อยุธยาสยามประเทศ (2)

อยุธยาสยามประเทศ 2

นระยะเริ่มต้นของพระนครตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) มาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราชนั้นคงยังไม่มีการก่อสร้างมากมาย อีกทั้งบริเวณตัวเมืองเองก็ยังไม่มีการขยายให้กว้างขวางออกไปไกลจากบริเวณรอบ ๆ หนองโสน

จนกระทั้งรัชกาลของสมเด็จพระนครินทราธิราช เป็นระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเริ่มเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง มีอาณาเขตกว้างขวางอันเนื่องจากการรวมสุพรรณภูมิและสุโขทัยเข้ามาไว้ในอำนาจ การติดต่อค้าขายกันภายนอกเฉพาะกับจีนโดยการนำของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมินั้น ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของการค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีการรับและการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาจากภายนอก มีการผลิตสินค้า สังคโลกและเครื่องปั้นดินเผาส่งไปค้าขายกับต่างประเทศตามหมู่เกาะที่ใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นับเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่นอกเหนือไปจากการส่งสินค้าป่าประเภทต่าง ๆ เป็นสินค้าออก ในระยะนี้เมืองบางเมืองในราชอาณาจักรได้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม เช่นในเมืองในเขตอำเภอชันสูตร จังหวัดสิงห์บุรี เมืองสุโขทัย ศรีสัชชนาลัย และพิษณุโลก เป็นต้น การผลิตเครื่องปั้นดินเผาไปขายต่างประเทศตามที่กล่าวมาแล้ว น่าจะริเริ่มในสมัยสมเด็จพระนครินทราชาธิราชก็เป็นได้ เพราะในสมัยที่ยังดำรงพระยศเป็นเจ้านครอินทร์หรือสมเด็จพระอินทราชา ณ เมืองสุพรรณภูมินั้นได้เคยเสด็จไปเมืองจีน เมื่อเสวยราชย์แล้วก็ยังทรงติดต่อกับประเทศจีน ทรงขอช่างปั้นจีนมาสอนและทำเครื่องถ้วยชามในเมืองไทย โดยเหตุที่พระองค์ทรงเป็นใหญ่เหนือรัฐสุโขทัยด้วยในขณะนั้น คงทรงเลือกเมืองสุโขทัยและศรีสัชชนาลัยเป็นแหล่งอุตสาหกรรม เพราะเป็นแหล่งที่มีดินดีเหมาะแก่การทำเครื่องสังคโลก เหตุนี้ตำนานพงศาวดารจีนเรียกพระองค์ว่าเป็นพระร่วงที่เคยเสด็จไปเมืองจีน และนำช่างจีนเข้ามาสอนการทำสังคโลกในเมืองไทย

กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราชาธิราชมีความมั่งคั่งอันเนื่องมาจากการค้าขายกับต่างประเทศ ผลของความั่นคงทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าสุรุ่ยสุร่ายจากต่างประเทศเข้ามา ที่สำคัญได้แก่ ผ้าแพร ผ้าต่วน เครื่องประดับ เครื่องใช้สอย และอื่นๆ สี่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเครื่องปั้นดินเผาเคลือบชนิดต่างๆ ที่สวยงามจากจีนในสมัยราชวงศ์เหม็ง มีใช้แพร่หลายทั้งในราชสำนักและตามบ้านเมืองในชนบทที่อยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้แล้ว งานช่างศิลปกรรมก็มีความรุ่งเรือง มีการสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่สำคัญตามเมืองอื่นๆ ที่อยู่ภายในราชอาณาจักร เช่น ที่เมืองสุพรรภูมิหรือสุพรรณบุรีก็มีการสร้างพระปรางค์วัดมหาธาตุขึ้น เป็นต้น การสร้างพระปรางค์เป็นพระเจดีย์ประธานคงเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นนี้เอง และแพร่หลายทั่วไปทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองสำคัญ เช่น ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สวรรคโลก ฯลฯ การใช้เครื่องปั้นดินเผาเคลือบมาเป็นเครื่องประดับสถาปัตยกรรมทางศาสนา เข่น กระเบื้องมุงหลังคา ช่อฟ้าบราลี ตลอดจนกระเบื้องปูพื้นโบสถ์วิหารที่พบตามวัดสำคัญต่าง ๆ ในเมืองสุโขทัย ศรีสัชชนาลัย และที่อื่น ๆ ก็เกิดขึ้นในระยะนี้ รวมทั้งงานจิตรกรรมฝาผนักที่เขียนขั้นตามผนังในโบสถ์วิหาร ในพระสถูปเจดีย์ ก็เริ่มแพร่หลาย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ได้รับอิธิพลทางการช่างและศิลปกรรมของจีนทั้งสิ้น

ความรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการรวมทั้งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองที่เกิดมาแต่รัชการของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชนั้น

มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนจากสิ่งต่าง ๆ ที่มีในวัดราชบูรณะซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สร้างขึ้นในการถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชซึ่งเป็นพระราชบิดา แม้ว่าวัดนี้จะได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์และมีการก่อสร้างเพิ่มเติ่มในสมัยหลัง ๆ ต่อมาก็ตาม แต่พระปรางค์ขนาดใหญ่นั้นเป็นของเก่าที่ชี้ให้เห็นถึงความใหญ่โตและแข็งแรงของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช

 

เครื่องทองในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

ภายในพระปรางค์มีกรุที่บรรจุเครื่องราชกุธภัณฑ์ของสมเด็จพระนครินฯ มีพระแสงดาบอาชาสิทธิ์ พระมงกุฎ เครื่องสูง และเครื่องประดับอื่นๆ รวมทั้งหุ่นจำลองประปรางค์วัดราชบูรณะที่ทำด้วยทองคำด้วย รอบๆ กรุมหาสมบัติมีภาพเขียนสีสวยงาม มีภาพของคนจีน พระพุทธรูป ดอกไม้ และนก ซึ่งนับว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญในยุคต้นอยุธยาแห่งหนึ่ง การพบภาพคนจีนนั้นแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่ามีความสัมพันธ์กับจีนอย่างแน่นแฟ้น ยิ่งกว่านั้น ยังพบพระพิมพ์ที่ทำด้วยชิน (โลหะผสมระหว่างเงิน ดีบุก และตะกั่ว) เป็นจำนวนมากที่มีอักษรจีนประทับไว้ข้างหลัง สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น

พระปรางค์จำลอง

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนครินทราชาธิราช หาได้ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่กรุงศรีอยุธยาในด้านการค้าขายกับต่างประเทศ และความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการแต่เพียงอย่างเดียวไม่ หากยังทรงเริ่มต้นการสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ในทางการเมือง ให้แก่พระนครด้วย ดังเห็นได้ว่า ทรงพยายามผนวกกรุงสุโขทัยและสุพรรณภูมิให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกรุงศรีอยุธยา โดยโปรดให้พระราชโอรสองค์ใหญ่คือ เจ้าอ้ายพระยา ไปครองเมืองสุพรรณภูมิ เจ้ายี่พระยาครองเมืองแพรกศรีราชา และเจ้าสามพระยา ครองเมืองชัยนาท คือเมืองสองแควพิษณุโลกในสมัยต่อมา

โดยการเฉพาะการส่งเจ้าสามพระยาไปครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองสำคัญของ แคว้นสุโขทัยขณะนั้น พระองค์ ถือสิทธิ์จากความสัมพันธ์ทางเครือญาติ อันเกิดจากการแต่งงานระหว่างกษัตริย์สุพรรณภูมิ กับสุโขทัยเป็นสำคัญ และเจ้าสามพระยาก็คือราชโอรสที่เกิดจากพระมเหสีที่เป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ สุโขทัย การสร้างหรือบูรณะพระสถูปเจดีย์สำคัญๆ ตามเมืองต่างๆ นั้น ก็ล้วนแต่เป็นการแสดงความเป็นพระจักรพรรดิของพระองค์ ในเรื่องนี้สมเด็จพระนครินทราชาธิราชทรงรักษาอุดมคติของพระมหากษัตริย์แห่ง สุพรรณภูมิที่มีมาแต่เดิม ดังเห็นได้จากพระนามของพระมหากษัตริย์และเจ้านาย สำคัญ ๆ ที่เรียกว่า สมเด็จพระบรมราชา มหาจักรพรรดิราช และพระอินทราชาธิราช เป็นต้น

อุดมคติในเรื่องการเป็นพระจักรพรรดิราชนี้ แสดงออกให้เห็นทั้งในรัชกาลของพระองค์เองและรัชกาลต่อๆ มา อย่างเช่นจารึกลานทองอักษรขอมภาษาบาลีที่พบในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุสุพรรณบุรี กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า จักรพรรดิผู้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในอโยธยา ได้ทรงสร้างพระสถูปองค์นี้ขึ้นต่อมาทรุดโทรมลง พระราชโอรสของพระองค์ผู้เป็นพระราชาของพระราชาทั้งหลายจึงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระสถูปนี้ให้คืนดี

อุดมคติในเรื่องพระจักรพรรดิราชนี้ มักสัมพันธ์กับพระอินทร์ผู้เป็นพระราชาของทวยเทพเบื้องบน พระนามของเจ้านายที่สำคัญจึงเรียกว่า อินทราชา หรือเจ้านครอินทร์ นอกจากนั้นยังสัมพันธ์กับพระราชพิธีเนื่องในโอกาสพิเศษ เช่น พระราชพิธีอินทราภิเษก เป็นต้น เป็นพระราชพิธีที่อุปมาเหมือนการอภิเษกพระอินทร์กลับเข้าไปปกครองบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหนือยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนของโลก ในสมัยเมื่อทวยเทพปราบปรามความกำเริบของพวกมารได้แล้ว พระราชพิธีนี้ได้มีกล่าวในพงศาวการกรุงศรีอยุธยาว่า ได้กระทำขึ้นในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช

หลังรัชกาลของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช กรุงศรีอยุทธยามั่งคั่งและมั่นคง พระราชโอรสของพระองค์คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงขยายพระราชอำนาจไปตีกรุงกัมพูชาซึ่งรุ่งเรืองขึ้นมาแข่งบารมี ภายใต้การนำของกษัตริย์ราชวงค์อู่ทอง ซึ่งถูกสมเด็จพระนครินทราชาธิราชขจัดออกจากกรุงศรีอยุธยาไป ครั้งนั้นกองทัพกุรงศรีอยุธยายึดได้เมืองพระนครหลวงและขนทรัพย์สมบัติของมีค่า กลับมา เป็นผลให้เมืองพระนครหมดสภาพการเป็นนครหลวงของกัมพูชาไป

เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 สวรรคตแล้ว สมเด็จพระราเมศวร ราชโอรสซึ่งเกิดแต่พระราชมารดาที่เป็นพระราชธิดาของกษัตริย์สุโขทัยได้ขึ้นครองราชย์ในพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีสิทธิธรรมสมบูรณ์ทั้งฝ่ายเมืองเหนือและเมืองใต้ เป็นระยะเวลาที่กรุงศรีอยุธยามีขอบขัณฑสีมากว้างขวาง มีประชากรหนาแน่น มีการติดต่อเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองภายนอกอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในด้านการค้าขาย การรับและแลกเปลี่ยนศิลปวิทยาการ ซึ่งเป็นเวลาที่ต้องมีการปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัย ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็นพระราชาธิบดีที่เป็นปราชญ์ ทรงรอบรู้ทั้งรัฐประศาสนศาสตร์และศิลปศาสตร์เป็นอย่างยิ่งในสมัยนั้น จึงโปรดให้ปฏิรูปลักษณะการปกครองและบริหารราชการบ้านเมืองขึ้นให้มีประสิทธิภาพ

ก่อนรัชกาลของพระองค์ กรุงศรีอยุธยายังมิได้เป็นศูนย์รวมอำนาจในการปกครองแผ่นดินอย่างแท้จริง หากกระจายกันอยู่ตามบรรดาเจ้าเมืองสำคัญๆ โดยเฉพาะบรรดาเจ้าเมืองลูกหลวงและหลานหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระญาติพระวงศ์ไปปกครอง ทำให้เครื่อข่ายของความสำพันธ์ทางอำนาจจำกัดอยู่เพียงแค่ระบบเครือญาติซึ่งไม่มีอะไรจีรัง เมื่อสิ้นรัชกาลของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่แล้ว มักเกิดการแย่งชิงราชสมบัติและความเป็นใหญ่กันเองระหว่างบรรดาเจ้านายที่เป็นเจ้าเมืองใหญ่ๆ เหล่านั้น ดังเช่นเมื่อสิ้นสมัยรัชกาลของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชแแล้ว เจ้าอ้ายพระยาผู้ครองเมืองสุพรรณบุรียกกองทัพเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ทรงชนช้างแย่งราชสมบัติกับเจ้ายี่พระยาพระอนุชาผู้เป็นเจ้าเมืองแพรกศรีราชาถึงแกพิราลัย ขาดคอช้างด้วยกันทั้งคู่ ทำให้ราชสมบัติตกอยู่กับเจ้าสามพระยาผู้ขึ้นครองราชเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงดึงอำนาจในการปกครองแผ่นดินมาไว้ส่วนกลาง ณ ราชธานี ด้วยการยกเลิกการแต่งตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์ให้ไปปกครองเมืองสำคัญดังแต่ก่อน ออกกฎข้อบังคับให้บรรดาเจ้านายอยู่ในพระนคร โดยตั้งให้มีตำแหน่ง ชั้นยศศักดิ์และสิทธิลดหลั่นกันลงมา เพื่อแสดงความแตกต่างในเรื่องฐานะและสิทธิพิเศษของแต่ละบุคคล

ส่วนในเรื่องการปกครองหัวเมืองนั้น โปรดให้มีการแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครองเจ้าเมือง ขุนนาง และคณะกรรมการเมืองแต่ละเมืองมีตำแหน่งยศชั้น ราชทินนาม และศักดินากำกับในลักษณะที่สอดคล้องกับขนาดและฐานะความสำคัญของแต่ละเมือง ถ้าเป็นเมืองใหญ่ก็เป็นเมืองชั้นเอก เจ้าเมืองมียศถาบรรดาศักดิ์สูงเป็นชั้นพระยาหรือออกญาขึ้นไป ส่วนเมืองขนาดรองลงมาก็ได้แค่เมืองชั้นโท และชั้นตรีที่มีเจ้าเมืองตั้งแต่ชั้นพระยา หรือออกญา และออกพระ ลงมาบรรดาเจ้าเมืองเหล่านี้ไม่มีสิทธิขาดในการปกครองและการบริหารอย่างเต็มที่อย่างแต่ก่อน แต่จะต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมของเจ้าในสังกัดใหญ่ในพระนครหลวงซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายทหารและพลเรือน

ฝ่ายทหาร มีสมุหพระกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบ มีการแบ่งเป็น กรม กอง ในด้านจาตุรงคเสนา อันได้แก่ กรมช้าง กรมม้า กรมทหารราบและพวกทหารช่างต่างๆ มีตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ เช่นสีหราชเดโชและท้ายน้ำ เป็นต้น

ส่วนฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายก เป็นรู้รับผิดชอบ แบ่งส่วนราชการออกเป็นจตุสดมภ์อันได้แก่ กรมเวียง วัง คลัง และนา ทำหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะแต่ละเรื่องๆ ไป

บรรดาขุนนางข้าราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนี้มีตำแหน่งยศชั้น บรรดาศักดิ์ และ ราชทินนามกำกับในลักษณะให้มีความรับผิดชอบลดหลั่นกันลงไป ความสำคัญและสิทธิพิเศษของแต่ละคนมีศักดินาเป็นเครื่องแสดงออกเช่น ตำแหน่งสมุหนายกและสมุหพระกลาโหม ถือศักดินาคนละ 10000 ไร่ ขุนนางชั้นผู้น้อยที่มียศเป็นขุนหรือหมื่น มีศักดินาเพียงแค่ 400-200 ไร่ เป็นต้น การกำหนดให้มีศักดินาเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นเครื่องควบคุมความประพฤติของบรรดาเจ้านายและขุนนาง ให้พยายามสร้างความดีความชอบเพื่อขยับฐานะของตนขึ้นไป ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ทำความผิดเพราะอาจจะถูกลดชั้นบรรดาศักดิ์ลงได้ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์แก่ขุนนางผู้กระทำความดีความชอบ และทรงลงโทษลดชั้นและศักดินาแก่ผู้กระทำผิด

 

| ย้อนกลับ | หน้าแรก | หน้าต่อไป |