ภูมิหลังสยามประเทศ
ดิินแดนที่เป็นประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่าอินโดจีน ประกอบด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่ละภาคมีลักษณะภูมิประเทศและกลุ่มชนที่มีความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างกัน ถ้าจะกล่าวอย่างรวมๆ แล้ว ผืนแผ่นดินนี้มีมนุษย์อยู่มาแล้วก่อนหมื่นปีขึ้นไป จึงนับว่ามีความเก่าแก่ไม่น้อยกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก การพบเครื่องมือหินที่มีทั้งลักษณะที่ทำไว้อย่างหยาบ ๆ จนถึงมีการขัดแต่งให้เป็นรูปร่างต่างๆ อย่างมีระเบียบแบบแผนนั้น แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทั้งในด้านสังคมและเทคโนโลยีของมนุษย์ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ จากการเป็นสังคมเล็กๆ เที่ยวเร่ร่อนอย่างไม่มีหลักแหล่ง มาเป็นสังคมที่อยู่ติดกับที่ เป็นกลุ่มเป็นเหล่าอย่างมีระเบียบแบบแผนและค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นบ้านเป็นเมือง
การคนพบหลักฐานชิ้นใหม่ ๆ ทางโบราณคดีในขณะนี้ชี้ให้เห็นว่าประมาณ 5000 ที่แล้วมา คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้ตั้งหลักแหล่งเป็นสังคมหมู่บ้านขึ้นก่อนที่ใด ๆ รูจักการเพาะปลูก มีสัตว์เลี้ยงใช้สอยและเป็นพาหนะ ติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของกับกลุ่มชนในบริเวณที่ห่างไกล มีความสามาถในการถลุงและหล่อโลหะขึ้นใช้เป็นเครื่องประดับและเครื่องมือใช้ในการดำรงชีวิต คนเหล่านี้แยกกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นเหล่าตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งในแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช โดยแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบทางวัฒนธรรมของตนเอง เห็นได้จากประเพณีการฝังศพคนตายและรูปแบบของภาชนะ ตลอดจนเครื่องประดับต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีศพ
จากความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่า มีกลุ่มชนที่ต่างกันตั้งหลักแหล่งในภาคตะวันออกเฉียงหนือในสมัยประมาณ 5000 ปีที่แล้วมาอย่างน้อย 3-4 กลุ่มด้วยกัน เช่น กลุ่มชนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำสงครามในแอ่งสกลนคร เป็นพวกที่มีวัฒนธรรมแบบบ้านเชียง พวกที่อยู่ในแอ่งโคราชก็ได้แก่ กลุ่มทุ่งสำริดในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน กลุ่มโนนชัยในลุ่มน้ำชีตอนบน และกลุ่มทุ่งกุลาในบริเวณลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่าง เป็นต้น ประมาณ 3000 ปีที่ผ่านมา เกิดชุมชนหมู่บ้านขึ้นทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ผู้คนมีการติดต่อถึงกันและมีความเจริญในทางเทคโนโลยี สามารถหล่อเครื่องประดับและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริด แก้ว และเหล็กได้ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนเหล่านี้แลเห็นได้จากความคล้ายคลึงกันของบรรดาเครื่องประดับและเครื่องใช้ เช่น ลูกปัด กำไลแขน ขวาน หอก เป็นต้น
จนถึงประมาณ 2500 ปี ก็มีการติดต่อเกี่ยวข้องกับกลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลทางทะเลและดินแดนภายใน เช่น จีน เวียตนาม กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า ฯลฯ สภาพสังคมก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากระดับหมู่บ้านมาเป็นสังคมเมืองที่มีหัวหน้าปกครอง
ในระยะนี้บรรดาบ้านเมืองที่อยู่ใกล้ทะเลซึ่งติดต่อกับต่างประเทศได้จะมีความเจริญเติบโดและขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มชนที่อยู่ในภาคกลางและภาคใต้มีความเจริญกว่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการขยายตัวลงสู่ที่ราบลุ่ม สร้างบ้านและเมืองขึ้นตามที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ และในที่สุดก็คลี่คลายขึ้นเป็นรัฐเล็ก ๆ ที่มีเจ้าเป็นผู้ปกครอง
ราว 1800 ปีที่แล้วมา ชาวตะวันตกนับแต่พวกอินเดียไปจนถึงพวกกรีกและโรมันในแถวบทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน ขยายการค้าทางทะเลมายังบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีน ทำให้อารยธรรมจากภายนอกผ่านเข้ามายังดินแดนประเทศไทย บ้านเมืองที่อยู่แถบใกล้ทะเลคือภาคกลางและภาคใต้ มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกดีกว่าที่อื่น จึงมีความมั่งคั่งและความเจริญในทางเทคโนโลยีสูง อารยธรรมอินเดียได้แพร่หลายเข้ามาเป็นแม่บทของความเจริญในด้านศาสนา การเมือง การปกครอง อักษรศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปวัฒนธรรม แก่บ้านเมืองเหล่านี้ เอกสารของกรีก โรมัน อินเดีย และอาหรับ เรียกดินแดนแห่งนี้ว่าแหลมทอง หรือ สุวรรณภูมิ ส่วนจดหมายเหตุจีนกล่าวถึงรัฐและแว่นแคว้นที่พัฒนาขึ้นในยุคนี้ ได้แก่ ฟูนัน กิมหลิน หลิ่งยะสิว พันพัน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณรอบๆ อ่าวไทย นับตั้งแต่ภาคใต้ทางชายฝั่งทะเลตะวันออก มายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง ไปจนถึงปากแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชาและเวียตนาม
ในประเทศไทย แหล่งที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุดในระยะเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 ลงมาคือบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดบ้านเมืองขึ้นหนาแน่นตามลุ่มน้ำต่างๆ ทั้งนี้เพราะนอกจากเป็นบริเวณที่มีที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเลี้ยงคนเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแหล่งที่ติดต่อกับภายนอกทางทะเลได้ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนหลายพวกหลายเหล่าต่างเผ่าพันธุ์ ทั้งจากภายในแผ่นดินใหญ่คือ ทางเหนือ ทางตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ และจากภายนอกที่ห่างไกลเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ผสมผสานกัน มีวัฒนธรรมและภาษาร่วมกัน อิทธิพลของอารยธรรมอินเดียที่รับเข้ามานั้น มีบทบาทสำคัญมากในการประสานให้กลุ่มชนที่มีความเป็นมาแตกต่างกันเหล่านี้ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในทางวัฒนธรรม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในทางการเมือง
บ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในยุคนี้ ไม่ได้รวมกันเป็นอาณาจักรที่มีราชธานี ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครอง แต่มีลักษณะเป็นรัฐเล็ก ๆ ที่มีการวมตัวเป็นกลุ่มๆ ในลักษณะที่คล้ายกับสหพันธรัฐ เมื่อศึกษาดูจากรูปแบบและการกระจายตัวของชุมชนโบราณในภูมิภาคนี้ พอจะแบ่งออกได้เป็น สองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และกลุ่มซีกตะวันออก
กลุ่มบ้านเมืองซีกตะวันตกนั้น อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนเป็นส่วนใหญ่ บ้านเมืองกระจายกันอยู่ตามริมฝั่งน้ำต่างๆ เมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อทั้งภายในและภายนอกคือเมืองอู่ทอง ตั้งอยู่เชิงเขาท่าเทียม มีร่องรอยของลำน้ำใหญ่ที่เรือสินค้าจากทะเลเข้ามาจอดทอดสมอที่หน้าเมืองได้ พบโบราณวัตถุที่เป็นของมาจากต่างประเทศ เช่น ลูกปัด ดวงตรา เหรียญเงิน เครื่องประดับจากอินเดีย กรีก โรมัน จีน และจากทางตะวันออกกลางหลายชนิด
กลุ่มบ้านเมืองซีกตะวันออก ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ค่อนข้างสูงของลำน้ำบางปะกง ลำน้ำลพบุรี และป่าสัก เป็นบริเวณที่มีเส้นทางติดต่อไปยังบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบริเวณเขมร ทั้งในเขตทะเลสาบและปากแม่น้ำโขง เมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อทั้งภายในและภายนอกบริเวณนี้ได้แก่เมืองศรีมโหสถ ในเขตอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี พบโบราณวัตถุที่มาจากต่างประเทศเช่นเดียวกับเมืองอู่ทอง และมีลำน้ำเก่าที่เรือเดินทะเลยเข้ามถึงบริเวณหน้าเมืองได้เช่นกัน
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมา บ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีการขยายตัวหนาแน่นขึ้น เกิดเมืองใหญ่ ๆ ขึ้นแทนที่เมืองสำคัญแต่ก่อนตามบริเวณลำน้ำสำคัญ ๆ หลายแห่ง
ทางซีกตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการขยายตัวจากบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนไปยังลุ่มน้ำแม่กลองและลุ่มน้ำเพชรบุรี และบริเวณตอนเหนือน้ำเข้าไปในเขตจังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์ เมืองสำคัญที่พัฒนาขึ้นในช่วงเวลานี้คือเมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) และเมืองคูบัวในเขตจังหวัดราชบุรี
ส่วนทางซีกตะวันออกมีเมืองละโว้หรือลพบุรีพัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองสำคัญของภูมิภาค มีการขยายตัวของบ้านเมืองไปทางเหนือตามลำน้ำลพบุรีไปยังจังหวัดนครสวรรค์ และลำน้ำป่าสักขึ้นไปยังหุบเขาเพชรบูรณ์ ไปติดต่อกับบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ถ้าจะดูลักษณะความสัมพันธ์ของบ้านเมืองในประเทศไทยในยุคนี้ จะเห็นได้ว่ามีทิศทางตั้งแต่ภาคใต้ มายังภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคกลางเป็นบริเวณที่มีบ้านเมืองติดต่อกับโลกภายนอกกระจัดกระจายกันอยู่ ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นกลุ่มของบ้านเมืองภายใน ในระยะเวลานี้ยังไม่มีการติดต่อหรือการขยายตัวของบ้านเมืองไปทางเหนือแต่อย่างใด
ในยุคตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ลงมานี้ ถ้ามองตามความคล้ายคลึงกันในทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันแลเห็นได้จากลักษณะทางศิลปกรรมของศาสนสถานและศิลปวัตถุแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นสมัยทวารวดี เพราะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับของในยุคหลัง ๆ ลงมา ความแตกต่างในทางวัฒนธรรมระหว่างบ้านเมืองทางซีกตะวันออกและซีกตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น เห็นได้แต่เพียงความแตกต่างในเรื่องลัทธิศาสนาและระบบความเชื่อ
ทางซีกตะวันตกอันมีนครชัยศรีและคูบัวเป็นเมืองสำคัญนั้นนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาสำคัญ มีการสร้างพระสถูปเจดีย์และพระพุทธรูปขนาดใหญ่และน้อยมากมาย ล้วนมีฝีมือในการสร้างระดับสูงทั้งสิ้น
ทางซีกตะวันออกเน้นการสร้างศาสนสถานและรูปเคารพในลัทธิศาสนาฮินดูเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้รังเกียจการสร้างศาสนสถานและวัตถุในทางพระพุทธศาสนา ทำให้ทั้งฮินดูและพุทธศาสนาอยู่รวมกันได้
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างกันในลัทธิศาสนาดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการมีขอบข่ายทางการเมืองที่แตกต่างกันด้วย ทางซีกตะวันตกมีเมืองนครชัยศรีเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเมืองที่นับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก ส่วนทางซีกตะวันออกมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลาง และรู้จักกันในนามของรัฐที่เรียกว่าทวารวดี มีความสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเมืองที่อยู่ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือที่เรียกว่ากลุ่มอิสานปุระ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาการเป็นอาณาจักรเมืองพระนครหรือกรุงกัมพูชา
จนกระทั้งพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา บ้านเมืองในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ก็มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างใหญ่โต อันเนื่องมาจากการที่จีนขยายนโยบายการค้าขายกับบ้านเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดเมืองท่าในเขตใกล้ทะเลเพิ่มขึ้น มีการขยายเส้นทางการค้าเข้าสู่ดินแดนภายในของแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้นเพราะแต่ละเมืองก็ต้องการสินค้าป่าที่ได้จากดินแดนภายใน
การขยายตัวของเส้นทางการค้านี้ ทำให้เปลี่ยนทิศทางการติดต่อระหว่างบ้านเมืองเดิม จากทางใต้มายังภาคกลางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นจากภาคกลางไปทางทิศเหนือขึ้น ในระยะนี้เริ่มมีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนจากที่สูงและที่ราบลุ่มในท้องถิ่นต่าง ๆ เข้ามาตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองตามเส้นทางการค้าที่เกิดขึ้นภายใน
ในภาคเหนือของประเทศไทยเกิดรัฐหริภุญชัยหรือลำพูนขึ้นในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน และกลุ่มบ้านเล็กเมืองน้อยในเขตลุ่มน้ำกก แม่อิง และลุ่มน้ำโขงตอนบนในเขตจังหวัดเชียงราย รวมทั้งในบริเวณลุ่มน้ำยมและน่านตอนล่างในเขตจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ และพิษณุโลกด้วย ยิ่งกว่านั้น เกิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมกับบ้านเมืองที่อยู่ใกล้เคียง ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเกี่ยวข้องกับรามัญประเทศหรือเมืองมอญในแถวลุ่มน้ำสาละวินและพวกพุกามในเขตลุ่มน้ำอิรวดี ทางเหนือเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในเขตประเทศลาว ยูนนาน และเวียดนาม ในบริเวณตอนบนของที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง สวนทางตะวันออกเกี่ยวข้องกับกัมพุชเทศ หรืออาณาจักรกัมพูชา
ภายในประเทศไทยเองก็มีการแบ่งกลุ่มบ้านเมืองออกเป็นเขต ๆ เช่น ทางเหนือเป็นเขตของ หิริภูญชัยและโยนก ทางภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกเป็นกลุ่ม สยามประเทศ และ ละโว้ หรือกัมโพชรัฐ
บ้านเมืองในที่เกิดในยุคนี้ไม่ว่าภายในประเทศไทยหรือที่อยู่ในประเทศใกล้เคียง ต่างก็ให้ความสำคัญแก่จีนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก มักมีการส่งเครื่องบรรณาการและทูตไปติดต่อค้าขายกับจีน และในขณะเดียวกันก็ต้องการให้จีนยอมรับฐานะความสำคัญทางการเมืองของตน การผลัดเปลี่ยนกษัตริย์หรือเจ้าเมืองสำคัญของแต่ละรัฐนั้น จีนทำหน้าที่รับรองให้ แต่ในด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรม กฎหมาย และประเพณีในการปกครองนั้น ยังยึดอินเดียเป็นหลักดังแต่เดิม
ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างบ้านเมืองในประเทศไทยกับประเทศใกล้เคียงก็คือ บริเวณประเทศไทย บ้านเมืองแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ในลักษณะที่ไม่มีแห่งใดเป็นศูนย์กลางทางการเมืองอย่างแท้จริงมานานแล้ว ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีล้วนเน้นไปในทางพุทธศาสนาที่นิยมให้ความเป็นอิสระแก่กัน ทำให้ไม่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น เช่นบ้านเมืองในประเทศพม่าทางตะวันตกและประเทศกัมพูชาทางตะวันออก ซึ่งมีพัฒนาการถึงขึ้นเป็นอาณาจักรมาก่อน ยิ่งกว่านั้นบริเวณประเทศไทยเองก็มีพื้นที่กว้างใหญ่ ทำให้ผู้ขยับขยายไปตั้งบ้านเมืองและถิ่นกำเนิดตามที่ต่างๆ อย่างเป็นอิสระได้ โดยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในดินแดนประเทศไทยจึงเกิดขึ้นง่ายและรวกเร็วกว่าบ้านเมืองในประเทศใกล้เคียง
นับแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ลงมานั้น อาจกล่าวได้ว่า แต่ละท้องถิ่นแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยล้วนมีรูปแบบทางวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน บ้านเมืองหรือรัฐแต่ละกลุ่มหล่าพยายามสร้างสรรค์ความเป็นตัวเอง ด้วยการรับอารยธรรมจากบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นอาณาจักรมาปรุงแต่งให้เข้ากับของเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่สมัยทวารวดี ปรากฏศาสนสถานแบบขอมในเมืองสำคัญ เช่น ที่เมืองละโว้หรือลพบุรี เมืองในลุ่มน้ำน้อยจังหวัดชัยนาท และเมืองศรีเทพในลุ่มน้ำป่าสัก รูปแบบของรูปเคารพก็เริ่มมีอิทธิพลของศิลปะขอมเข้ามาผสมผสานทำให้เกิดรูปเคารพที่เรียกกันว่าศิลปะแบบลพบุรีขึ้น
กระนั้นก็ดี บ้านเมืองทางภาคกลางก็หาได้รับอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมจากกัมพูชาแต่อย่างเดียวไม่ ยังได้รับอิธิพลมาจากบ้านเมืองทางภาคใต้ จากทางรามัญประเทศ จากพุกามทางตะวันตก และสัมพันธ์กับแคว้นหริภุญชัยทางเหนืออีกด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะบ้านเมืองในภาคกลางนั้นนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ไม่มีการรังเกียจศาสนาอื่น จึงง่ายต่อการรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ยิ่งกว่านั้น การที่ไม่มีการรวมกันเป็นอาณาจักรที่มีศูย์กลางทางการเมือง ณ ที่ใดที่หนึ่งอย่างแท้จริงนั้น ทำให้เจ้าผู้ครองรัฐแต่ละแห่งมีโอกาสสร้างความสำคัญให้แก่ตัวเอง โดยการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติอันเกิดจากการแต่งงาน เช่น ได้มเหสีเป็นราชธิดาของกษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง เหรือไม่ก็จัดให้มีการแต่งงานระหว่างลูกหลานของแต่ล่ะฝ่ายขึ้น กษัตริย์องค์ใดที่มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติสนับสนุนมาก นับว่าเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาวุโสแล้วมักจะได้รับการยกย่องนับถือ ทั้ง ๆ ที่เขตแคว้นที่ปกครองมีขนาดเล็กกว่ารัฐอื่น ๆ กษัตริย์ผู้ปกครองรัฐบางองค์ก็แสวงหาความสำคัญด้วยการทะนุบำรุงพระศาสนา ทำการก่อสร้างศาสนสถาน สร้างขนบประเพณี พิธีกรรม และระบบความเชื่อขึ้นใหม่ แล้วเผยแพร่ให้เป็นที่ยอมรับกันในบรรดารัฐและบ้านเมืองที่มีความสัมพันธ์กัน
ส่วนใหญ่แล้วศิลปวัฒนธรรมที่สร้างขี้นใหม่นั้นก็คือการนำเอาของจากภายนอกที่เป็นที่ยอมรับกันมาช้านานมาปรุงแต่งขึ้นใหม่กับของเดิม ที่มีอยู่แล้วในบ้านเมือง ทำให้เกิดเป็นรูปแบบใหม่ขั้น เพราะฉะนั้นศิลปวัฒนธรรมของบ้านเมืองแต่ละรัฐแต่ละแคว้นจึงมักมีการนำเอาของจากเมืองที่ได้รับการยกย่องว่ารุ่งเรืองเป็นแบบฉบับให้ เอาเยี่ยงอย่างได้เข้ามา ดังเช่นในพุทธศตวรรษที่ 16 ลงมานั้น กรุงกัมพูชาทางตะวันออกก็ดี กรุงพุกามทางตะวันตกก็ดี เมืองลังกาและชวาทางใต้ก็ดี ล้วนเป็นแหล่งอารยธรรมทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรมทั้งสิ้น
จากรูปแบบทางพฤติกรรมของกษัตริย์และเจ้าเมืองในบรรดารัฐต่าง ๆ ในประเทศไทยดังกล่าวมานี้ ทำให้เห็นได้ว่าไม่ทำให้รัฐใด้รัฐหนึ่งหรือเมืองใด เมืองหนึ่งสามารถมีอำนาจเป็นใหญ่กว่าใคร ๆ ได้อย่างมีการสืบเนื่อง จนกระทั่งมีการรวมกันเป็นอาณาจักรได้ ความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์องค์ใดหรือรัฐใดนั้น มักเกิดขึ้นชั่วคราวในสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ หากสิ้นลงไปเมื่อใดก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมและการเมืองขึ้นทันที ถ้าหากผู้ที่เป็นรัชทายาทไม่อาจควาบคุมหรือประนีประนอมกับเครือญาติของตนได้ ก็อาจจะเกิดการขัดแย้งกันในเรื่องการแย่งความเป็นใหญ่ได้ ผลที่ตามมาก็คือ เมืองใด รัฐใด ที่เคยได้รับการยกย่องว่ามีอำนาจ ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นเมืองอื่นหรือรัฐอื่นได้
การคลี่คลายทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่พุทธศตรวรรษที่ 16 ลงมานั้น ทำให้บ้านเมืองในประเทศไทยพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่ของนครรัฐในพุทธศตวรรษที่ 18 มีทั้งรัฐเก่าที่สืบเนื่องมาแต่ก่อน และรัฐใหม่ ๆ ที่เติบโตขึ้น สิ่งที่เหมือนกันของรัฐทั้งสองกลุ่มนี้ก็คือ มีการผสมผสานระหว่างกลุ่มคนที่มาจากภายนอกกับพวกที่อยู่ภายในมาแต่เดิม จนกล่าวได้ว่า กลุ่มบุคคลที่เป็นผู้นำของแต่ละรัฐนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบรรดาผู้ที่สืบเชี้อสายมาจากผู้มีอำนาจมาแต่เดิม ผู้ที่เข้ามาใหม่ก็มีโอกาสกลายเป็นผุ้นำได้ อาจสร้างความเป็นใหญ่ในรัฐเก่าหรือสถาปนารัฐใหม่ ๆ ขึ้นมาได้
กลุ่มรัฐเก่า ได้แก่ ตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช นครชัยศรี สุพรรณภูมิ กัมโพช-อโยธยา และ หริภุญชัย
ส่วนกลุ่มรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นได้แก่ โยนก สุโขทัย แพร่ น่าน และล้านช้าง เป็นต้น กลุ่มรัฐที่เกิดขึ้นใหม่นั้น เกือบทั้งหมดอยู่ในที่ราบลุ่มภายในซึ่งห่างไกลทะเลทั้งสิ้น แต่ว่าตั้งอยู่ในบริเวณที่เส้นทางการค้าและคมนาคมทางบกตัดผ่าน
รัฐสองกลุ่มนี้ แต่ละรัฐไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว แต่มีความสัมพันธ์กันในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองก็มีทั้งการ รวมกลุ่มกันและขัดแย้งกันระหว่างกลุ่ม
จากหลักฐานทางเอกสาร เช่น จารึกจดหมายเหตุจีน และตำนานพงศาวดาร ชี้ให้เห็นว่า ในพุทธศตวรรษที่ 18 นั้น อย่างน้อยมีการรวมกลุ่มของนครรัฐอยู่สองกลุ่มในประเทศไทย คือกลุ่มที่เรียกว่าสยามประเทศกับละโว้
รัฐสำคัญที่สำคัญที่เป็นแกนกลางของแต่ละกลุ่มเป็นรัฐเก่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทางฝ่ายสยามประเทศคือรัฐสุพรรณภูมิในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีและแม่กลอง ส่วนฝ่ายละโว้มี ละโว้-อโยธยาเป็นแกนกลาง มีบริเวณที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำลพบุรีและป่าสัก
รัฐอื่นที่เข้ารวมกลุ่มด้วยกันนั้นมักไม่แน่นอน บางทีก็อยู่ในกลุ่มสยามประเทศแต่ต่อมาก็กลายเป็นพวกละโว้ การเปลี่ยนแปลงและไม่จีรังนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกษัตริย์ผู้เป็นประมุขของรัฐเป็นสำคัญ ในสมัยหนึ่งอาจจะรวมอยู่ในกลุ่มละโว้ แต่เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินหรือเปลี่ยนราชวงศ์ก็อาจมารวมอยู่กับสยามประเทศได้ ยกตัวอย่างเช่นสุโขทัย แต่ก่อนมีความสัมพันธ์กับละโว้และกัมพูชาพอเปลี่ยนกษัตริย์จากราชวงศ์ผาเมืองมากเป็นราชวงศ์ศรีอินทราทิตย์หรือราชวงศ์พระร่วง ก็กลายเป็นกลุ่มสยามประเทศไป
ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 18 กลุ่มรัฐสยามประเทศมีความรุ่งเรื่องในทางเศรษฐกิจกว่ารัฐในกลุ่มละโว้ มีการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมออกไปทั้งภายนอกและภายในประเทศ ที่เกี่ยวกับภายนอกนั้น เห็นได้จากการส่งทูตไปเมืองจีนและทำการค้าขายกับจีน ดังมีหลักฐานระบุไว้ในจดหมายเหตุจีน ส่วนที่เกี่ยวกับภายในนั้น กลุ่มรัฐละโว้ได้ขยายตัวไปตามเส้นทางบก ผ่านหัวเมืองและรัฐที่อยู่ภายในเช่น สุโขทัย ล้านนา ไปติดต่อกับบ้านเมืองในแถวลุ่มน้ำโขงตอนบนทางเหนือ ผ่านหุบเขาเพชรบูรณ์และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปติดต่อกับเวียงจันทน์ และเมืองพระนครในกัมพูชาโดยเฉพาะการเกี่ยวข้องกับกัมพูชานั้น จดหมายเหตุจีนได้ระบุไว้ว่า ชาวสยามนำสินค้าเช่นผ้าไหมมาขาย และในบางครั้งก็รุกรานชาวกัมพูชาอยู่เนืองๆ
สยามแตกต่างจากละโว้ในลักษณะที่เป็นสังคมที่มีการเคลื่อนไหวและง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า เปิดโอกาสให้มีการผสมผสานของคนหลายกลุ่มเหล่า เช่น ชาวจีนจากภายนอก คนไตจากลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวินและอิรวดีทางตะวันออกและตะวันตก กับคนภายในท้องถิ่นที่อยู่มาแต่เดิม
กลุ่มรัฐสยามใช้ ภาษาไทย เป็นภาษาสำคัญในการติดต่อซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันก็ใช้ภาษาบาลี สันสกฤต ขอม และมอญ เป็นภาษาทางราชการและการศาสนา
ส่วนกลุ่มละโว้นั้น มีความสัมพันธ์กับกรุงกัมพูชาอย่างแน่นแฟ้น รับเอาศิลปวัฒนธรรมขอม โดยเฉพาะพุทธศาสนาลัทธิมหายานเข้ามาแพร่หลาย ทำให้เกิดสกุลช่างศิลปะที่เรียกว่าแบบลพบุรีขึ้น
แต่ในเวลาผ่านไป ละโว้ก็หันมามีความสัมพันธ์กับกลุ่มสยามประเทศเพิ่มขึ้น ในที่สุดการอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระรามาธิบดีทางฝ่ายละโว้ซึ่งมีเมืองสำคัญอยู่ที่อโยธยา กับพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งเมืองสุพรรณภูมิซึ่งเป็นรัฐสำคัญของสยามประเทศ ก็ทำให้กลุ่มรัฐละโว้และสยามประเทศมีการรวมตัวกันขึ้น การสร้างพระนครศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. 1893 นั้นเป็นการเริ่มต้นให้เกิดราชธานีซึ่งเป็นศูนย์กลางของกลุ่มรัฐทั้งสองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในระยะนี้จดหมายเหตุจีนกล่าวว่า กลุ่มบ้านเมืองที่เรียกว่า เสียมล้อก๊ก ได้รวมกับ หลอฮกก๊ก เป็นเสียวหลอฮกก๊กแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก ๆ ของการรวมตัวระหว่างรัฐละโว้ หรืออโยธยากับสุพรรณภูมินั้นก็ยังไม่สนิทแน่นแฟ้นดีนัก มักมีการแข่งขันและแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเองในระหว่างกษัตริย์ สองราชวงศ์คือ ราชวงศ์อู่ทอง (ละโว้) ซึ่งเคยเป็นใหญ่มาทางฝ่ายละโว้ และราชวงศ์สุพรรณภูมิทางฝ่ายสยามประเทศ ต่างผลัดกันเป็นใหญ่ในพระนครศรีอยุธยา หลังรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แล้ว สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) จากสุพรรณภูมิก็เข้ามาครองกรุงศรีอยุธยา โดยแย่งชิงความเป็นใหญ่มาจากสมเด็จพระราเมศวรแต่เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช สมเด็จพระราเมศวรก็เสด็จจากเมืองลพบุรี เข้ามาแย้งชิงราชสมบัติจากพระเจ้าทองลั่นซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช เป็นผลให้กษัตริย์ทางราชวงศ์สุพรรณภูมิแยกตัวออกไปตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองสุพรรณภูมิ และพยายามสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้แก่ตนเองโดยการติดต่อค้าขายกับเมืองจีน ส่งเจ้านายและราชทูตไปยังราชสำนักจักรพรรดิจีนเพื่อให้ได้การรับรองยกย่อง ในขณะเดียวกันก็สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองกับรัฐสุโขทัยทางเหนือ
การเกี่ยวดองกันในด้านการอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์ทางสุพรรณภูมิกับทางสุโขทัยนั้น ทำให้ในเวลาต่อมา สุพรรณภูมิมีอำนาจเหนือสุโขทัยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตนเอง ในที่สุดสมเด็จพระนครอินทร์ซึ่งเป็นใหญ่ทางฝ่ายสุพรรณภูมิก็สามารถแย่งชิงความเป็นใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาได้จากสมเด็จพระรามราชาธิราช ซึ่งสืบต่อราชสมบัติมาจากพระราเมศวร สมเด็จพระนครอินทร์เสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนครศรีอยุธยาได้รับพระนามว่า สามเด็จพระนครินทราชาธิราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทางฝ่ายสุพรรณภูมิหรือสยามรัฐที่สามารถรวมละโว้และสยามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างแท้จริง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากรุงศรีอยุธยาก็คือ ราชธานีที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของดินแดนกว้างใหญ่ที่เรียกว่าสยามประเทศ คำว่าสยาม หรือเมืองสยาม ในฐานะที่เป็นเมืองไทยและเป็นศูนย์กลางของเมืองไทยจึงอุบัติขึ้น และเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติเรียกสืบกันมาจนทุกวันนี้