อยุธยาสยามประเทศ

อยุธยาสยามประเทศ 1

แยนที่กรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายน์

รุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นชุมทางแม่น้ำหลายสาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ซึ่งล้วนแต่เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกับบ้านเมืองภายในทั้งทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทางเหนือ และทางตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสิ้น

ลำน้ำเหล่านี้ได้มารวมกันกับลำน้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณที่ตั้งพระนคร กลายเป็นลำแม่น้ำใหญ่ไหลลงใต้มาออกอ่าวไทย จึงเป็นเส้นทางน้ำใหญ่ที่เรือสินค้าต่างประเทศแล่นเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ เหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงตั้งอยุ่ในทำเลที่เป็นเมืองท่าภายในที่สำคัญ ที่ติดต่อค้าขายและคมนาคมได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงมีสภาพเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมได้ดีกว่าบรรดาเมืองอื่นๆ ในขณะนั้น

ก่อนการสร้างพระนคร บริเวณนี้เคยมีเมืองเก่ามาแล้ว ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของตัวเมืองปัจจุบัน มีชื่อว่า อโยธยา หรืออยุธยาเช่นเดียวกัน ซากเมืองที่ยังเหลือร่องรอยให้เห็นบ้างจากแนวคูน้ำคันดิน และบรรดาศาสนสถานที่ได้รับการเสริมแต่งต่อเติมเรื่อยมา อาทิ วัดอโยธยา (วัดเดิม) วันมเหยงค์ วัดเจ้าพญาไท หรือวัดใหญ่ชัยมงคล และวันพนัญเชิง โดยเฉพาะวัดพนัญเชิงนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่แบบอู่ทอง ที่พงศาวดารระบุว่าสร้างขึ้นก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา 26 ปี โบราณสถานและศาสนสถานดังกล่าวนี้คือประจักษ์พยานที่เด่นชัดว่าบริเวณนี้มีความรุ่งเรืองจึงขึ้นเป็นนครใหญ่มาช้านานแล้ว

เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล

นครอโยธยานี้มีการกล่าวถึงในศิลาจารึกสุโขทัยว่า "อโยธยาศรีรามเทพนคร" หรือ นครพระราม ที่คู่กันมากับเมือง ศรีสุพรรณภูมิ บนฝั่งแม่น้ำท่าจีนทางตะวันออก

คำเรียกชื่อพระนครว่า อโยธยา อยุธยา หรือศรีรามเทพนครดังกล่าวนี้ นอกจากแสดงให้เห็นว่าเป็นการนำเอาชื่อและความหมายที่สัมพันธ์กับพระราม ในคัมภีร์รามายณะของอินเดียโบราณมาใช้ให้เป็นเอกลักษณ์ ของเมืองสำคัญและรัฐที่แต่กต่างไปจากเมืองและรัฐอื่น ๆ แล้ว ยังทำให้ทราบได้ว่า นครอโยธยาหรืออยุธยานี้ เป็นเมืองสำคัญในรัฐละโว้หรือลวรัฐ ที่ดำรงอยู่มาแต่สมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 12

แต่ก่อนเมืองละโว้หรือลวปุระคือเมืองหลวงของรัฐ เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองมาหลายสมัย จนถึงตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 18 จึงค่อยคลายความสำคัญลง ความเจริญเปลี่ยนมาอยู่ที่เมืองอโยธยาแทน เพราะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางทางคมนาคม และเศรษฐกิจได้ดีกว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเมื่อบรรดารัฐและบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ เป็นระบบความเชื่อที่สำคัญ เมื่องอโยธยาจึงเหมาะแก่การที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนานี้ได้ดี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าบรรดาศาสนาสถานและศาสนวัตถุที่เกิดขึ้นในเมืองนี้ล้วนแต่เป็นของที่เกิดในสมัยหลังกว่าบรรดาศาสนสถานในลัทธิพุทธศาสนามหายาน ที่พบที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี ได้มีการนำเอารูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบ ลพบุรี อาทิปราสาทแบบขอม

วัดมเหยงค์

มาดัดแปลงให้เป็นพระปรางค์และพระเจดีย์ขึ้นหลายรูปแบบ เกิดคติการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นเป็นศาสนสถานอย่างที่มีในประเทศลังกาแพร่หลาย เช่นเดียวกันกับบรรดารัฐอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เมืองอโยธยามีพระพุทธรูปพระแงพนัญเชิง และพระประธานวัดธรรมมิกราช (เหลือแต่พระเศียร ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถารแห่งชาติเจ้าสามพระยา อยุธยา) ที่เมืองสุพรรณภูมิมีพระพุทธรูปประธานที่วัดป่าเลไลยก์ ที่เมืองสุโขทัยมีพระพุทธรูปยืนกลางอรัญญิกและพระพุทธรูปประธานวันศรีชุม เป็นต้น

พรประธานวัดพนัญเชิง

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเมืองสำคัญจากกรุงละโว้มายังเมืองอโยธยา และการสร้างศาสนสถานที่เนื่องในพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ตามที่กล่าวมานั้น คงสัมพันธ์กันกับการเปลี่ยนแปลงวงศ์กษัตริย์ไปด้วย ความสัมพันธ์ในทางเครือญาติกับกรุงกัมพูชาลดน้อยลง กษัตริย์ที่ครองอโยธยาหันมามีความสัมพันธ์กับทางสุพรรณภูมิ และนครศรีธรรมราชแทน ความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เข้ามาใหม่ทำให้เกิดการยอมรับกฎของกรรมขึ้น ผู้ที่จะเป็นษัตริย์คือผู้มีบุญที่สะสมในแต่ปางก่อน ไม่จำเป็นที่จะต้องสืบมาจากสันตติวงศ์ เพราะฉะนั้น จึงเปิดโอกาสให้เกิดมีการเปลี่ยนกษัตริย์จากราชวงศ์หนึ่งมายังราชวงศ์หนึ่งได้

สิ่งสำคัญก็คือ เปิดช่องให้บุคคลจากภายนอกเข้ามาผสมผสานเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองได้ ดังจะเห็นได้ว่า ในยุคนี้ซึ่งเป็นระยะที่มีการค้าติดต่อกับจีนเป็นพิเศษ ทำให้ชาวจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งและแต่งงานกับชาวพื้นเมืองทุกชั้นทุกระดับ ตำนานพงศาวดาร หลายฉบับทีเดียวที่กล่าวถึงการแต่งงานของกษัตริย์หรือราชบุตรธิดาของเจ้าบ้านผ่านเมืองกับคนจีน ดังเช่นในประวัติวัดพนัญเชิงที่กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก และเรื่องราวของพระเจ้าอู่ทอง ที่ว่าเป็นบุตรของขุนนางที่เป็นชาวจีน เป็นต้น

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เมืองอโยธยาที่มีมาก่อนหน้าการสร้างพระนครศรีอยุธยานั้นคือเมืองหลวงของรัฐละโว้ ที่มีกษัตริย์วงศ์ใหม่ ๆ ที่นับถือพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ครองอยู่ ได้อ้างความสืบเนื่องมาแต่สมัยที่เมืองหลวงของรัฐยังอยู่ทีละโว้ การต่อเนื่องของรัฐนี้ที่มีมาแต่เดิมอีกอยางหนึ่งก็คือ การเรียกพระนามของพระมหากษัตริย์และเจ้านายพระองค์สำคัญ ๆ ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดี และพระราเมศวร ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องกับชื่อพระนคร และเมืองที่ลอกเลียนมาจากคัมภีร์รามายณะของอินเดีย

การย้ายจากเมืองอโยธยาเดิมทางด้านตะวันออกมาสร้างพระนครศรีอยุธยาขึ้นใหม่นั้น มีสาเหตุมาจากการเกิดอหิวาตกโรคระบาด เจ้านาย ขุนนาง และผู้คนคงเสียชีวิตกันมาก เพราะในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเองก็ระบุว่า เมื่อสร้างพระนครใหม่แล้ว สมเด็จพระรามาธิบดีโปรดให้ขุดศพเจ้าแก้วเจ้าไทยซึ่งเป็นอหิวตกโรคสิ้นพระชนม์ขึ้นพระราชทานเพลิง ณ วัดป่าแก้ว การเกิดโรคระบาดทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีต้องย้ายพระราชฐานมาสร้างพระราชวังที่ประทับชั่วคราว ณ เวียงเล็ก คือบริเวณที่ต่อมาได้สร้างเป็นวัดพุทธไธสวรรย์ขึ้น ทรงเลือกบริเวณหนองโสนซึ่งเป็นที่ดอนอันเกิดจากการทับถมของลำน้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำลพบุรีเป็นที่สร้างพระนครใหม่

เศียรพระประธานวัดธรรมิกราช

อันที่จริงแล้ว บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของเมืองอโยธยามาแต่เดิมแล้ว เพราะการย้ายไปทางตะวันออกนั้นติดลำน้ำและที่ราบลุ่มต่ำ ส่วนทางด้านตะวันตกนั้นนอกจากเป็นที่ดอนแล้ว ยังมีลำน้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยาไหลโอบทางด้านเหนือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ ทำให้เป็นคูเมืองธรรมชาติและเส้นทางคมนาคมในเวลาเดียวกัน

หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการขยายเขตชุมชนมาทางด้านตะวันตกนี้ก็คือ มีร่องรอยวัดเก่าก่อนหน้าการสร้างพระนครศรีอยุธยาหลายวัด เช่น วัดธรรมิกราช วัดขุนเมืองใจ วัดมหาธาตุ เป็นต้น นอกจากนี้ ในบริเวณที่จะสร้างพระราชวังก็ขุดหอยสังข์ทักษิณาวัตรซึ่งเป็นของที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาของชุมชนในบริเวณนี้มาก่อนอีกด้วย

การสร้างพระนครศรีอยุธยาในระยะแรกนั้น ให้ความสำคัญในการใช้ที่ดินบริเวณรอบ ๆ หนองโสน หรือปัจจุบันเรียกว่าบึงพระรามกว่าบริเวณอื่น มีการสร้างพระราชวังขึ้นบริเวณตอนเหนือของหนองน้ำ และบูรณะวัดเก่าซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของหนองโสนขึ้นเป็นวัดมหาธาตุอันเป็นวัดสำคัญของเมือง อาศัยลำน้ำลพบุรีและลำน้ำเจ้าพระยาเป็นคูพระนครทางด้านเหนือ ด้านตะวันตกและด้านใต้ส่วนด้านตะวันออกนั้นคงมีการขุดคูขึ้นโดยให้คูเมืองด้านตะวันออกของเมืองอโยธยาเก่าที่เรียกว่าคูขื่อหน้าเป็นคูเมืองด้านนอก เมื่อสร้างพระนครแล้วก็ได้มีการสร้างและบูรณะวัดสำคัญ ๆ ขึ้นหลายวัด ได้แก่ วัดพระราม เป็นวัดใกล้พระราชวัง วัดพุทธไธสวรรย์ วัดธรรมิกราช วัดสามปลื้ม วัดขุนเมืองใจ เป็นต้น

 

| ย้อนกลับ | หน้าแรก | หน้าต่อไป |