อักษรศิลป์ และภาษาศิลป์ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

บทความโดย เอื้อ มณีรัตน์ คัดลอกจากวารสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 5 เดือน มีนาคม 2542

(เรื่องนี้ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากภาพประกอบบางอย่างยังไม่มี ดังนั้นขอให้ท่านผู้สนใจอดใจรอสักระยะ ... ผู้จัดทำ)


รื่องที่ว่าศิลาจารึก หลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงเป็นของจริงหรือปลอมนั้น มีผู้รู้อภิปรายกันมาหลายครั้งในแง่มุมที่ต่างกัน แม้ว่าฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นของจริงซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านโบราณคดีและภาษาหลายท่านจะได้แสดงความเห็นไปแล้ว แต่กระแสของคนรุ่นใหม่แรงมาก เรื่องจึงหาข้อยุติไม่ได้ บางท่านเห็นว่าโต้เถียงกันไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคนที่เชื่อก็ยังเชื่ออยู่ต่อไป คนที่ไม่เชื่อก็ไม่เชื่อยู่อย่างเดิม หนัก ๆ เข้าคนอ่านก็พลอยรำคาญไปด้วย ผมจึงไม่มันใจว่าบทความเรื่องนี้จะมีโอกาสได้ลงใน ศิลปวัฒนธรรม แต่ถึงกระนั้นก็ยังอยากจะเขียนอยู่นั่นเอง

จากภาพถ่ายประกอบบทความของไมเคิล ไรท์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับบเดือน มกราคม 2542 หน้า 113 ทำให้ผมเกิดข้อคิดขึ้นมาว่า ตัวอักษรที่อยู่ในแบคกราวด์นั้นสม่ำเสมอเป็นระเบียบและสวยงามมาก แสดงถึงความชำนาญของช่างผู้สลัก ซึ่งต้องคุ้นเคยกับตัวอักษรแบบนั้นมาเป็นเวลานาน ไม่ใช่เพิ่งหัดทำเป็นครั้งแรก และก่อนที่จะมีการสลักลงบนหินก็ต้องเคยเขียนลงบนใบลาน หรือกระดาษข่อยมาแล้วอย่างช่ำชอง เพราะพ่อขุนรามคำแหงคงไม่ทรงให้ช่างทำศิลาจารึกขึ้นมาโดยที่ยังไม่มีใครอ่านตัวอักษรแบบนั้นออก หรืออ่านออกเพียงไม่กี่คน ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ประชาชนส่วนใหญ่

ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำปลอมขึ้นอย่างที่ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ ว่า พระองค์เองก็คงต้องให้ช่างในสมัยของพระองค์เป็นคนทำ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งว่างเว้นจากการทำศิลาจารึกมาไม่น้อยกว่า 500 ปี นับตั้งแต่การทำศิลาจารึกวัดศรีชุมเมื่อ พ.ศ. 1910 อันเป็นหลักฐานใหม่สุดของสุโขทัยลงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2394 จึงไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะมีช่างที่ชำนาญการสัลักศิลาจารึกหลงเหลืออยู่ และหากยังหาช่างได้ กว่าช่างผู้นั้นจะสามารถสลักตัวอักษรแบบใหม่ที่ ร.4 ทรงประดิษฐ์ขึ้นก็คงใช้เวลาฝึกฝนอยู่นาน จึงจะสามารถสลักตัวอักษรให้เป็นธรรมชาติ ไม่แข็งทื่อไร้ชีวิตชีวาเหมือนที่เรามักจะพบเสมอในลายมือของคนหัดเขียนใหม่ๆ รูปร่างลักษณะของ ลายสือไท ของพ่อขุนรามคำแหงที่มีผู้พยายามเขียนด้วยปากกาลองเลียนแบบได้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่ผมเคยห็นก็คือที่ อาจารย์เทิม มีเต็ม เขียนไว้ในหนังสือ "แบบเรียนหนังสือภาษาโบราณ" ของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525

เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกับลายมือของผู้ที่ไม่ชำนาญในการเขียนลายสือไทย ผมขอยกตัวอย่างที่ ดร. เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์ เขียนในหนังสือ "อักษรไทย" ดร. เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์ เป็นคน อ. แม่จัน จ. เชียงราย เคยบวชเรียนหลายปี มีความชำนาญในการเขียนตัวอักษรล้านนามาก แต่พอท่านมาเขียนตัวอักษรแบบของพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ทั้ง ๆ ที่บรรจงเขียนก็รู้ทัดที่ว่าเป็นมือใหม่

ลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวที่พระราชทานคณะราชทูตฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2399 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ทรงให้คณะกรรมการคัดสำเนาไว้ดังเอกสารประกอบแผ่นที่ 3 จะเห็นว่าลายพระราชหัตถเลขากับลายสือไทยในศิลาจารึกมีความแตกต่างกันในด้านอักษรศิลป์อย่างเห็นได้ชัด แม้จะทรงให้ปากกาเขียนลงบนกระดาษซึ่งง่ายกว่าการสลักลงบนแผ่นหินไม่รู้กี่เท่า แล้วช่างสลักหินที่ไหนในสมัย ร.4 จะสามารถสักตัวอักษรได้สวยงามกว่าองค์ผู้ทรงออกแบบ?

รายพระราชหัตเลขขาจากข้อความในศิลาจารึกที่ว่า "เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี 1205 ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทนี้ ลายสือไทนี้จึงมีเพื่อพ่อขุนผู้นั้นใส่ไว้" ตัวเลข 1205 เป็นมหาศักราชซึ่งนักประวัติศาสตร์คำนวณแล้วตรงกับ พ.ศ. 1826 อีก 9 ปีต่อมาจึงทรงให้จารึกในแผ่นหินใน พ.ศ. 1835 ทำไมจึงทรงปล่อยเวลาผ่านไปตั้ง 9 ปี? ก็เพราะตัวอักษรแบบใหม่ยังไม่มีคนรู้จัก แล้วจะเขียนให้ใครอ่าน?

ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ปัจจุบันมาให้ดู คือเมื่อ พ.ศ. 2497 สถาบันชนกลุ่มน้อยคุนหมิง ได้ปรับปรุงอักษรธรรมล้านนาที่เคยใช้เขียนภาษาไทลื้อในสิบสองปันนามาแต่เดิม เนื่องจากเห็นว่าอักษรธรรมล้านนามีความยุ่งยากทั้งการเขียน การพิมพ์ และการอ่าน คำๆ เดียวอาจจะอ่านได้หลายอย่าง ขอให้ดูตัวอย่างของอักษรไทยลื้อที่ปรับปรุงใหม่

ถ้าเขียนตามที่ปรับปรุงนี้ได้จะสวยงามและสะดวกเพียงไร เหตุผลที่สำคัญก็คือ จะทำให้คนรุ่นหลังอ่านวรรณกรรมโบราณของตนไม่ออก คนจึงยังนิยมเขียนด้วยลายมือ แล้วถ่ายเอกสำเนาไปพิมพ์อีกทีหนึ่ง ดังตัวอย่างสำเนาถ่ายเอกสารจากหนังสือเรื่อง " ปถมกับปะภมส้างโลก " ซึ่งพิมพ์จำหน่ายที่เมืองคุนหมิงเมื่อ พ.ศ. 2531

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่หลังจาสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว หลายปีต่อมาอักษรที่จารึกไว้ในตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 จนถึงบรรทัดสุดท้ายจึงต่างจากตอนต้น ๆ คือตัวพยัญชนะลีบกว่า สระก็ต่างกัน คือกลับไปขึ้นอยู่ข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามออกกฏหมาย (หรือรัฐนิยม ผมก็ลืมไปเสียแล้ว) ให้คนไทยเขียนตามอักขรวิธีใหม่ โดยไม่ได้เพิ่มตัวอักษรขึ้นมาแม้แต่ตัวเดียว พอหมดสมัย "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" คนไทยก็กลับมาเขียนอย่างเดิม ในระยะเวลาห่างกันเพียง 5-6 ปีเท่านั้น คนสุโขทัยครั้งนั้นก็คงอึดอัดในการเขียนแบบใหม่เช่นกัน แต่เมื่อเป็นพระราชประสงค์ก็จำเป็นต้องตามพระทัย พอสิ้นรัชกาล ศิลาจารึกที่เขียนยังไม่เสร็จก็เลยถูกคนเขียนต่อตามที่ตนชอบ นี่เป็นสิ่งปกติธรรมดา ไม่มีเลห์เหลี่ยมอย่างใด

ถ้า ร.4 ทรงปลอมศิลาจารึกขึ้นมา พระองค์ก็คงจะต้องทรงระวังให้ตอนท้ายกับตอนต้นสอดคล้องด้วยกันโดยไม่ปล่อยให้คนสมัยนี้เห็นจุดอ่อนที่โจมตีได้ พระองค์ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เคารพความจริงถึงขนาดทรงเดินทางเสี่ยงภัยจากไข้ป่าไปพิสูจน์ให้ทั้งคนไทยและชาวต่างปรเทศเห็นว่าทรงคำนวณเวลาที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้แม่นยำที่ ต.หว้ากอ จ. ประจวบคีรีขันธ์จนเป็นผลให้เสด็จสวรรคตหลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับไม่นาน คนอย่างนี้น่ะหรือ ที่จะสร้างหลักฐานปลอมแปลง ซึ่งกว่าจะมีคนมา "จับพิรุธ" ก็เป็นเวลาหลังจากที่เสด็จสวรรคตไปแล้วตั้ง 130 ปี ยิ่งในสมัยนั้นมีหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ของหมอบลัดเลย์คอยจ้องอยู่ มีแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์คอยสังเกตสังกาอยู่ พระองค์จะทรงใช้โอกาสไหนมาสร้างหลักฐานเท็จเช่นนี้ การที่จะหาหินชนวนสีเขียวขนาดใหญ่เข้ามาให้ช่างสลักอย่างลับ ๆ แล้วนำไปทิ้งไว้ในป่าเมืองสุโขทัยโดยไม่ให้ข่าวรั่วไหลนั้น ทำได้ง่ายอยู่หรือ?

ของแทรกไว้ตอนนี้นิดหนึ่งว่าที่คุณ ภูวดล สวรรดี เขียนลงในศิลปวัฒนธรรม เดือน มกราคม 2542 หน้า 109 ว่า ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมีขนาดเล็กมาก คือสูงเพียง 1 เมตร 11 เซนติเมตรนั้น อย่าลืมว่ามันมีส่วนกว้างด้านล่ะ 35 เซ็นติเมตรด้วยนะครับ จะเอาไปเปรียบเทียบกับศิลาจารึกอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนหนาเท่ากับส่วนกล้ว หาได้ไม่ ศิลาจารึกที่ไม่มีส่วนหนาอย่างนั้น ที่พิพิธภัณฑ์ จ.ลำพูน เตี้ยกว่าศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ก็มีถมไป ฉะนั้นการที่จะเอาขนาดของศิลาจารึกมาเป็นเหตุผลนั้นจึงไม่ถูกต้อง

ที่ว่ามานั้นเป็นเรื่องของอักษรศิลป์ ทีนี้ถ้าพิจารณาในแง่ของภาษาศิลป์ ในฐานะที่ผมเป็นคนภาคเหนือ ไม่เห็นความผิดปกติในเรื่องภาษาของพ่อขุ่นรามคำแหงเลย ต่อให้คุณเก่งทางภาษาขนาดไหน ถ้าไม่ใช่คนภาคเหนือหรืออยู่ในภาคเหนือมานานๆ ลองพูดภาษาล้านนาให้ผมฟังดูแล้วให้ทายว่าคุณเป็นคนภาคเหนือหรือไม่ ผมคิดว่าผมคงทายไม่ผิด เมื่อผมอ่านไตรภูมิกถา วรรณกรรมยุคสุโขทัย ผมรู้สึกเหมือนอ่านคัมภีร์ล้านนา เพราะมีศัพท์ที่ใช้ตรงกันหลายคำที่แปลกหูคนภาคกลาง เช่น สะเล็กสะหน่อย ถามูน เคียดฟุน เยียะสหาว เฃือกเขา ถ้าน ฝีก ลวง อากาศ แร่งอาบแร่งเหล้น ผ้าร้าย ชู่คน เทิง ม้างคา ผิ่ว กระกูล เพิงใจ ส่งสการ หย้าน ก้ำปลาย เข้าหนม ปลาฝา เดือนแปดเพ็ง วันกาบยี ฮวายสัน ที่แร่ว ฯลฯ ต่อไปจะพิจารณาศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นคำ ๆ ไป คือ
กู ในภาคเหนือเมื่อผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อยก็ใช้ กู เหมือนกัน
ู สมัยที่ผมเป็ฯเด็กก็เคยได้ยินช้าวบ้านพูดกันเสมอ
เตียมแต่ นี้เป็นการเขียนตามเสียง ถ้าเขียนตามรูปศัพท์พจนานุกรม ล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง เขียนว่า เทียมแต่ แปลว่า นับตั้งแต่ ขึ้นใหญ่ คำนี้ในปัจจุบัน คนภาคเหนือก็ยังใช้อยู่ แปลว่าโตเป็นผู้ใหญ่
ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ในภาษาล้านนา สำนวนที่มีคำว่าแพ้ อยู่ท้ายประโยค แปลว่า ชนะ ประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่าช้างที่ชื่อมาสเมืองแพ้ แต่หมายถือพ่อขุนรามคำแหงเองเอาชนะช้างชื่อมาสเมืองได้
เพื่อ ในคำพังเพยล้านนาบทหนึ่ง "แกงปลาใสทูนลำเพื่อให้ส้ม" แปลว่า แกงปลาใส่ทูนอร่อย เพราะใส่มะนาว (ส้ม แปลว่า เปรี้ยว ซึ่งก็หมายถึงมะนาวนั่นเอง)
หมากส้มหมากหวาน สำนวนเก่าของล้านนา แปลว่า "ส้มสูกลูกไม้"
ลู่ทาง ภาคเหนือมีคำว่า ยูท่าง และ ดูท่าง ต่างกันตามท้องถิ่น แปลว่า สะดวก มักนิยมใช้นำหน้าคำกริยา เช่น ดูท่างกินดูท่างทาน แปลว่า จะอยู่กินหรือทำบุญทำทานก็สะดวก
กินดี ภาคเหนือชอบพูดว่า กินดีกินลำ
ใครใคร่ค้าช้างค้า ภาคเหนือนิยมพูดว่า ใคร่กิน - กิน ใคร่แอ่ว - แอ่ว (แอ่ว แปลว่า เที่ยว)
ช้างข (อ) ภาคเหนือนิยมใช้คำว่า ช้างขอ ในกรณีที่ต้องการเน้น เช่นเดียวกับที่ชอบพูดว่า งูเงี้ยวเขี้ยวขอ
เยียข้าว ภาคเหนือใช้ต่างกันตามท้องถิ่น เยีย ยุ้ง สาง หลองเข้า ในความหมายเดียวกันคือที่เก็บข้าวเปลือก

เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอสรุปได้ว่าภาษาในศิลาจารึกไม่แปร่งหูคนภาคเหนือเลย แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรู้หลายภาษา แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่าพระองค์ทรางสนพระทัยภาษาล้านนาจนถึงขั้นเรียบเรียงออกมาได้อย่างสละสลวยเช่นนั้น

เท่าที่ผมทราบ พระองค์ทรงเคร่งครัดในเรื่องภาษากลางมาก ถ้าใคใช้คำว่า กับ แก่ แต่ ต่อ ไม่ถูกต้องก็จะทรงมีประกาศให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร คำว่า กะปิ พระองค์ก็ทรงทักท้วงว่าควรเขียน เยื่อเคย ใครเรียกนมแมวว่าถันแมวก็ทรงตำหนิ สมัยนั้นมีคนนิยมเล่นแคนกันในกรุงเทพฯ ก็ไม่ทรงโปรด อาจจะทรงเข้าพระทัยว่าแคนเป็นเครื่องดนตรีของชาวต่างชาติก็ได้ ความเป็นชาตินิยมของพระองค์นั้น ส.ธรรมยศ ได้เขียนไว้อย่างน่าอ่านมากในหนังสือ " พระเจ้ากรุงสยาม "

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ผมจึงเชื่อว่า หลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นของจริงอย่างแน่นอนครับ


บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย. บริษัท รุ่งศิลป์ (1977) จำกัด. กรุงเทพฯ. 2525.
----------. แบบเรียนหนังสือภาษาโบราณ. กองหอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ. 2525.
----------. ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง. โรงพิมพ์คุรุสภา. กรุงเทพฯ, 2527
เจริญ มาลาโรจน์. ลังกาสิบโห (วิทยานิพนธ์). มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ, 2525
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. อักษรไทย. มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ, 2530
ส. ธรรมยศ. พระเจ้ากรุงสยาม. โรงพิมพ์ ส.สง่า. กรุงเทพฯ, 2495
อ้าย อุ่นแพง. ปถมกัปภมส้างโลก. ชื่อโรงพิมพ์และสถานที่เป็นภาษาจีน อ่านไม่ออก. 2531.

[ กลับไปหน้าแรก ]