เกร็ดความรู้คราวเสียกรุง

โดยเทพมนตรี ลิมปพยอม

คัดลอกจากวารสาร สยามอารยะ ปีที่ 2 ฉบับที่ 16 ประจำเดือน เมษายน 2537


ดือนเมษายน เมื่อเกิดเหตุการณ์คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ครั้งนั้นกองทัพพม่ายกเข้ามาอย่างมีระเบียบและมีการเตรียมการวางแผนมาแล้วล่วงหน้า หาได้ใช่ที่ว่าพม่ามาอย่างกองโจร ฝ่ายกองทัพไทยก็มีการเตรียมกำลังตั้งรับพม่าอย่างรัดกุม และมุ่งหวังที่จะให้พม่าพ่ายแพ้อย่างรัดกุม และมุ่งหวังที่จะให้พม่าพ่ายแพ้ไปด้วยยุทธวิธีแบบเดิม คือ ให้น้ำไล่ข้าศึกไปจากพระนคร แต่ทว่า เหตุการณ์กลับตาลปัตร พม่าได้วางแผนรับมือยุทธวิธีแบบนี้ได้สำเร็จ ฝ่ายไทยเองกลับถูกเล่นงานกลับ ชนิดที่ว่าถูกพม่าล้อมกรอบเอาไว้นานกว่า 1 ปี 2 เดือน

วาระสุดท้ายของมหานครริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานามว่ากรุงศรีอยุธยาก็มาถึง ดังเช่นที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุไว้ว่า "พม่าได้เผารากกำแพง จนกำแพงพระนครทรุดพังทลายลง พม่าสามารถเข้าพระนครได้เมื่อวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310" ส่วนหลักฐานฝ่ายพม่าระบุไว้ว่า "กองทัพพม่าเองต้องล้อมพระนครศรีอยุธยาไว้ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2310"

เมื่อพม่าเข้ากรุงได้ก็ทำการเผาพระราชวังบวรสถานมงคล พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระมงคลบพิตร และเก็บกวาดทรัพย์สินตามวัดวาอาราม กวาดต้อนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ไปจนถึงชาวบ้าน เป้นเชลยศึก

สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอัมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศ ผู้มองเห็นเพียงข้างเดียวต้องสิ้นพระชนม์ลงในพระบรมมหาราชวัง หาได้ไปสิ้นพระชนม์ที่วัดสังฆวาสไม่ และพระเจ้าเอกทัศน์เองก็มิได้เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ่หรือลุ่มหลงในอิสตรี ดังเช่นที่เรารับรู้มาแต่เดิม หากแต่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ชาตินักรบ และได้ทรงบัญชาการรบด้วยพระองค์เองจนถึงที่สุด

เพียงแต่สิ่งที่เราได้รับรู้และได้ศึกษากันในปัจจุบันเกี่ยวกับสาเหตุการเสียกรุงศีอยุธยาก็ดี หรือเกี่ยวกับพระเจ้าเอกทัศน์ก็ดี ล้วนแล้วตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองของชนชั้นผู้ปกครองสมัยหลังทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในอดีตจึงมีข้อจำกัดทางข้อมูลและความคิดอยู่มาก จวบจนปัจจุบันนักประวัติศาสตร์รุ่นเก่า ตลอดจนสถาบันการศึกษาบางแห่งยังมิอาจกล้าท้าพิสูจน์ประเด็นนี้อย่างจริงจัง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 จึงเป็นทั้งบทเรียนและแบบเรียนของนักประวัติศาสตร์ในรุ่นปัจจุบันที่ต้องจำใส่ใจตลอดเวลาว่า การนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะต้องนำข้อจริงที่เกิดขึ้นและไม่ควรนำเอาข้อเท็จมาปะปนภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองหรืออิทธิพลใดๆ โดยหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก

สาเหตุที่ไทยเราต้องพ่ายแพ้ศึกพม่าในสงครามคราวเสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 2 นั้น ก็เนื่องมาจากฝ่ายพม่าเองได้ตระเตรียมแผนการและมุ่งหวังที่จะตีกรุงศรีอยุธยาอย่างจริงจัง ฝ่ายไทยเองก็บอบช้ำมามากกับสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่เจ้าฟ้าปรเมศร์ เจ้าฟ้าอภัยกระทำกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคลความขัดแย้งทางการเมืองของเหลาพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตลอดจนความขัดแย้งระหว่าง สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ นอกจากนี้ยังเกิดจากการที่กรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าพาณิชย์นาวี ทางการทูต เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองและการศาสนา จนทำให้ฝ่ายพม่าเองเล็งเห็นประโยชน์ที่จะได้หากตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ

สำหรับฝ่ายไทยเองเราต้องยอมรับว่าได้เว้นจากการทำศึกสงครามมาเป็นเวลานาน ประกอบกับผู้นำอยุธยาอันได้แก่พระเจ้าเอกทัศน์ คาดคะเนสถานการณ์และยุทธวิธีผิดไป ไม่ว่าจะเป็น การสร้างแนวปะทะกันกองทัพพม่าเข้ามาถึงคูพระนคร หรือระบบการส่งกำลังบำรุงให้การสนับสนุนก็ดูจะล่าช้ากว่าฝ่ายพม่ามาก และที่สำคัญที่สุดก็คือ ฝ่ายพม่าเองสามารถเอาชนะยุทธวิธีน้ำหลากที่ฝ่ายไทยมักใช้ได้ผลมาแล้วได้เป็นผลสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้พม่าจึงเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด จนทำให้มหานครอันยิ่งใหญ่ของคนไทยที่มีอายุยืนยาวนานกว่า 417 ปี ต้องถึงกาลอวสาน เมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 นั่นเอง

 

| กลับไปหน้าแรก |