ความนำ
กรุงเทพพระมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นราชธานีที่เป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรมของเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่ได้อุบัติขึ้นอย่างไม่มีรากฐานมาก่อน หากสืบเนื่องมาจากราชธานีเดิมคือกรุงศรีอยุธยาซึ่งต้องโรยร้างไปเพราะการศึกสงคราม และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
แต่ก่อน ๆ ใครก็เชื่อว่าบ้านเมืองไทยนั้นมีเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีแรก แล้วต่อมาก็เป็นพระนครศรีอยุธยา แต่เวลานี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่พิมพ์ขึ้นมาอย่างมากมายนั้นชี้ให้เห็นว่า ก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 ไม่มีเมืองใดเป็นราชธานีที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองของประเทศ แต่บ้านเมืองแบ่งออกเป็นรัฐ ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ละรัฐก็มีเมืองสำคัญของตนเอง เช่น ภาคใต้มีเมืองนครศรีธรรมราช ภาคกลางมีเมืองสุพรรณภูมิและ อโยธยา ภาคเหนือตอนบนมีเมืองเชียงใหม่และภาคเหนือตอนล่างมีเมืองสุโขทัย เป็นต้น
เมื่อเกิดกรุงศรีอยุธยาขึ้นแล้ว ในพุธศตวรรษที่ 20 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เกิดขึ้น รัฐอิสระเหล่านั้นก็ค่อยๆ หมดไป เกิดเป็นราชอาณาจักรขั้น โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครอง เมื่อที่เคยเป็นเมืองสำคัญของรัฐอิสระต่าง ๆ จึงถูกลดฐานะลงมาเป็นหัวเมืองของราชอาณาจักรไป เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่ทางการเมืองแล้ว กรุงศรีอยุธยาคือราชธานีแห่งแรกของเมืองไทย เป็นเมืองที่ถ่ายทอดคติทางการปกครอง ความเจริญทางเทคโนโลยี และศิลปวัฒนธรรมให้กับกรุงเทพมหานครโดยตรงที่สุด
ในทางสังคมและเศรษฐกิจ กรุงศรีอยุธยาได้ถือกำเนิดขึ้นมาในลักษณะเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศทางทะเล ติดต่อกับหัวเมืองภายในและบ้านเมืองใกล้เคียงตามลำน้ำและเส้นทางบก ดังเห็นได้ว่า พระนครนี้ตั้งอยู่ในที่มีลำน้ำใหญ่ๆ หลายสายมาบรรจบกัน รวมเป็นลำน้ำเจ้าพระยาไหลมาออกอ่าวไทย เรือเดินทะเลแล่นจากปากแม่น้ำเข้าไปทอดสมอหน้าเมืองได้สะดวก ส่วนลำน้ำสายอื่นได้แก่ เจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี ก็ล้วนเแต่เป็นเส้นทางคมนาคมที่สินค้าจากหัวเมืองภายในผ่านมารวมกันที่กรุงศรีอยุธยาได้
ในช่วงเวลาที่พระนครศรีอยุธยารุ่งเรืองอยู่นั้น มีพ่อค้านานาชาติเกือบทั่วโลกเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขาย ส่วนบริเวณพระนครเองก็มีตลาดย่านต่าง ๆ ขายสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศเป็นที่เลื่องลือทั่วไป ประชาชนทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาผสมผสานกัน จากการมีเผ่าพันธ์ดั้งเดิมที่แตกต่างกัน มาเป็นคนกลุ่มเดียวกันในนามของชาวสยามหรือ คนไทย มีภาษาและวัฒนธรรมร่วมกันภายใต้การปกครองที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่รุ่งเรือง แต่ก็ไม่รังเกียจเดียดฉันลัทธิศาสนาอื่น พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกแค่ศาสนาอื่น ๆ เท่ากัน เหตุนี้ชนต่างชาติต่างภาษาและพ่อค้าวานิชจึงเข้ามาอยู่ในเมืองไทยได้อย่างสันติสุข
เมื่อเกิดศึกพม่ามาเผาผลาญบ้านเมืองยับเยินไปนั้น กรุงศรีอยุธยามีอันสิ้นไปในลักษณะที่เป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในลักษณะของ นามธรรม เพราะพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงสร้างพระนครศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่ในนามของ กรุงรัตนโกสินทร์ หรือ กรุงเทพมหานคร พระนครที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำใหญ่ในลักษณะเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมและการค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ผังพระนคร ตำแหน่งที่ตั้งของพระมหาปราสาทราชวัง ตลอดจนถึงสถานที่ ตำบล และย่านการค้าต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้เหมือนกับสิ่งที่เคยมีมาแล้วในกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครก็คือการสืบเนื่องของความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยานั่นเอง
โดยเหตุที่กรุงศรีอยุธยามีความหมายต่อความเข้าใจในเรื่องความเป็นมาของความรุ่งเรื่องทางอารยธรรมไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ในที่นี้จึงสมควรที่จะอ้างภูมิหลังที่เกี่ยวกับพัฒนาการของพระนครและความรุ่งเรืองในทางศิลปวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่าง ๆ ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยายังดำรงอยู่ในฐานะราชธานีแรกของประเทศสยามมาเสนอไว้เป็นอนุสรณ์