"สุวรรณภูมิ" อยู่ที่นี่
ที่ลุ่มน้ำจระเข้สามพัน
ย่านแม่กลอง-ท่าจีน

โดย ศรีศักร วัลลิโภดม

คัดลอกจากวารสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2543


พัฒนาการของสังคมในดินแดนประเทศไทยมีหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานถาวรในที่ราบลุ่มเป็นสังคมหมู่บ้านที่มีอาชีพหลักในด้านกสิกรรม แต่ราว ๓,๕๐๐ ปีที่แล้วมา ผู้คนส่วนใหญ่คือผู้ที่เคลื่อนย้ายจากภายนอก คือจากประเทศจีนตอนใต้ผ่านประเทศเวียดนามเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในดินแดนประเทศไทย

การเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานนี้ หาได้ขาดการติดต่อกับถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมไม่ หากเป็นการขยายพรมแดนทางเศรษฐกิจเข้ามา เพราะดินแดนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานนี้ไม่อุดมสมบูรณ์เฉพาะแหล่งทำกินและอยู่อาศัยเท่านั้น หากยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ และทั้งทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด ที่กลุ่มชนที่มีความก้าวหน้าทางความรู้และเทคโนโลยีจากจีนตอนใต้จะใช้เป็นประโยชน์ได้ อย่างน้อยก็มีทรัพยากรสองอย่างที่ทำให้เกิดการแสวงหาและแลกเปลี่ยนกับทางจีนตอนใต้อันเป็นถิ่นฐานแต่เดิมได้ คือพวกแร่ธาตุและของป่า ซึ่งทางบ้านเมืองเดิมและทางจีนเหนือต้องการ

ผลที่ตามมาก็คือพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่สมัย ๒,๕๐๐ ปีลงมา คือมีผู้คนจากจีนตอนใต้เคลื่อนย้ายลงมาเพิ่มเติม เกิดความก้าวหน้าทางด้านการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเล รวมทั้งกลุ่มคนที่เป็นพวกค้าขายทั้งทางบกและทางทะเลขึ้นในดินแดนประเทศไทย

พัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจดังกล่าวแลเห็นได้จากการเติบโตและขยายตัวของชุมชนเป็นบ้านเป็นเมืองหลายแห่งหลายท้องถิ่นมีผู้คนหนาแน่นและสัมพันธ์กับการถลุงโลหะธาตุ อันได้แก่ทองแดงและเหล็ก โดยเฉพาะเหล็กนั้นมีพบมากมายหลายท้องถิ่นทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง นับเนื่องเป็นกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่บ่งชัดว่าพัฒนาการบ้านเมืองในยุคนี้ หาได้มีพื้นฐานอยู่กับการทำกสิกรรม เช่นการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักไม่

ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีหลายท่านให้คำอธิบายว่าการถลุงเหล็กและการนำเหล็กมาใช้นั้นน่าจะได้อิทธิพลมาจากอินเดีย เพราะเหล็กดูเป็นของแปลกใหม่สำหรับจีนและจีนตอนใต้ อีกทั้งในขณะเดียวกันก็พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับอินเดียหลายอย่างแต่สมัย ๒,๕๐๐ ปีลงมา

การสังสรรค์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับภายนอก ทำให้เกิดพัฒนาการทางการเมืองและวัฒนธรรม

การเติบโตทางสังคมแต่สมัย ๒,๕๐๐ ปีลงมาหรืออีกนัยหนึ่งสมัยเหล็กนั้น คือการขยายตัวของชุมชนหมู่บ้านอิสระมาเป็นกลุ่มของบ้านและเมือง แต่ละเมืองก็มีหัวหน้าผู้ปกครอง และสาเหตุของการขยายตัวนั้นไม่ได้มาจากการกสิกรรม ทำนาแต่อย่างใด หากเกิดจากการสังสรรค์กับภายนอกทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ในด้านเศรษฐกิจนั้นพบว่ามีการขยายพรมแดนทางเศรษฐกิจเข้าไปตามพื้นที่ป่าเขาอันเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนบนที่สูง เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าป่าและแร่ธาตุกับสินค้าจำเป็น และสินค้าฟุ่มเฟือยจากแหล่งที่เป็นชุมชนบ้านเมือง ซึ่งการแลกเปลี่ยนดังกล่าวนี้เป็นผลทำให้เกิดเส้นทางการค้าและคมนาคมจากที่ราบไปสู่ที่สูงตามป่าเขา

ลักษณะเช่นนี้แลเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการค้นพบอยู่เรื่อยๆ ในปัจจุบัน ดังเช่นในหุบเขาในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ค้นพบถ้ำบนหน้าผาที่เป็นสุสานของคนโบราณ มีโลงศพรูปร่างคล้ายเรือที่ขุดจากต้นซุงมากมาย ภายในโลงศพพบโครงกระดูกและยังพบพวกเครื่องประดับ เช่น ลูกปัดทำด้วยหินและแก้ว พบกำไลสำริดและเครื่องมือเหล็ก ในขณะที่เบื้องล่างในหุบเขาพบเนินดินที่อยู่อาศัยของคนที่มีเศษภาชนะดินเผา เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้วและหินสี รวมทั้งเครื่องมือเหล็กที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนสินค้าป่าและแร่ธาตุกับภายนอก

บริเวณลุ่มน้ำแควน้อยในเขตตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง และเลยขึ้นไปตามลำแม่น้ำจนถึงเขตอำเภอไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี นักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอาวุธและเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด ในเขตเมืองสิงห์ และที่ถ้ำองบะซึ่งอยู่เหนือน้ำขึ้นไปพบโลงศพรูปเรือที่ทำจากท่อนซุง พบกลองสำริดแบบวัฒนธรรมดองซอนที่มาจากเวียดนามเหนืออันเป็นของที่นับเนื่องในยุคเหล็ก

สิ่งของเหล่านี้นับเป็นสมบัติของคนตายที่อยู่ในบริเวณชายขอบหรือบริเวณที่สูงที่มีการแลกเปลี่ยนกับคนบนพื้นราบในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเส้นทางคมนาคมที่แสดงให้เห็นจากแหล่งโบราณคดีเป็นจุดๆ ไป เมืองสิงห์ริมแม่น้ำแควน้อยนับเนื่องเป็นแหล่งชุมทางคมนาคมที่มีมาแต่สมัยยุคเหล็กอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ก็เกิดเป็นเมืองขึ้น ในขณะที่บริเวณรอบทะเลสาบจอมบึงในเขตจังหวัดราชบุรี เคยเป็นแหล่งชุมนุมชนบนที่ราบลุ่ม ก่อนที่จะเกิดเมืองคูบัวและเมืองราชบุรี

อีกแหล่งหนึ่งที่เพิ่งพบไม่นานมานี้ก็คือ บริเวณเขาต้นน้ำแม่ลำพันในเขตตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย เป็นบริเวณที่เป็นเหมืองแร่เหล็ก มีผู้ขึ้นไปทำการขุดเหล็ก ถลุงเหล็ก และทำแหล่งอุตสาหกรรมทำเครื่องมือเหล็กและทำลูกปัดแก้วและดินเผาจนเป็นบริเวณใหญ่ เป็นแหล่งโบราณคดีที่นับเนื่องแต่ยุคเหล็กมาจนถึงสมัยทวารวดี เป็นแหล่งที่สัมพันธ์กับศูนย์กลางการคมนาคมที่เมืองสุโขทัย และแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของเมืองสุโขทัยนั้นมีที่มาและสัมพันธ์กับแหล่งแร่ธาตุและของป่าในบริเวณต้นน้ำแม่ลำพันมาแต่สมัยก่อนประวัติและสมัยทวารวดีแล้ว โดยเฉพาะในสมัยทวารวดีนั้นเส้นทางการค้าและสถานีการค้าแลเห็นได้จากการพบแหล่งโบราณคดีที่มีเหรียญเงินตราศรีวัสสะเป็นหลักฐาน เมืองละโว้หรือลพบุรีเองก็เป็นเมืองที่เกิดมาจากศูนย์กลางคมนาคมแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับบรรดาแหล่งโลหะธาตุและชุมชนที่ถลุงโลหะ โดยเฉพาะทองแดงบริเวณเทือกเขาวงพระจันทร์ในเขตอำเภอโคกสำโรง

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบแหล่งแร่ทองแดงที่ภูโล้น อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เป็นภูเขาอยู่ริมแม่น้ำโขงมีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีลงมา ในขณะที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสงคราม แม่น้ำมูล และแม่น้ำชีพบชุมชนขนาดใหญ่ที่มีกิจกรรมถลุงเหล็กและทำเกลือเป็นจำนวนมาก ชุมชนเหล่านี้ล้วนมีพัฒนาการในการควบคุมน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของคนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดรูปแบบและเครือข่ายของชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบ มีแหล่งเก็บน้ำและแนวเขื่อนคันดินเพื่อการชลประทานมากมาย

ลักษณะเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้แลเห็นพัฒนาการของชุมชนเป็นบ้านเมืองอย่างชัดเจนแต่ราว ๒,๕๐๐ ปีลงมาอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็มีหลายชุมชนที่แสดงให้เห็นว่าเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่มีการติดต่อกับภายนอก เช่น บ้านเชียงในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ที่พบโบราณวัตถุหลายชนิดที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนตอนใต้และเวียดนามเหนือ และจากบ้านเมืองโพ้นทะเล ยกตัวอย่างเช่น เครื่องประดับสำริดและเครื่องมือสำริดมีหลายอย่างที่รวมสมัยเดียวกันกับวัฒนธรรมดองซอนในประเทศเวียดนาม พบเปลือกหอยทะเลที่มีผู้นำมาเป็นเครื่องประดับที่แสดงให้เห็นว่าผ่านเข้ามาจากทางเวียดนาม ยิ่งกว่านั้นพบลูกปัดแก้วสีน้ำเงินและลูกปัดหินสีที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอินเดียแต่สมัย ๒,๕๐๐ ปีลงมาแต่สิ่งที่ดูเด่นชัดกว่าเพื่อนในเรื่องของการติดต่อกับภายนอกเห็นจะได้แก่บริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ในเขตอำเภอพิมาย-โนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ที่นักโบราณคดีไทยขุดพบตุ๊กตาดินเผารูปม้าในหลุมศพคนโบราณที่มีอายุแต่ ๒,๕๐๐ ปีลงมา ซึ่งเป็นสิ่งสอดคล้องกันกับการขุดพบชิ้นส่วนกระดูกม้าในเขตตำบลโตนด อำเภอโนนสูง ที่แสดงให้เห็นว่ามีม้าซึ่งไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองในแถบนี้อยู่ ม้าและลาเป็นสัตว์พาหนะสำหรับการค้าระยะไกล จึงน่าจะเป็นสิ่งแสดงให้เห็นสถานภาพของการติดต่อทางบกระหว่างที่ราบสูงโคราชสมัยก่อนประวัติศาสตร์กับดินแดนที่ห่างไกล เช่นทางเวียดนามและจีนตอนใต้อย่างชัดเจนการขยายตัวทางการค้าและพรมแดนทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศกับภายนอกประเทศดังกล่าวนี้ยังเป็นสิ่งนำมาซึ่งการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากภายนอก โดยเฉพาะจากจีนตอนใต้และเวียดนามเข้ามาตั้งถิ่นฐานภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางบกและทางทะเล อย่างเช่นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูล-ชีตอนล่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบแหล่งชุมชนโบราณที่เป็นบ้านและเมืองมากมายที่นอกจากสัมพันธ์กับการถลุงเหล็กอย่างเป็นกิจกรรมทางอุตสาหกรรมแล้ว ยังพบประเพณีการฝังศพครั้งที่สอง หรือฝังกระดูกใส่หม้อไหมาแทนที่การฝังศพแบบใส่โลงที่เป็นประเพณีท้องถิ่นแต่เดิม ซึ่งเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่ามีคนกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานประเพณีการทำศพแบบฝังหม้อกระดูกดังกล่าวนี้ พบมากตามชุมชนมนุษย์ที่อยู่ตามแถบชายฝั่งทะเล แต่จีนตอนใต้ เวียดนามและตามหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั่วไป

แต่เมื่อมีการศึกษาเปรียบเทียบแล้วเห็นว่าประเพณีทำศพแบบฝังหม้อกระดูกนี้ ดูคล้ายคลึงกับการฝังหม้อกระดูกของกลุ่มคนที่อยู่ในเขตเวียดนามกลางที่อยู่ในวัฒนธรรมซาหวีนมากกว่าที่อื่นความเป็นไปได้นี้ยังแลเห็นได้จากความใกล้ชิดกันในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์อีกด้วย นั่นก็คือดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาวนั้น มีเทือกเขาขวางกั้นออกจากที่ราบชายทะเลในประเทศเวียดนาม มีเส้นทางที่ผ่านสันปันน้ำมาตามช่องเขาและต้นน้ำลำธารจากฝั่งประเทศเวียดนามมายังลุ่มแม่น้ำโขงโดยไม่ยาก จึงทำให้ดินแดนภาคอีสานหรือลุ่มแม่น้ำโขงเป็นดินแดนภายใน (hinterland) ของเวียดนามไป เกิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างผู้คนที่อยู่ในที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลของเวียดนาม กับกลุ่มชนชาวเผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่บนเขาและที่สูง กับกลุ่มชนที่อยู่ในที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำโขงทั้งในประเทศลาวและไทยด้วย

การที่กล่าวว่ากลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในบริเวณลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่างในยุคเหล็กน่าจะสัมพันธ์กันกับพวกวัฒนธรรมซาหวีนในเวียดนามกลางก็เพราะว่านอกจากรูปแบบในประเพณีฝังศพคล้ายคลึงกันแล้ว พวกซาหวีนเองก็หาใช่กลุ่มชนที่มีอาชีพหลักในการกสิกรรมไม่ หากเป็นพวกที่ชอบเดินทางค้าขาย แม้ว่าจะยังไม่พบร่องรอยทางโบราณคดีเกี่ยวกับการเดินทางค้าขายทางบกในขณะนี้ แต่การค้าขายและการเดินทางทะเลนั้นมีหลักฐานมากมาย ผู้ที่พบร่องรอยการเดินทางค้าขายทางทะเลของพวกซาหวีนก่อนเพื่อนก็คือ ศาสตราจารย์วิลเฮล จี. โซลไฮม แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายอี ซึ่งเป็นนักโบราณคดีชาวอเมริกัน

โซลไฮมพบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอาชีพการเดินทางทะเลระหว่างพื้นแผ่นดินใหญ่กับหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตามแหล่งโบราณคดีที่ชนกลุ่มนี้เหลือให้เห็นไว้ มักจะพบโบราณวัตถุชนิดหนึ่งซึ่งมักเป็นตุ้มหู หรือจี้ห้อยคอ ที่ ๑. เป็นรูปสัตว์มีเขาสองหัว และ ๒. ตุ้มหูที่มียอดแหลมประดับสามยอด ซึ่งทั้งสองประเภทนี้เรียกรวมๆ ว่า ลิง-ลิง-โอ โซลไฮมมักเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ซาหวีน-กาลาไน โดยเอาแหล่งที่พบโบราณวัตถุนี้ทางชายฝั่งของเวียดนามมาผสมกับแหล่งที่พบบนเกาะกาลาไนของฟิลิปปินส์ เพราะฉะนั้นในสายตาโซลไฮมชนกลุ่มนี้คือ ผู้เดินทางระหว่างหมู่เกาะและพื้นแผ่นดินใหญ่ของเอเชียอาคเนย์นั่นเอง

ในดินแดนประเทศไทยความสัมพันธ์กับพวกซาหวีนทางทะเลนั้นพบร่องรอยมานานแล้ว ผู้ที่พบก็คือศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ชินพบจี้รูปสัตว์มีเขาสองหัวในเขตเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอู่ทองกับเวียดนาม และหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลาย โดยคล้อยตามความเห็นของโซลไฮมว่า อายุของโบราณวัตถุที่เรียกว่า ลิง-ลิง-โอ นี้อยู่ในระหว่าง ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาลการพบจี้ห้อยคอที่เรียกว่า ลิง-ลิง-โอ ที่อู่ทองนั้น คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอู่ทองที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน มีการติดต่อกับภายนอกทางทะเลที่มีความเก่าแก่แต่สมัยก่อนคริสตกาลทีเดียว แต่เดิมบริเวณเมืองอู่ทองที่อยู่บนชายขอบที่สูงที่ลาดลงสู่บริเวณที่สบกันระหว่างลำน้ำจระเข้สามพัน ที่ไหลมาแต่เขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี กับลำน้ำท่าว้าที่เป็นลำน้ำสุพรรณบุรีสายหนึ่งแล้วรวมกันเป็นลำคลองสองพี่น้องไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอสองพี่น้องนั้น เชื่อกันว่าเเป็นมืองสุพรรณภูมิที่พระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาเคยครองอยู่ ต่อมาเกิดโรคระบาดทำให้ต้องทิ้งเมืองไปสร้างพระนครศรีอยุธยา เมืองนี้จึงมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เท่านั้น แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเขตเมืองอู่ทองกลับมีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี คืออย่างน้อยก็แต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ขึ้นไป ทำให้ขัดแย้งกับความเชื่อในทางประวัติศาสตร์

ต่อมายังมีการขุดค้นและสำรวจการศึกษากันมากขึ้น เมืองอู่ทองก็มีอายุเก่าแก่ขึ้นไปกว่าสมัยทวารวดี จนถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีการขุดพบโครงกระดูกและเครื่องมือหินขัดกัน รวมทั้งการพบลูกปัด เงินตรา ดวงตราที่มาจากภายนอกโพ้นทะเล และเป็นเหตุให้นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส คือศาสตราจารย์บวสเซอลิเย เสนอว่าเมืองอู่ทองเคยเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรฟูนันที่มีอายุราว ๑,๗๐๐-๑,๘๐๐ ปีลงมา

การเสนอข้อคิดเห็นของบวสเซอลิเยนี้เป็นการลบล้างความเชื่อเดิมที่ว่า ฟูนันอยู่ที่เมืองออกแก้วใกล้ปากแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม แต่ว่านักโบราณคดีไทยท่านหนึ่งคืออาจารย์มานิต วัลลิโภดม กลับให้อายุของเมืองอู่ทองย้อนหลังเก่าแก่ไปกว่าสมัยฟูนัน คือกำหนดให้เป็นจุดสำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิเลย ทั้งนี้เพราะอาจารย์มานิตได้ศึกษาวิเคราะห์บรรดาโบราณสถานวัตถุ ทั้งที่พบที่อู่ทองและบริเวณใกล้เคียงอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว โดยเฉพาะให้น้ำหนักกับบรรดาโบราณวัตถุที่ขุดพบหรือค้นพบโดยศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี

บ้านดอนตาเพชรที่เมืองกาญจน์คือประวัติศาสตร์ "สุวรรณภูมิ"

การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ห่างจากเมืองอู่ทองไปทางต้นลำน้ำจระเข้สามพัน นับเป็นสิ่งที่คลี่คลายประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิอย่างสำคัญ เพราะพบโบราณวัตถุที่นอกจากแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีในยุคเหล็กแล้ว ยังทำให้แลเห็นการติดต่อทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางด้านตะวันตกคือทางอินเดีย และทางตะวันออกคือเวียดนามอีกด้วย

ในด้านพัฒนาการทางเทคโนโลยีก็คือ พบเครื่องใช้สำริดที่หล่อได้ดี และบรรดาเครื่องมือเหล็กชนิดต่างๆ ที่แสดงให้เห็นความซับซ้อนของชนิดหน้าที่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางสังคมว่าไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะการเป็นสังคมหมู่บ้านอย่างแต่ก่อนแล้ว ในขณะที่พวกลูกปัดที่ทำจากหินรัตนชาตินั้นได้รับการตกแต่งสอดสีและลายต่างๆ สวยงามกว่าบรรดาลูกปัดที่พบในรุ่นก่อนๆ นักวิชาการเรียกลูกปัดชนิดนี้ว่า เอทชบีดส์ (atche beads) เป็นรูปแบบที่เป็นอิทธิพลอินเดียโดยตรง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับอินเดียอย่างชัดเจน พร้อมๆ กับบรรดาลูกปัดและวัตถุสำริดและเครื่องมือเหล็กก็พบชิ้นส่วนของภาชนะสำริดที่จารเป็นลวดลายเรขาคณิตและรูปผู้หญิงใส่เสื้อและมีทรงผมรวมกับภาพของควายที่อย่างน้อยก็ทำให้แลเห็นลักษณะทรงผม และการแต่งกายของคนในสมัยนั้นพอสมควรทีเดียว

ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี กำหนดอายุของแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรไว้ประมาณ ๑,๗๐๐ ปีลงมา ซึ่งก็ประมาณสมัยฟูนันนั่นเอง

การพบโบราณวัตถุ เช่น ลูกปัดแบบตกแต่งลายด้วยความร้อน (atche beads) ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับอินเดียของศาสตราจารย์ชิน อยู่ดีนี้สร้างความสนใจให้แก่ ดร.เอียน โกรฟเวอร์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษจากสถาบันโบราณคดี มหาวิทยาลัยลอนดอนเป็นอย่างมาก ได้ขออนุญาตทางกรมศิลปากรเข้ามาทำการขุดค้นต่อที่บ้านดอนตาเพชร ซึ่งผลออกมาก็คือพบโบราณวัตถุเพิ่มขึ้น แต่โบราณวัตถุที่สำคัญที่แสดงให้เห็นการติดต่อกับภายนอกอย่างชัดเจนก็คือ ๑. จี้รูปลิง-ลิง-โอ และ ๒. จี้รูปสิงห์เผ่น ทั้งสองอย่างนี้ทำด้วยหินสีส้มที่เรียกว่า คาร์นีเลียน ความแตกต่างกันระหว่างจี้ทั้งสองชิ้นที่ทำด้วยหินสีแบบเดียวกันก็คือ จี้รูปลิง-ลิง-โอ เป็นแบบอย่างที่มาจากทางตะวันออก โดยเฉพาะทางเวียดนามและหมู่เกาะ ในขณะที่จี้รูปสิงห์เผ่นเป็นแบบอย่างทางอินเดีย เพราะฉะนั้นบ้านดอนตาเพชรคือ บริเวณที่ตะวันตกมาพบตะวันออกโดยแท้

นอกจากนี้ ดร.โกรฟเวอร์ยังพบโบราณวัตถุสำริดรูปกรวยสามเหลี่ยมที่คล้ายคลึงกันกับที่พบในอินเดียด้วย ก็นับได้ว่าทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับอินเดียเพิ่มขึ้น สำหรับการกำหนดอายุนั้นในชั้นแรก ดร.โกรฟเวอร์เห็นสอดคล้องกับศาสตราจารย์ชิน อยู่ดีว่าประมาณ ๑,๗๐๐ ปี หรือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๓ ลงมาก็นับอยู่ในสมัยฟูนัน แต่ต่อมาเมื่อมีการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น ดร.โกรฟเวอร์ก็ให้อายุบ้านดอนตาเพชรสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อนคริสตกาล คือประมาณ ๒,๔๐๐-๒,๓๐๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็นับว่าอยู่ในสมัยยุคเหล็กนั่นเอง

หลังจากการพบแหล่งโบราณคดีที่แสดงการเกี่ยวข้องกับภายนอกทางทะเลที่บ้านดอนตาเพชรแล้ว ก็มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีในทำนองนี้ในหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะในเขตคาบสมุทร คือบริเวณตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช เช่น แหล่งโบราณคดีที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร พบตุ้มหูที่มีมุมแหลมสามมุมซึ่งนับเป็นลิง-ลิง-โอ ชนิดหนึ่ง พร้อมกันนี้ก็พบวัตถุสำริดและกลองมโหระทึกแบบวัฒนธรรมดองซอน และอีกแห่งหนึ่งคือที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็พบลิง-ลิง-โอ แบบที่ตุ้มหูเช่นเดียวกัน ที่เกาะสมุยและอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งบริเวณตำบลท่าเรือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็พบวัตถุสำริดและกลองมโหระทึกแบบวัฒนธรรมดองซอนเช่นเดียวกัน ทำให้ได้ข้อคิดเห็นที่จะต้องนำมาตีความหลักฐานทางโบราณคดีกันใหม่ นั่นก็คือในการเดินทางติดต่อกันกับทางตะวันออก คือทางเวียดนามและจีนใต้นั้นใครเป็นผู้เข้ามา แต่ก่อนคนส่วนใหญ่มักจะเหมาเองว่าเป็นพวกในวัฒนธรรมดองซอนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำซองมาในเขตหัวบินเวียดนามเหนือ เพราะบรรดาโบราณวัตถุที่แพร่หลายเข้ามาในสมัยเหล็กนั้นล้วนสัมพันธ์กับวัฒนธรรมดองซอนเกือบทั้งสิ้น ดังตัวอย่างเช่น กลองมโหระทึกหรือกลองสำริดที่พบในที่ต่างๆ ทั้งพื้นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะของภูมิภาค
เอเชียตะวันออก มาบัดนี้ได้พบโบราณวัตถุที่เป็นของวัฒนธรรมซาหวีนรวมอยู่ด้วย อีกทั้งมีผู้เสนอว่าพวกซาหวีนนั้นเป็นนักเดินทางทะเลที่มีหลักฐานชัดเจนอีกด้วย จึงทำให้ต้องมาคิดว่า ผู้ที่เดินทางเข้ามาในดินแดนประเทศไทยจากเวียดนามและจีนใต้น่าจะเป็นพวกซาหวีนมากกว่าพวกดองซอน หรือว่าเป็นทั้งสองพวกด้วยกัน

สำหรับพวกซาหวีนนั้นปัจจุบันมีการค้นพบหลักฐานใหม่อีกมากมายในประเทศเวียดนาม คือพบถิ่นกำเนิดนี้อย่างแท้จริงในแถบชายทะเลของเวียดนามกลาง รวมทั้งการกระจายไปถึงเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ด้วย กล่าวคือแหล่งโบราณคดีหลายแห่งที่เคยเป็นหลุมฝังศพนั้น พบจี้หรือตุ้มหูแบบลิง-ลิง-โอ ดังกล่าวนี้ฝังรวมอยู่เป็นจำนวนมาก คือมากพอที่จะแสดงว่าเป็นของเฉพาะกลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นลักษณะเฉพาะของชนกลุ่มหนึ่งก็ว่าได้ โดยเหตุนี้บรรดานักโบราณคดีเวียดนามจึงให้ความสนใจและค้นคว้ากันหนัก แล้วเสนอวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้ว่าซาหวีน พร้อมกันก็แก้ไขสิ่งที่ศาสตราจารย์โซลไฮมเคยเสนอในเรื่องซาหวีน-กาลาไน มาเป็นซาหวีนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะยืนยันอย่างมั่นคงว่าเป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอยู่ในเวียดนาม ยิ่งกว่านั้นยังเสนอด้วยว่า พวกซาหวีนเหล่านี้คือบรรพบุรุษของพวกจามหรือจามปาที่ปรากฏโฉมหน้ามาแต่สมัยฟูนันว่าเป็นพวกเดินเรือค้าขายและมีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณตอนกลางของเวียดนาม ซึ่งต่อมาได้สถาปนารัฐจามปาขึ้นมาร่วมสมัยกับรัฐเจนละ ทวารวดี และศรีเกษตรตามที่มีการกล่าวถึงในจดหมายเหตุจีนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒

สุวรรณภูมิอยู่ที่นี่เอง

จากหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยยุคเหล็กที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะสิ่งของที่พบในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ซึ่งอยู่ทางซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน เรื่อยลงไปถึงคาบสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทยนั้น อาจตีความในขณะนี้ได้ว่า เป็นบริเวณที่มีการติดต่อทางทะเลกับดินแดนโพ้นทะเลทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออกอย่างไม่ต้องสงสัย โดยที่มีคนจากทั้งตะวันตกและตะวันออกเข้ามาเกี่ยวข้อง จากทางตะวันตกก็คือพวกอินเดีย ในขณะที่ทางตะวันออกคือพวกซาหวีน-ดองซอน โดยที่ยังไม่ปรากฏร่องรอยของคนจีนแต่อย่างใด การค้าขายระหว่างดินแดนประเทศไทยกับทางจีนคงผ่านกลุ่มคนที่เป็นนักเดินเรือคือ พวกซาหวีน-ดองซอนเหล่านี้ ซึ่งในทำนองตรงข้ามกับทางด้านตะวันตกซึ่งน่าจะมีคนอินเดียเดินทางเรือเข้ามาแล้วแต่สมัยต้นพุทธกาลหรือประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อนคริสตกาลดังที่มีหลักฐานยืนยันจากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ซึ่งปัจจุบันหลักฐานการเดินเรือของชาวอินเดียก็ปรากฏเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่เกาะบาหลีทางตอนเหนือในเขตสิงหราชาก็มีการขุดค้นทางโบราณคดี พบเศษภาชนะของชาวอินเดียที่มีอายุประมาณ ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าการเดินเรือของชาวอินเดียในชั้นแรกนั้น ผ่านช่องแคบมะละกา ชวา
และบาหลีมาสู่อ่าวไทย เพื่อติดต่อกับบ้านเมืองที่อยู่บนคาบสมุทรมาเลย์และลุ่มน้ำเจ้าพระยาซีกตะวันตก ซึ่งนับเนื่องเป็นดินแดนที่เรียกว่า "สุวรรณภูมิ" และสุวรรณภูมิก็คือที่หมายในการเดินทางเข้ามาค้าขายเป็นสำคัญในการรับรู้ของคนอินเดียนั้น หาได้มองสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่ต่ำต้อยเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ไม่ หากสุวรรณภูมิคือดินแดนแห่งความมั่งคั่งที่บุคคลหลายชั้นวรรณะมุ่งหวังที่จะมา อย่างน้อยเรื่องชาดกพระมหาชนกก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความหมายเช่นนี้ของสุวรรณภูมิไม่มากก็น้อย

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในขณะนี้ คือสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าพื้นที่ในสุวรรณภูมิที่มีความเก่าแก่ถึงยุคพุทธกาลก็คือบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลองนี่เอง และบริเวณที่เป็นบ้านเป็นเมืองที่สำคัญในขณะนั้น ก็คงอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มาต่อกับอำเภอพนมทวนนั่นเอง เพราะไม่มีที่ไหนได้พบหลักฐานที่แสดงการมีอยู่ของคนอินเดียเท่ากับบริเวณนี้ถ้าหากจะนำไปพิจารณาเชื่อมต่อกับเรื่องราวการส่งพระสมณทูตโสณะและอุตตระของพระเจ้าอโศกมาสั่งสอนพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิดังมีกล่าวถึงในตำนานมหาวงศ์ของลังกาแล้ว บริเวณนี้ก็น่าจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นที่สมณทูตของพระเจ้าอโศกมาขึ้นบกและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง คือศูนย์กลางของสุวรรณภูมิครั้งพุทธกาล เป็นที่พบปะสังสรรค์ทางเศรษฐกิจของคนพื้นเมือง กับผู้ที่มาจากทางตะวันตกคือพวกอินเดีย และผู้ที่มาจากทางตะวันออกคือพวกซาหวีน-ดองซอน อาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานี้สุวรรณภูมิคือที่หมายของการค้าและการติดต่อของคนจากภายนอกทั้งตะวันตกและตะวันออกที่ดำรงอยู่อย่างสืบเนื่องและเจริญเติบโตเข้าสู่ยุคคริสตกาล หรือประมาณ ๑,๗๐๐ ปีลงมา อันเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองรับเอาอารยธรรมอินเดียมาปรับใช้กับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีมาแต่เดิม ทำให้เกิดการนับถือศาสนาฮินดู พุทธ และมีระบบกษัตริย์ รวมทั้งพัฒนาการทางด้านอักษรศาสตร์ ศิลปกรรมและพิธีกรรมแบบอย่างอินเดียขึ้นมา

ก่อนการรับอารยธรรมอินเดียในสมัยต้นๆ ของยุคเหล็กนั้น ประชาชนและบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยและบ้านใกล้เรือนเคียงได้มีการรวมตัวเป็นหน่วยทางการเมืองที่มีหัวหน้าปกครองดูแลแล้ว (Chiefdoms) หน่วยเหล่านี้บางหน่วยก็มีเผ่าพันธุ์เดียวกัน บางหน่วยก็แตกต่างกันอันเนื่องมาจากความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานแต่สมัยก่อนยุคเหล็กแล้ว และยังคงมีผู้คนที่ต่างชาติพันธุ์เหล่านี้เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เป็นเหตุให้เกิดการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลาจากหลักฐานทางโบราณคดีลักษณะที่เด่นของหน่วยเหล่านี้ก็คือ ประกอบด้วยแหล่งชุมชนที่เป็นศูนย์กลางที่มีขนาดใหญ่และความซับซ้อนทางวัฒนธรรมกับแหล่งเล็กๆ ที่เป็นบริวาร อาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะที่เหมือนกับเมืองและหมู่บ้านในสมัยหลังๆ นั่นเอง ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกว่าเป็นเมือง และแต่ละเมืองก็มีเจ้าเมืองดูแล เมืองแต่ละท้องถิ่นมีขนาดและความเจริญไม่เท่ากัน แต่ต่างก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อกัน บรรดาเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำใกล้ชายฝั่งทะเลหรือบนเส้นทางการค้าที่สำคัญ คือพวกที่มีโอกาสจะเจริญเติบโต เพราะสามารถติดต่อกับภายนอกได้สะดวกทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและวัฒนธรรม

หลายคนเชื่อว่าบรรดาเจ้าเมืองที่อยู่ใกล้ทะเลเหล่านี้คือผู้ที่ทำการค้าขายกับพ่อค้าชาวอินเดียและบรรดาผู้ที่มาจากโพ้นทะเล โดยเฉพาะกับทางอินเดียนั้นมีผลประโยชน์อย่างมากมาย เพราะไม่เพียงแต่จะขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อความมั่งคั่งแล้ว ยังได้รับหลายๆ อย่างทางอารยธรรมจากชาวอินเดียด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่าคนอินเดียที่เข้ามาเหล่านั้น หาได้มีแต่บรรดาพวกพ่อค้าอย่างเดียวไม่ หากมีทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ และผู้มีความรู้หลากหลายทางวิทยาการด้วย ที่เข้ามาเพื่อลี้ภัยทางการเมือง เพื่อผจญภัยและเพื่อเผยแพร่ศาสนาโดยเฉพาะเรื่องเผยแพร่ศาสนานั้นเห็นได้ชัดจากตำนานมหาวงศ์ของลังกาที่กล่าวถึงการเข้ามาของพระโสณะและพระอุตตระในสมัยของพระเจ้าอโศก ยังมีข้อถกเถียงตามมาเรื่องการเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาก็คือ เผยแพร่อย่างไรเพียงพระสงฆ์เข้ามาสั่งสอนชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ หรือเข้ามาสั่งสอนหัวหน้าของหมู่บ้านที่ยังป่าเถื่อนจนเกิดความเลื่อมใส แล้วสนับสนุนให้เกิดการยอมรับกันทั่วไปในขั้นแรกสมัยที่หลักฐานทางด้านโบราณคดีมีน้อย นักปราชญ์ฝรั่งโดยเฉพาะพวกฝรั่งเศสมักมีความเห็นว่าคนอินเดียเข้ามาขยายอาณานิคมด้วยการปราบปรามคนพื้นเมือง แต่งงานกับลูกสาวของผู้นำชนท้องถิ่นแล้วนำเอาศาสนาขนบประเพณีระบบกษัตริย์ ตลอดจนความเจริญทางอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์ต่างๆ ของอินเดีย มาทำให้คนพื้นเมืองมีวัฒนธรรมเป็นแบบคนอินเดียไป ความเชื่อนี้เป็นเหตุให้มองคนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าโง่และสร้างอารยธรรมของตนเองไม่ได้ จึงต้องเป็นอาณานิคมของคนอินเดียไป ซึ่งอย่างน้อยการเรียกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ว่า เกรตเตอร์อินเดีย (Greater India) ก็ดี และเรียกบ้านเมืองของคนเหล่านี้ว่าเป็นอินเดียนไนซ์สเตท (Indianized states) ก็คือสิ่งสะท้อนให้แลเห็นความคิดและความเชื่อดังกล่าว

จากหลักฐานและตีความหมายทางโบราณคดีตามที่กล่าวมานี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์หรือพราหมณ์จากอินเดียมาปราบปรามคนพื้นเมืองแล้วบังคับให้รับนับถือศาสนาและอารยธรรมอินเดียอย่างแน่นอน เพราะดินแดนเอเชียอาคเนย์ที่คนอินเดียสมัยนั้นเรียกว่า สุวรรณภูมิ นั้นมีพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมือง มีหัวหน้าและผู้
ปกครองบ้านเมืองอยู่แล้วการติดต่อกับคนอินเดียทั้งการค้าขายและด้านวัฒนธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ต้องผ่านการรู้เห็นและการยินยอมของบุคคลที่มีอำนาจและเป็นหัวหน้าก่อนเสมอ ยกตัวอย่างเช่น การส่งพระมหินทรเถระ และพระสังฆมิตตาเถรีพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกไปยังศรีลังกานั้น ที่ลังกาก็มีพระมหากษัตริย์ปกครองอยู่แล้วคือ พระเจ้าเทวานัมปิยดิสสะ เป็นต้น จึงทำให้ศาสนาและวัฒนธรรมอินเดียที่ผ่านเข้าไปนั้นอยู่ในสถานที่มีการศึกษาไตร่ตรองและผสมผสานกับประเพณีพิธีกรรมและลัทธิความเชื่อที่มีอยู่แล้วในพื้นเมืองในกรณีพระโสณะและอุตตระที่เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมินั้นก็คงไม่ใช่เป็นผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์เพียงกลุ่มเดียว คงมีหลายกลุ่มหลายเหล่าหลายศาสนาและหลายนิกาย เพราะสุวรรณภูมิคือเป้าหมายของการค้าทางทะเล จึงน่าจะมีผู้คนลัทธิศาสนาต่างๆ ผ่านเข้ามา ซึ่งในระยะนั้นน่าจะมีทั้งพุทธ พราหมณ์ และฮินดู ยิ่งกว่านั้นการรับนับถือศาสนาก็ดูเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจดุลพินิจของบุคคลที่เป็นเจ้าเมืองและผู้ปกครองด้วย เหตุนี้จึงปรากฏให้เห็นจากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีทั้งพุทธ พราหมณ์ ฮินดู และพุทธมหายานปะปนกันอยู่ในท้องถิ่นเดียวกันหรือต่างกันไปตามท้องถิ่น บางท้องถิ่นอาจจะเริ่มแต่พราหมณ์ และจึงเปลี่ยนมาเป็นพุทธ หรือจากพุทธแล้วกลายมาเป็นพราหมณ์ ฮินดูอะไรทำนองนั้น ความไม่แน่นอนเช่นนี้มีที่มาจากกระบวนการเลือกและการรับรู้ของบุคคลที่เป็นหัวหน้าหรือผู้มีอำนาจนั่นเอง

แต่ทว่าจากหลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางเอกสารโบราณอีกเช่นเดียวกัน ที่แสดงให้เห็นว่าการรับนับถือศาสนาจากอินเดียนั้นหาได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ไม่สัมพันธ์กับอะไรไม่ หากต้องเป็นสิ่งสัมพันธ์กับสถานภาพของบุคคลที่เป็นหัวหน้าผู้ปกครองด้วย คือต้องเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับระบบกษัตริย์ทีเดียว นั่นก็คือการที่พระพุทธศาสนาจะแพร่หลายเข้ามาได้นั้นเป็นเรื่องที่หัวหน้าหรือผู้ปกครองของบ้านเมืองเป็นผู้เชื้อเชิญเข้ามา และการที่จะเชื้อเชิญให้เข้ามานั้นบุคคลที่เป็นผู้ปกครองก็ต้องเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ตนและสถานภาพของตน ด้วยเหตุนี้เองเมื่อเวลาศึกษาเรื่องราวของศาสนาที่ผู้คนในดินแดนประเทศไทยหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับถือกันแล้ว ก็จะพบว่าบรรดาประเพณีพิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนานั้นแยกกันไม่ออกจาก สถาบันกษัตริย์ ที่ใช้คำว่า สถาบันกษัตริย์ ในที่นี้ หมายถึงว่าเป็นสถาบันของผู้ปกครองที่พัฒนาขึ้นภายหลังจากที่รับนับถือศาสนาจากอินเดียแล้วทั้งพุทธและพราหมณ์

ก่อนรับศาสนาจากอินเดียมีศาสนาดั้งเดิมอยู่แล้ว

เมื่อมาถึงตรงนี้ก็เกิดคำถามว่า ก่อนหน้าการนับถือศาสนาจากอินเดียไม่ว่าพุทธหรือพราหมณ์นั้น ผู้คนและบ้านเมืองตลอดจนหัวหน้าผู้ปกครองไม่นับถือศาสนาหรือไม่มีศาสนาหรือ คำตอบก็คือมีแน่

เพราะศาสนาเป็นสถาบันสากลที่วิวัฒนาการควบคู่กันมากับความเป็นมนุษย์ของคนเรา ศาสนาเป็นสิ่งที่ให้ความมั่นคงทางจิตใจแก่มนุษย์และจรรโลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ทำให้มนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่เหล่าในลักษณะพึ่งพิงซึ่งกันและกัน

การนับถือศาสนานั้นแสดงออกให้เห็นทั้งในด้านนามธรรมและรูปธรรม ในด้านนามธรรมก็คือความเชื่อในสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งที่มีพลังบางอย่างที่แพร่หลายหรือถ่ายทอดทั้งในด้านมีลายลักษณ์และไม่มีลายลักษณ์

ส่วนในด้านรูปธรรมนั้นคือการแสดงในเรื่องความเชื่อที่ผ่านการประกอบประเพณีพิธีกรรม เป็นกิจกรรมร่วมของคนในกลุ่มหรือชุมชน

ในสมัยก่อนการนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์จากอินเดีย เราเห็นร่องรอยของศาสนาและพิธีกรรมจากหลักฐานทางโบราณคดี เช่นจากประเพณีการฝังศพร่วมกันของคนในชุมชนที่เป็นบ้านเป็นเมือง นั่นคือมีความเชื่อว่าเมื่อคนตายไปแล้วยังมีวิญญาณดำรงอยู่ที่อาจสื่อสารด้านการประกอบพิธีกรรม อีกทั้งมีการจัดพื้นที่ให้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งฝังศพ การกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์จากการสร้างศาลหรือการปักหินตั้งที่แสดงเขต รวมทั้งการแกะสลัก ปั้นรูปและเขียนรูปแสดงเรื่องราวและเหตุการณ์ ยกตัวอย่างเช่น บรรดาผนังถ้ำหรือเพิงผาที่มีการเขียนภาพเขียนสี เป็นต้น ซึ่งพบมากตามเขาเกือบทั่วประเทศในดินแดนประเทศไทย สถานที่เหล่านี้คือ ศาสนสถานที่ประกอบประเพณีพิธีกรรมทั้งสิ้น บางภาพแสดงให้เห็นถึงบุคคลสำคัญที่มีอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ผู้ปกครองหรือหมอผีที่ทำหน้าที่สื่อสารกับอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ

ข้าพเจ้าเชื่อว่าบรรดาหลักฐานทางโบราณคดีที่พบขณะนี้ส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นพิธีกรรมที่สำคัญในชีวิตของคนในชุมชนอยู่สองอย่างคือ พิธีศพ และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์

พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำศพนั้นเห็นได้จากการขุดค้นพบประเพณีการฝังศพของชุมชนตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งในหลายๆ แห่งทีเดียวที่พบร่องรอยของศพคนที่มีความสำคัญของชุมชนที่สังเกตเห็นได้ว่าเครื่องประดับหลุมศพ หรือความมั่งคั่งของแหล่งฝังศพในชุมชนหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่น ยกตัวอย่างเช่น การขุดพบบรรดาเครื่องประดับและเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองตามที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์นั้นเห็นได้จากแหล่งภาพเขียนสีตามถ้ำตามเพิงผา ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังบอกว่าเป็นของบรรดาผู้คนที่อยู่บนที่สูง แต่ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่ตั้งข้อสังเกตว่าหลายๆ แห่งทีเดียวเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมร่วมกันทั้งผู้ที่อยู่ตามที่ราบลุ่มกับที่สูง เพราะคนทั้งสองพวกนี้หาได้แยกกันอยู่ตามลำพังไม่ หากมีการสังสรรค์กันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างกันตลอดเวลาอย่างไรก็ตามยังมีหลักฐานในระบบความเชื่อทางศาสนาที่อยู่ในระบบภูมิภาคที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ทั้งพื้นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะต่างก็มีระบบความเชื่อที่คล้ายคลึงกันมาก่อนที่จะรับนับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์จากอินเดียนั่นก็คือการมีกลองสำริดที่สะท้อนให้แลเห็นทั้งศาสนา พิธีกรรมและการแพร่หลาย

กลองสำริดพัฒนาขึ้นในรัฐเดียนหรือเทียนที่มีศูนย์กลางอยู่รอบทะเลสาบคุนหมิง ในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล คือราว ๓,๐๐๐ ปีที่แล้วมา กลองนี้ได้แพร่หลายมาตามเส้นทางการค้าผ่านเวียดนามเหนือเข้ามายังบ้านเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งบนพื้นแผ่นดินใหญ่ คาบสมุทรและหมู่เกาะ

จากภาพประดับบนกลองและลวดลายขีดสลักบนหน้ากลองและตัวกลองเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความคิดของมนุษย์ในเรื่องจักรวาล และมีพิธีกรรมสังเวยเทพบนท้องฟ้า เพื่อความอุดมสมบูรณ์หรืออาจกล่าวได้สั้นๆ ว่าเป็นความเชื่อเรื่องฟ้าดินคล้ายๆ กับระบบความเชื่อทางศาสนาของคนจีนก็ว่าได้

กลองนี้เมื่อแพร่หลายเข้ามานั้นมักเป็นของประจำกลุ่มชน โดยเฉพาะอยู่ในความครอบครองของบุคคลที่เป็นหัวหน้าเผ่าหรือผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเวลาที่สิ้นชีวิตไปแล้วจะถูกนำมาฝังไว้ในหลุมศพ ในเมืองไทยกลองชนิดนี้มีพบทั้งจากบริเวณที่ฝังศพและบริเวณที่ประกอบพิธีกรรม

การแพร่หลายของกลองสำริดที่สะท้อนให้เห็นถึงระบบความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนานี้ นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่ามีมาแต่ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ ๒,๕๐๐ ปีลงมา แต่กลองที่พบมากในดินแดนประเทศไทยนั้นมักมีอายุแต่ ๒,๓๐๐ ปีลงมาจนถึง ๑,๗๐๐-๑,๘๐๐ ปี ซึ่งก็นับเนื่องในยุคเหล็กและเป็นระยะเวลาที่มีการติดต่อกับทางอินเดีย ดังนั้นในที่นี้อาจกล่าวได้ว่าบรรดาหัวหน้าหรือผู้ปกครองบ้านเมืองในสมัยที่มีการติดต่อกับชาวอินเดียนั้น ส่วนใหญ่มีระบบศาสนาและพิธีกรรมคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว และการมีกลองสำริดครอบครองก็คือสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานภาพของบุคคลเหล่านั้น

แต่ทว่าเพียงการครอบครองกลองสำริดและมีระบบความเชื่อตลอดจนประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับฟ้าดิน และความอุดมสมบูรณ์นั้น ยังหาได้สร้างความโดดเด่นที่ทำให้เจ้าเมืองคนหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเหนือกว่าคนอื่นๆ ไม่ ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้ว่าในระยะที่มีการติดต่อกับอินเดียนั้น บุคคลผู้เป็นเจ้าเมืองหรือหัวหน้ากลุ่มชนก็มีฐานะเท่ากับราชาของบ้านเมืองต่างๆ ในอินเดีย ยังหามีผู้หนึ่งผู้ใดสถาปนาตนเองเป็นมหาราชาไม่ แต่การนำเอาระบบศาสนา ประเพณีพิธีกรรมและระบบกษัตริย์มาปรับใช้แล้ว ก็สามารถทำให้เจ้าเมืองหรือผู้นำที่สำคัญมีสภาพและฐานะที่แตกต่างไปจากมนุษย์ธรรมดาได้ ก็คงเป็นเพราะเหตุที่วัฒนธรรมอินเดียในเรื่องนี้มีศักยภาพในการสื่อสารได้สูงกว่าประเพณีและวัฒนธรรมพื้นเมืองดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้บรรดาผู้นำของบ้านเมืองในท้องถิ่นต่างก็ยินยอมรับวัฒนธรรมอินเดียทั้งในด้านศาสนา ระบบกษัตริย์ ศิลปวิทยาการและอักษรศาสตร์เข้ามาเป็นของตน

ข้าพเจ้าคิดว่าการรับอารยธรรมอินเดียนั้นเป็นสิ่งที่บรรดาเจ้าเมืองหรือผู้นำของท้องถิ่นได้ประโยชน์มากกว่าคนธรรมดาสามัญทั่วไป เพราะทำให้คนสำคัญเหล่านี้เปลี่ยนสภาพจากคนธรรมดาเป็นกษัตริย์เป็นผู้ที่สัมพันธ์กับสวรรค์หรือสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ ซึ่งภาวะเช่นนี้มีความหมายมากในสภาพสังคมของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ยากแก่การสร้างบูรณาการทางวัฒนธรรมให้เกิดเป็นบ้านเมืองใหญ่โตเป็นรัฐหรืออาณาจักรได้ ถ้าหากเพียงยกวัฒนธรรมของชนเผ่าใดเผ่าหนึ่งขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมกลางถ้าจะมองให้ลึกลงไปอีกในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับสถาบันกษัตริย์ก็คือ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์
ระหว่างอำนาจกับผู้ใช้อำนาจในการปกครองและการยอมรับของบุคคลที่อยู่ใต้อำนาจนั่นเอง

ลัทธิศาสนา คือสิ่งที่สร้างอำนาจโดยชอบธรรมให้แก่ผู้ปกครองหรือกษัตริย์ แต่ก็หาได้เป็นไปในเรื่องให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจแต่ฝ่ายเดียวไม่ หากยังมีการกำหนดกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนในด้านคุณธรรมทางศาสนาที่จะต้องทำให้ผู้จะเป็นพระราชาหรือกษัตริย์ได้ ต้องประพฤติและปฏิบัติ และสิ่งเหล่านี้มักสื่อสารกันได้ระหว่างชนชั้นปกครองและผู้อยู่ภายใต้การปกครองโดยการประกอบประเพณีพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีกรรมที่เปลี่ยนสถานภาพทั้งในเวลาที่จะขึ้นครองราชย์ หรือราชาภิเษก และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการตายที่จะส่งกษัตริย์ผู้ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดากลับสู่สวรรค์

ความเด่นชัดอีกอย่างหนึ่งที่ลัทธิศาสนาจากอินเดียสามารถแพร่หลายเป็นที่ยอมรับของผู้คนโดยทั่วไปได้รวดเร็วก็คือ ความคิดในเรื่องโลกหน้า เช่น สวรรค์และนรกที่ชัดเจนทั้งเหตุผลและภาพพจน์

ภาษาและอักษรศาสตร์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องสนับสนุนการแพร่หลายของอารยธรรมอินเดีย เพราะนอกจากเป็นภาษาที่มีลายลักษณ์สื่อสารได้กว้างไกลแล้ว ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ถูกนำมาใช้ทั้งในกิจกรรมด้านศาสนาและการปกครอง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแต่พุทธศตวรรษที่ ๓-๔ อันเป็นเวลาที่มีการแพร่หลายพุทธศาสนา หรือศาสนาพราหมณ์ก็ดีในดินแดนสุวรรณภูมินั้น ได้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม อย่างค่อยเป็นค่อยไป คือบรรดาเจ้าเมืองหรือหัวหน้าผู้ปกครองกลุ่มชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เหล่านั้น รับวัฒนธรรมและลัทธิความเชื่อใหม่เข้ามาแล้วผ่านลงสู่เบื้องล่างในหมู่ชนทั่วไป เกิดที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาเป็นครู เป็นปุโรหิต ผู้ประกอบประเพณีพิธีกรรมให้ ทำให้ค่อยๆ เกิดสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับของกลุ่มชนที่หลากหลายทั่วไป

พอมาถึงสมัยประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๓ หรือพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ อันเป็นเวลาที่มีการค้าขายอย่างกว้างขวางระหว่างตะวันออกคือจีน และตะวันตกคืออินเดียนั้น จึงมีบันทึกและคำบอกเล่าของพวกพ่อค้ากรีก โรมัน อินเดีย และจีนที่กล่าวถึงบ้านเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าประกอบด้วยกลุ่มของแคว้นหรืออาณาจักรเล็กๆ
มากมาย โดยเฉพาะตามแถวชายฝั่งทะเล ซึ่งบรรดารัฐหรืออาณาจักรเหล่านี้ล้วนรับอิทธิพลทางศาสนา ระบบกษัตริย์ และการปกครองจากอินเดียแทบทั้งนั้น แทบทุกแห่งล้วนมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นที่ปรึกษา มีคนพื้นเมืองบวชเป็นพระภิกษุ รวมทั้งมีประเพณีพิธีกรรมที่อ้างอิงเทพเจ้าในศาสนาของอินเดีย อีกทั้งมีวัด มีปราสาทราชวัง
และรูปเคารพที่ได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดีย และที่สำคัญบรรดากษัตริย์และเจ้านายแต่ละแว่นแคว้นล้วนเป็นบุคคลที่มั่งคั่งมีข้าทาสบริวารแวดล้อม หรืออีกนัยหนึ่งมีพัฒนาการของชนชั้นระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครองชัดเจน

จีนเข้ามาสุวรรณภูมิก็เปลี่ยนไป

ภาพพจน์ของสังคมและบ้านเมืองตลอดจนวัฒนธรรมแห่งพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ หรืออีกนัยหนึ่งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๓ ลงมาดังกล่าวนี้ คงมีผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ อันเป็นเวลาที่มีการค้าขายติดต่อกับคนจีนแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นลงมานั่นเอง

ก่อนหน้าสมัยราชวงศ์ฮั่น จีนยังเดินเรือไม่เป็น อีกทั้งไม่ใคร่สนใจในเรื่องการค้าขายทางทะเล การติดต่อกับทางสุวรรณภูมิและอินเดียนั้นมักเป็นไปโดยคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำการค้าขายให้ ก็คงจะเป็นพวกซาหวีน-ดองซอนนั่นเอง แม้กระทั่งการค้าขายของคนจีนทางทะเลที่เข้ามาที่สุวรรณภูมิในสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้นในจดหมายเหตุจีนก็ระบุว่าอาศัยเรือของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามา

การปรากฏตัวของจีนที่เห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีนั้นที่สำคัญมี ๒ อย่างคือ การมีหลุมศพของพวกฮั่นในเวียดนามเหนือ เป็นแหล่งที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมดองซอน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นเข้ามามีอิทธิพลและใช้บ้านเมืองชายทะเลในเวียดนามเหนือเป็นเมืองท่าหรือสถานีพักสินค้า ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือการพบภาชนะและเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาเคลือบตลอดจนภาชนะสำริด อาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นสำริดของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นในแหล่งชุมชนโบราณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่นที่ตามเกาะหลายเกาะในอินโดนีเซียมีผู้พบภาชนะดินเผาเคลือบแบบราชวงศ์ฮั่น และในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์พบกลองสำริดแบบดองซอนร่วมกับภาชนะสำริดของราชวงศ์ฮั่น ในขณะที่อื่นๆ พบมีดดาบสั้นและอาวุธแบบสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นต้น

การปรากฏตัวของจีนแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นนี้ได้ทำให้การเป็นศูนย์กลาง หรือจุดหมายปลายทางในการค้าขายของสุวรรณภูมิเปลี่ยนไป กลายมาเป็นบริเวณที่เป็นทางผ่านของเส้นทางการค้าระหว่างตะวันตกคืออินเดีย กับตะวันออกคือจีนไป แต่การเปลี่ยนแปลงนี้หาเป็นเรื่องที่ทำให้ความสำคัญที่มีอยู่แต่เดิมถดถอยไปไม่ หากมีการขยายตัวในเรื่องการค้า การคมนาคมและการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองใหญ่โตมากมายในเวลาที่ตามมา บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองที่เคยมีความสำคัญเป็นศูนย์กลางของสุวรรณภูมิก็กลายมาเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งคือ เมืองอู่ทองที่เรือสินค้าจากภายนอกสามารถแล่นเข้ามาตามเส้นทางน้ำโบราณจนถึงบริเวณหน้าเมือง ในขณะเดียวกันก็เกิดเมืองท่าร่วมสมัยกันอีกหลายแห่ง แต่ที่มีหลักฐานโบราณคดียืนยันแน่ชัดนั้นมี ๒ แห่ง ในที่นี่คือ ที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แห่งหนึ่ง กับที่เมืองออกแอวใกล้ปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามอีกแห่งหนึ่ง

แห่งแรกที่ควนลูกปัดนั้นอยู่ในเขตชายทะเล อ่าวพังงาเป็นเมืองท่าบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากอินเดีย หรือลังกามายังคลองท่อม แล้วจากคลองท่อมก็เดินทางบกผ่านคาบสมุทรมาออกชายทะเลด้านตะวันออกในเขตอ่าวไทย ซึ่งบนเส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้พอมาถึงกึ่งกลางอาจแยกออกไปออกฝั่งทะเลในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ได้ หรือจะเดินทางต่อไปตามลำน้ำตาปี ไปออกฝั่งทะเลที่อ่าวบ้านดอน

จากหลักฐานทางโบราณคดีและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ คลองท่อมน่าจะเป็นเมืองตักโกลา ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารโบราณ ซึ่งมีนักปราชญ์หลายท่ายเคยเสนอว่าอยู่ที่ตะกั่วป่าในเขตจังหวัดพังงา แต่เมื่อนำโบราณวัตถุที่พบ ณ ที่นั้นมาเปรียบเทียบกับที่พบที่คลองท่อมแล้ว ของที่พบที่ตะกั่วป่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔
ลงมาเป็นอย่างมาก ในขณะที่ทางคลองท่อมมีดวงตรา ลูกปัดและเครื่องประดับอื่นๆ ที่มีอายุร่วมสมัยกับของในพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ลงมา ซึ่งพบคล้ายคลึงกันกับแหล่งที่สองคือ ที่เมืองออกแอวในประเทศเวียดนาม

เมืองออกแอวหรือบางท่านเรียกว่า ออแก้ว นั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำทะเลท่วมถึง หรืออาจจะเรียกว่าอยู่แถวบริเวณชายทะเลตมที่เป็นป่าชายเลนก็ว่าได้ ซึ่งก็เป็นลักษณะภูมิประเทศเดียวกันกับบริเวณควนลูกปัด การตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองที่เป็นทั้งเมืองท่าและสถานีขนถ่ายสินค้านี้คงเป็นสิ่งก่อสร้างด้วยเครื่องไม้บนเสาสูง และเป็นแหล่งที่มีเส้นทางน้ำไปออกทะเลได้สะดวก สิ่งที่บ่งแสดงว่าออกแอวเป็นเมืองท่าค้าขายในสมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ลงมา ก็คือบรรดาโบราณวัตถุที่เป็นเหรียญโรมัน ดวงตรา ลูกปัด รวมทั้งรูปเคารพในทางศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย รวมทั้งเหรียญและวัตถุที่มาจากจีนด้วยนักปราชญ์เป็นจำนวนมากลงความเห็นว่าออกแอวคือ เมืองท่าที่สำคัญของรัฐฟูนันที่มีกล่าวถึงในจดหมายเหตุจีนว่าเป็นรัฐที่มีอานุภาพมากสามารถปราบปรามบ้านเล็กเมืองน้อยที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียงไว้ในอำนาจ อาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐสำคัญหรืออาณาจักรสำคัญแห่งแรกในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โบราณก็ว่าได้ แต่ในที่นี้ความสำคัญของฟูนันอยู่ที่เป็นรัฐใหญ่ที่มีระบบกษัตริย์และศาสนาพุทธและพราหมณ์ที่รับมาแต่อินเดีย และเป็นราชสำนักที่มีการติดต่อทางการทูตและการค้าขายกับอินเดียและจีนพัฒนาการของรัฐฟูนันในจดหมายเหตุจีนที่มีหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุนที่ออกแอวนี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในสมัยแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ลงมาอย่างชัดเจน นั่นก็คือความสำคัญของสุวรรณภูมิที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายและการคมนาคมด้วยตัวของตัวเองได้หมดไป แล้วเกิดเมืองและรัฐฟูนันขึ้นมาแทนที่ในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางทะเลระหว่างตะวันตกคืออินเดีย และบ้านเมืองใกล้เคียงกับจีนที่อยู่ทางตะวันออก

ในการรับรู้ของนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการโดยทั่วไป มักเห็นยุคสมัยประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โบราณเริ่มแต่การปรากฏตัวของรัฐหรืออาณาจักรฟูนันแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๓ หรือประมาณ ๑,๗๐๐ ปีที่ผ่านมา เพราะมีหลักฐานทั้งด้านเอกสารโบราณ และโบราณคดีสนับสนุน อีกทั้งยังค่อนข้างมีความคิดที่เป็นเอกฉันท์ ด้วยว่า ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองฟูนันที่สำคัญนั้นอยู่แถวปากแม่น้ำโขง โดยเฉพาะที่เมืองออกแอวตามที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่สนับสนุนความคิดในเรื่องนี้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสืบเนื่องของฟูนันนั่นคือพัฒนาการของรัฐเจนละ ที่เป็นต้นเค้าของการเกิดอาณาจักรกัมพูชา หรือเมืองพระนครในสมัยหลังลงมา

แต่ในที่นี้จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มเติมในปัจจุบันที่ทำให้แลเห็นพัฒนาการของบ้านเมืองที่ชัดเจนในยุคเหล็กนั้น ทำให้สามารถขยายยุคเวลาทางประวัติศาสตร์ออกมาถึงประมาณต้นพุทธกาลคือ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลได้ ซึ่งในช่วงเวลานี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการติดต่อกับอินเดียแล้ว และทางอินเดียก็เรียกดินแดนนี้ว่า สุวรรณภูมิ ดังปรากฏในหลักฐานตำนานมหาวงศ์ของลังกาที่ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระสมณฑูตโสณะและอุตระมาสั่งสอนพระพุทธศาสนา เราอาจเรียกสมัยเวลาในยุคนี้ได้ว่า สุวรรณภูมิ อันเป็นเวลาที่ดินแดนนี้เป็นที่หมายปลายทางของการค้าขายในตัวเอง คือคนอินเดียก็เดินทางเข้ามาค้าขาย ในขณะที่มีคนมากมายหลายเผ่าพันธุ์จากทางตอนใต้ของประเทศจีนเดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งหลักแหล่งชุมชนอย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้คือผู้ที่ทำการค้าขายเชื่อมโยงไปถึงชาวจีนที่อยู่ทางเหนืออีกทีหนึ่ง พัฒนาการของสังคมที่เป็นบ้านเป็นเมืองเกิดขึ้นก็เนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายและการค้าขายของกลุ่มชนเหล่านี้นั่นเองจนกระทั่งประมาณ ๑๐๐ ปีก่อนคริสตกาล คือราวพุทธศตวรรษที่ ๙ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองก็เกิดขึ้นอันเนื่องจากจีนราชวงศ์ฮั่นขยายอำนาจเข้าครอบงำจีนตอนใต้และเวียดนาม ทำให้จีนมีการค้าขายกับ สุวรรณภูมิกับทางตะวันตก คือทางอินเดียไปจนถึงทางตะวันออกกลาง จึงเป็นเหตุให้สุวรรณภูมิที่เคยเป็นศูนย์กลางและจุดหมายปลายทางในการค้าขาย เปลี่ยนมาเป็นเมืองท่าและเมืองบนเส้นทางการค้าขายทางทะเลระหว่างจีนและอินเดียไป ในช่วงเวลานี้มีหลักฐานให้เห็นว่าเกิดเมืองสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าขายอย่างน้อย๒ แห่งคือ บริเวณคลองท่อม จังหวัดกระบี่ในอ่าวพังงาที่คุมเส้นทางข้ามคาบสมุทรทางฝั่งทะเลอันดามัน และเมืองออกแอวใกล้ปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม แห่งแรกน่าจะตรงกับที่เอกสารจดหมายเหตุนักเดินเรือโบราณเรียกว่า ตักโกลา ในขณะที่แห่งหลังคือ ฟูนัน ที่นอกจากจะเป็นเมืองท่าแล้วยังเป็นแว่นแคว้นสำคัญที่เด่นชัดแต่พุทธศตวรรษที่ ๘--๙ ลงมาทีเดียว

จาก "สุวรรณภูมิ" ถึง "ฟูนัน"

การปรากฏตัวขึ้นของฟูนันแต่พุทธศตวรรษที่ ๘ หรือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๓ ลงมานั้น อาจนับได้ว่าเป็นเวลาที่บ้านเมืองในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านพ้นยุคเหล็ก หรือสมัยสุวรรณภูมิเข้าสู่สมัยใหม่ ซึ่งในที่นี้ให้ชื่อว่าเป็นสมัยฟูนันพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญในสมัยฟูนันก็คือ

ประการแรกแลเห็นการรับอารยธรรมอินเดียอย่างชัดเจน โดยเฉพาะลัทธิศาสนา สถาบันกษัตริย์ และการใช้ภาษาบาลี สันสกฤต เป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์และภาษาทางราชการ ดังมีการกล่าวถึงแคว้นหรืออาณาจักรต่างๆ ซึ่งแต่ละแคว้นมีราชสำนักและกษัตริย์และภาษาทางราชการ ดังมีการกล่าวถึงแคว้นหรืออาณาจักรต่างๆ ซึ่งแต่ละแคว้นมีราชสำนักและกษัตริย์ตลอดจนพราหมณ์ปุโรหิตผู้ประกอบประเพณีพิธีกรรม กล่าวถึงพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู และวัฒนธรรม รวมทั้งการใช้ภาษาบาลี สันสกฤตในทางราชการ โดยเฉพาะการขนานพระนามของเทพเจ้ากษัตริย์ ขุนนาง และสถานที่

ประการที่สองแลเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างแคว้นใหญ่ หรือรัฐใหญ่กับรัฐเล็กในการที่จะมีการรวบรวมให้เกิดเป็นรัฐหรืออาณาจักรใหญ่ขึ้นมา ความเด่นชัดในเรื่องนี้เห็นได้จากหลักฐานทางเอกสารโบราณที่กล่าวถึงการขยายอำนาจของรัฐฟูนันเอง โดยที่กษัตริย์ฟูนันองค์สำคัญได้รบพุ่งปราบปรามบ้านเมืองใหญ่น้อยตามชายฝั่งทะเลเข้าไว้ในอำนาจ และในขณะเดียวกันก็มีการติดต่อทางการทูตกับอินเดียและจีนทั้งในด้านการค้าและศาสนา โดยเฉพาะกับทางจีนนั้นฟูนันถึงกับส่งรูปเคารพทางศาสนาไปให้ทีเดียว

จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้บรรดานักประวัติศาสตร์นำไปค้นคว้าต่อกับหลักฐานทางโบราณคดีแล้วให้ความหมายและสร้างภาพฟูนันเป็นมหาอาณาจักร หรือจักรวรรดิของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคแรกๆ ทีเดียว ซึ่งภาพพจน์ของฟูนันดังกล่าวนี้ทำให้เป็นภาพหลอนที่ทำให้เห็นว่าบรรดาบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นในสมัยฟูนันนั้น มีฟูนันเป็นศูนย์กลางและเมืองอื่นๆ แว่นแคว้นอื่นๆ เป็นบริวาร อีกทั้งเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์เอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ไปในลักษณะที่เป็นแนวตั้ง (Vertical) มากกว่าจะแลเห็นความหลากหลายในด้านแนวนอน (horizontal) ที่ว่าเป็นแนวตั้ง ทั้งเป็นการมองแคบและลึก ทำให้เห็นว่าฟูนันคือศูนย์อำนาจหรืออาณาจักรที่สำคัญเพียงแห่งเดียว แล้วฟูนันก็ส่งทอดความเจริญมาให้อาณาจักรเจนละที่พัฒนาต่อในพื้นที่เดียวกัน และต่อจากเจนละก็มาถึงเมืองพระนคร หรืออาณาจักรกัมพูชาที่ปรากฏร่องรอยของศาสนสถานบ้านเมืองมากมาย การมองแบบนี้แทบจะทำไม่ให้แลเห็นพัฒนาการของบรรดารัฐหรือบ้านเมืองร่วมสมัยได้ ในขณะที่การพิจารณาหลักฐานบ้านเมืองร่วมสมัยในแนวราบหรือแนวนอนนั้นจะทำให้เห็นมิติที่กว้างออกไปว่า ยังมีรัฐอื่นบนเส้นทางการค้าขายและการคมนาคมทางทะเลที่มีพัฒนาการเช่นเดียวกัน ซึ่งในที่นี้จะบอกกล่าวแต่เพียงบรรดาบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเท่านั้น

ถ้าหากย้อนหลังกลับไปสมัยสุวรรณภูมิ ก็คงต้องยอมรับกันว่าจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในขณะนี้ไม่มีที่ไหนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งบนพื้นแผ่นดินใหญ่ บนคาบสมุทรและหมู่เกาะที่จะให้ภาพพจน์ของศูนย์กลางความเจริญของสุวรรณภูมิได้ดีเท่ากับบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองทางซีกตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะนี้ และเพื่อเน้นให้เด่นชัดมากที่สุดก็อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำจระเข้สามพัน อันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำท่าจีน-แม่กลองนั่นเอง

ในสมัยฟูนันบริเวณนี้มีเมืองอู่ทองพัฒนาขึ้นเป็นเมืองร่วมสมัยกันกับเมืองออกแอวที่ต่างก็อ้างว่าเป็นเมืองสำคัญของฟูนัน ซึ่งถ้าจะว่ากันทั้งตำแหน่งที่ตั้งนอกเมืองและสภาพแวดล้อม รวมทั้งหลักฐานทางโบราณสถานวัตถุแล้ว อู่ทองมีมากและหนักแน่นกว่าออกแอวเป็นอย่างมาก และความมากมายของหลักฐานเช่นนี้ได้ทำให้ครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์ช็อง บวสเซอลิเย นักประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเสนอว่าเมืองอู่ทองเคยเป็นเมืองหลวงของฟูนัน และให้ความเห็นว่า หลักฐานที่พบส่วนใหญ่ของเมืองออกแอวนั้น เป็นของสมัยเจนละลงมา ความคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในวงวิชาการมากพอสมคาร

ข้าพเจ้านับเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเมืองฟูนันที่บ่งบอกในเอกสารจดหมายของจีน และชาวต่างประเทศนั้น ไม่น่าจะอยู่ที่อู่ทองเลย น่าจะอยู่ทางปากแม่น้ำโขงมากกว่า แต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเวียดนามและได้ดูแหล่งโบราณคดีที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำโขงและแม่น้ำดงไน รวมทั้งแลเห็นบรรดาโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ณ เมืองไซ่ง่อนแล้ว ก็เกิดความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดศาสตราจารย์บวสเซอลิเยคิดเช่นนั้น นั่นก็คือบริเวณที่ตั้งของเมืองออกแอวที่ว่าเป็นเมืองสำคัญของฟูนันนั้น ล้วนเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง คือเป็นบริเวณที่เป็นทะเลตม หรือป่าชายเลนมาก่อนอย่างแน่นอน บริเวณเช่นนี้ยากที่จะเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางทางการปกครองได้ จะเป็นได้ก็แต่เมืองท่าและสถานีพักสินค้าเท่านั้น โดยเหตุนี้เองนักโบราณคดีประวัติศาสตร์สำคัญรุ่นก่อน เช่น ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส จึงเสนอว่าเมืองหลวงหรือเมืองสำคัญของฟูนันอยู่ที่บาพนมอันเป็นบริเวณภายในที่มีลำน้ำจากชายฝั่งทะเลเข้าไปถึง

ข้าพเจ้าไม่คิดและไม่เชื่อว่าเมืองอู่ทองเป็นเมืองสำคัญของฟูนัน แต่เห็นว่าเป็นเมืองร่วมสมัยที่สืบต่อความเจริญมาจากสุวรรณภูมิ เมืองนี้น่าจะตรงกันกับเมืองหรือแคว้นกิมหลิน หรือแคว้นทองที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่าเป็นเมืองร่วมสมัยกับฟูนัน และกษัตริย์ของฟูนันเคยยกกองทัพเรือเข้ามาโจมตีและได้ชัยชนะ ซึ่งในทำนองนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่าอู่ทองเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของฟูนันก็ว่าได้

 

[ กลับไปหน้าแรก ]