวียงในสมัยก่อนจึงมีสภาพเท่ากับวังในสมัยหลังๆ ลงมานั้นเอง แต่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยาไม่ใช่เมืองหรือเวียงขนาดเล็ก แต่กำลังเติบโตเป็นพระนครที่มีพ่อค้าวาณิชและคนหลายกลุ่มเคลื่อนย้ายเข้ามา เป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคมติดต่อ ย่อมมีผู้คนพลุกพล่าน ยากแก่การถวายความปลอดภัยแก่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จำเป็นต้องปรับปรุงและขยับขยายให้เหมาะสมอย่างยิ่งกว่านี้ การย้ายพระราชวังไปอยู่ใกล้แม่น้ำลพบุรีทางตอนเหนือของพระนครนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่พระมหากษัตริย์ในด้านคมนาคม เพราะง่ายต่อการเสด็จชลมารคไปยังเมืองอื่นๆ ที่อยู่ทางเหนือในยามที่บ้านเมืองเกิดภาวะฉุกเฉินไม่ปลอดภัยได้

วัดพระศรีสรรเพชญ์

อย่างไรก็ตาม การย้ายพระราชวังไปทางเหนือนั้นไม่ได้หมายความว่าทอดทิ้งบริเวณที่เป็นพระราชวังเดิม เป็นแต่เพียงขยับขยายให้กว้างขวางขึ้น บริเวณที่เป็นของเดิมนั้นยังนับอยู่ในพระราชวังเปลี่ยนแต่เพียงว่าถวายให้เป็นที่วัด โดยการสร้าง วัดพระศรีสรรเพชญ์ ขึ้นมาเป็นวัดในพระราชฐาน

 

วัดมหาธาตุ

แต่ก่อนไม่ปรากฏว่าวัดเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง เพราะศูนย์กลางของเมืองคือวัด โดยเฉพาะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองสุโขทัย นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และลพบุรี ล้วนแต่มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นหลักของนครทั้งสิ้น สมัยก่อนรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หลักของพระนครศรีอยุธยาคือวัดมหาธาตุ มีพระปรางค์ประธานสูงใหญ่รายล้อมด้วยพระเจดีย์รายใหญ่น้อยทั้งภายในและภายนอกระเบียงคด นอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังเป็นที่สถิตของพระพุทธรูปและรูปเคารพที่สำคัญทางพระศาสนาที่มีมาแต่ก่อนๆ ซึ่งได้เคลื่อนย้ายมาจาก

พระพุทธรูปศิลาแบบทวารวดี วัดหน้าพระเมรุ

เมืองโบราณที่เคยเป็นนครมาก่อนบ้าง หรือจากการทำสงครามชนะบ้านเมืองใกล้เคียงบ้าง อย่างเช่น พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่กว่าคนประทับนั่งห้อยพระบาทแบบทวารวดี ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรีทางตอนเหนือของตัวเมือง เป็นต้น นอกจากนั้นพระพุทธรูปหินมากมายหลายขนาด เป็นศิลปะแบบลพบุรีที่มีมาก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยาตามพระระเบียงคด เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เสด็จไปตีเมืองพระนครหลวงของกรุงกับพูชาได้นั้น ได้ทรงนำรูปเทวรูปและสิงห์สำริดเป็นจำนวนมากจากเทวสถานที่นครวัดมาถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดนี้ ยิ่งกว่านั้น วัดพระมหาธาตุยังเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลต้องทรงดูแลปฏิสังขรณ์ สร้างพระสถูป และวิหารเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พระราชวงศ์ที่ล่วงลับ หรือเพื่อพระองค์เองอยู่เสมอ เหตุนี้จึงเป็นที่รวมของรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมทางศาสนาหลายยุคหลายสมัยและหลายแบบอย่างด้วย ความสำคัญของวัดพระมหาธาตุในฐานะที่เป็นหลักของพระนครนี้ อยู่ในความคิดและความทรงจำของคนไทยทุกบ้านเมืองในยุคนั้น ดังปรากฏกล่าวถึงในวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น ในโคลงนิราศหริภุญชัย

การที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้น ณ บริเวณที่เคยเป็นพระราชวังมาแต่เดิมนั้น ได้ลดความสำคัญของวัดพระมหาธาตุลงไม่มากก็น้อย เพราะวัดนี้ต่อมาได้กลายเป็นวัดสำคัญของราชสำนักและอาณาจักร เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ มีการสร้างพระสถูปเจดีย์ วิหาร โบสถ์ ทั้งใหญ่โตและสวยงาม เป็นที่สถิตของพระพุทธรูปขนาดใหญ่และสำคัญหลายองค์ เช่น เจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นพระเจดีย์ประฐาน พระพุทธรูปศรีสรรเพชญดาญาณซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนหุ้มทองคำขนาดใหญ่ และพระโลกนาถซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนเช่นกัน วัดพระศรีสรรเพชญ์นี้เป็นแบบอย่างวัดในเขตพระราชฐานที่ทางกรุงเทพมหานครเอาเยี่ยงอย่างมาสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นเมื่อแรกสร้างพระนคร

การให้ความสนใจในการสร้างสิ่งสำคัญทางพระศาสนานี้นับได้ว่าเป็นพระราโชบายหลักอย่างหนึ่งของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเพราะสะท้อนให้เห็นจากการเรียกพระนามของพระองค์เองว่า บรมไตรโลกนาถ เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากพระนามที่สัมพันธ์กับพระรามาอวตารกษัตริย์ในราชวงศ์อู่ทอง และกับพระบรมราชามหาจักรพรรดิราชของกษัตริย์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิแต่ก่อน เป็นการประกาศพระองค์เองในลักษณะที่เป็น พุทธราชา อันเนื่องมาจากการพระองค์เองทรงเป็นที่รวมของพระมหากบัตริย์หลายราชวงค์ โดยเฉพาะราชวงศ์พระร่วงซึ่งมีบทบาทในการเป็นพระธรรมราชาเป็นสำคัญ

การที่เป็นพุทธราชาหรือธรรมราชาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น ก็คือการประกาศพระองค์เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกนั่นเอง การทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนการปกครองแผ่นดินให้สงบร่มเย็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการลดหย่อนความตรึงเครียดและความเหินห่างของพระมหากษัตริย์และขุนนางที่มีต่อประชาชน อันเนื่องมาจากระบบราชการและระบบศักดินาที่ประกาศไว้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่ในมุมกลับก็มีส่วนที่เสริมอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้ยิ่งใหญ่กว่าพระมหากษัตริย์ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก เพราะพระมหากษัตริย์ไทยทรงปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักรในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงพยายามสร้างกรุงศรีอยุธยาให้เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจแห่งราชอาณาจักรสยามอย่างมั่นคง แต่ก็หาได้สำเร็จลุล่วงเป็นผลดีในรัชสมัยชองพระองค์ไม่ มีการขัดแย้งขึ้นบ่อยๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองและบริหารอาณาจักรจากระบบเก่ามาเป็นระบบใหม่นั้น ไม่ใช่ของที่กระทำได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น เจ้านายและขุนนางปรับตัวเข้าสู่ระบบใหม่ยาก โดยเฉพาะเกิดผู้ที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้แก่บรรดาเจ้านายทางฝ่ายสุโขทัยที่เคยปกครองหัวเมืองสำคัญๆ และมีอำนาจมาก่อน จึงเกิดขัดแย้งและเอาใจออกห่างจากรุงศรีอยุธยาหันไปเข้ากับอาณาจักรล้านนา ซึ่งเวลานั้นพระเจ้าติโลกราชกำลังมีอำนาจปราบปรามและรวบรวมเมืองต่างๆ เข้าเป็นอาณาจักรล้านนาโดยมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ การกระทำดังกล่าวนี้ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเผชิญหน้ากับนครเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชส่งกองทัพมายึดเมืองศรีสัชชนาลัย ทุ่งยั้ง และสุโขทัย ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองสำคัญของเมืองพิษณุโลกไว้ได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกถึง 7 ปี เท่ากับการย้ายราชธานีมาอยู่ที่พิษณุโลก ทำให้ราชอาณาจักรอยุธยาต้องแบ่งราชธานีออกเป็นเมืองเหนือและเมืองใต้

เมืองใต้นั้นคือกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สมเด็จพระบรมราชาพระราชโอรสปกครอง และทรงรับผิดชอบราชการบ้านเมืองไปถึงหัวเมืองทางใต้ เช่น นครศรีธรรมราชและเมืองอื่นๆ ในแหลมมาลายู ส่วนเมืองเหนือนั้นได้แก่แค้วนสุโขทัยเดิม

แต่ก่อนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะเสด็จขึ้นมานั้น เมืองพิษณุโลกยังไม่ได้เรียกว่าพิษณุโลก เรียกว่าเมืองสองแควตามที่ปรากฏในศิลาจารึกบ้าง และเมืองชัยนาทตามพงศาวดารและวรรณกรรมบ้าง โดยเฉพาะลิลิตยวนพ่ายซึ่งแต่งขึ้นหลังรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้นเรียกเมืองนี้ว่าชัยนาท เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จประทับอยู่ที่นั้น ได้ทรงตกแต่งขยายขอบเขตเมืองใหม่ให้คลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่าน และสร้างกำแพงและป้อมปราการเมืองใหม่ให้สมกับเป็นราชธานีของกรุงสยามฝ่ายเหนือว่าพิษณุโลก การก่อกำแพงเมืองและสร้างเมืองนี้ให้สำคัญ มีกล่าวถึงในลิลิตยวนพ่าย

ยิ่งกว่านั้น ในระยะที่ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนั้น ก็ได้มีการปรับปรุงบ้านเมืองทางเหนือใหม่ เมืองใดที่อยู่ในตำแหน่งที่ง่ายแก่การโจมตีของข้าศึก หรือไว้ใจไม่ได้ ก็โปรดให้กวาดต้อนผู้คนและครัวเรือนมาไว้ในที่เหมาะสม และได้สร้างเมืองใหม่ขึ้น เช่น เมืองพิชัยในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองหน้าด่านที่ป้องกันการรุกล้ำของพวกล้านนาให้แก่เมืองพิษณุโลก การขัดแย้งกับกรุงล้านนาทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องประทับอยู่เมืองพิษณุโลกถึง 7 ปี ในที่สุดก็สามารถตีเมืองเชียงชื่นหรือศรีสัชชนาลัย เมืองสุโขทัย และเมืองอื่นๆ ที่กรุงล้านนายึดครองอยู่กลับคืนมาได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและพระราชโอรสองค์หนึ่งได้ออกผนวช ณ เมืองพิษณุโลกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ได้สร้างวันจุฬามณีที่เมืองพิษณุโลกเป็นที่ประทับ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ออกผนวชในระหว่างครองราชย์

การออกผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นที่เลื่องลือและยอมรับกันในบรรดารัฐและอาณาจักรใกล้เคียง กษัตริย์มอญและแม้กระทั้งพระเจ้าติโลกราชซึ่งเป็นคู่สงครามก็ส่งทูตมาร่วมในพระราชพิธีผนวชด้วย นับเป็นการยุติศึกสงครามและสร้างไมตรีกับเพื่อนบ้านอย่างได้ผลดียิ่ง

การสงครามและการเผชิญหน้าระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงล้านนานั้น มีผลทำให้อาณาจักรที่เป็นคู่สงครามทั้งสองต้องเอาใจใส่ในการปรับปรุงบ้านเมืองเพื่อรับสถานการณ์ คือมีการแสวงหาและเรียนรู้ทางเทคโนโลยีต่าง ๆ เกี่ยวกับการรบ ที่เห็นได้ชัดก็คือ การสร้างกำแพงเมืองสำคัญด้วยอิฐหรือศิลาแลงให้มั่นคง แทนการสร้างกำแพงด้วยดินหรือปักไม้ระเนียดข้างบนกำแพงอย่างแต่ก่อน มีการนำอาวุธเช่น ปืน มีทั้งปืนใหญ่และปืนเล็กเข้ามาใช้ ความรู้ทั้งสองอย่างนี้อาจได้รับมาจากชาวอาหรับ หรือชาวจีนที่มาค้าขายติดต่อด้วยในขณะนั้น

เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว บ้านเมืองสงบรุ่งเรือง กระนั้นก็ดี ยังไม่ไว้ใจสถานะการณ์เพราะอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกได้ จากความไม่พอใจของเจ้านายที่เป็นเชื้อกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงแต่เดิม เมืองพิษณุโลกจึงยังคงความสำคัญในฐานะราชธานีฝ่ายเหนืออยู่ โดยสมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่เกิดจากพระราชมารดาที่เป็นเชื่อสายกษัตริย์สุโขทัยปกครอง ส่วนทางกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงปกครอง เมื่อสวรรคตแล้วสมเด็จพระราเมศวรจึงเสด็จกลับยังเมืองพิษณุโลกมาเสวยราชสมบัติ ณ พระนครศรีอยุธยาทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แต่ทางเมืองพิษณุโลกก็ยังคงโปรดให้พระราชโอรสปกครองสืบมา ถือเป็นประเพณีสืบทอดมาถึงรัชกาลต่อ ๆ มาด้วย

สมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 อาจกล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการค้าขายทางทะเลกับบ้านเมืองภายนอก ในระยะนี้ได้เกิดวรรณกรรมสำคัญเรื่องหนึ่งคือ กำสรวลสมุทร หรือที่รู้กันทั่วไปว่า กำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงแต่งขึ้นเนื่องในการเสด็จประพาสชลมารคตามลำน้ำเจ้าพระยา จากกรุงศรีอยุธยาไปยังหัวเมืองชายทะเลแถวปากแม่น้ำ พระราชนิพนธ์นี้ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา

ตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ลงมากรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ยุคทองของศิลปะวิทยาการ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ประกอบกับด้วยความสงบสุขภายใน ทำให้เกิดการสร้างวัดวาอารามขึ้นทั้งภายในเมืองหลวงและหัวเมืองต่างๆ วัดที่สำคัญในยุคนี้คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นการต่อเติมจากรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการสร้างสถูปและพระวิหารเพิ่มเติม สร้างพระพุทธรูปยืนบุด้วยทองคำคือ พระศรีสรรเพชญ์ขึ้นเป็นประธานของวัด นับเป็นที่เลื่องลือกันของชาวไทยแล้วชาวต่างประเทศที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น โปรตุเกสส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีและเจรจาเกี่ยวกับเมืองมะละกาซึ่งกรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นขอบขัณฑสีมา นับเป็นครั้งแรกที่ชาวยุโรปเข้ามาทำไมตรีด้วย

ผลที่ตามมาของความสัมพันธ์นี้ก็คือ เริ่มมีการสร้างวัดและเผยแพร่คริสต์ศาสนา และในขณะเดียวกันก็มีการนำวิทยาการใหม่ๆ มาเผยแพร่ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการสร้างป้อมปราการและการสร้างอาวุธปืน และวิทยาการที่เกี่ยวกับการสงคราม เกิดระบบการจัดการทางทหารและการสำรวจสารบาญชีพล การเขียนและการเรียนรู้ตำราพิชัยสงครามขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าที่ทำให้กรุงศรีอยุธยามีอำนาจทางการทหารเหนือบ้านเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ภายใน เช่น ล้านนา ล้านช้าง เป็นต้น

พระมงคลบพิตร

ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง กรุงศรีอยุธยามีทั้งกองทหารที่เข้มแข็งและกองทหารอาสาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพวกโปรตุเกสและลูกหลานชาวโปรตุเกส มาเป็นทหารช่างที่มีความรู้ความสามารถทั้งการสร้างป้อมปราการและการทำการใช้อาวุธปืน ทำให้บ้านเมืองมีความมั่นคงและมีแสนยานุภาพ สามเด็จพระไชยราชาธิราชทรงรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เลิกการมีกษัตริย์หรือเจ้านายครองเมืองเหนือคือพิษณุโลกอย่างแต่ก่อน กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจอย่างแท้จริง และสามารถแผ่อิทธิพลครอบคลุมไปถึงล้านนาประเทศด้วย

ความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชนั้น สะท้อนให้เห็นจากการสร้างพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันยังถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือ พระมงคลบพิตร เป็นพระนั่งปางมารวิชัย ลักษณะศิลปกรรมเป็นแบบอู่ทองและสุโขทัยผสมกัน พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการทะนุบำรุงเรื่อยมาจนทุกวันนี้

 

 

| ย้อนกลับ | หน้าแรก | หน้าต่อไป |