ความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา อุทาหรณ์จากสมัยกรุงศรีอยุธยา
คัดลอกจากวารสาร สยามอารยะ เขียนโดย ด.ร. กิ่งแก้ว อัตถากร
บทนำ
นับตั้งแต่พระบรมศาสดาทรงประกาศพระศาสนากาลล่วงเลยมาบัดนี้ ได้สองพันห้าร้อยปีเศษแล้ว พระพุทธศาสนาได้ผ่านช่วงแห่งความรุ่งโรจน์และภยันตรายมาหลายครั้งหลายครา ยุคใดผู้เข้าถึงธรรมมีปริมาณและคุณภาพสูงพระพุทธศาสนาดูเหมือนสว่างไสว เวลาใด้ผู้เข้าถึงลดน้อยด้อยคุณภาพพระพุทธศาสนาย่อมดูเหมือนอยู่ในม่านเมฆ
ผู้ที่มีความห่วงใยในความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาด้วยเล็งเห็นคุณค่าของสัจจธรรมคำสอนอัน ละเอียดอ่อนลึกซึ้งจึงอดมิได้ที่จะย้อนไปศึกษาอดีต เพื่อแสวงหาข้อมูลอันจะเป็นบทเรียนสอนใจสำหรับปัจจุบันและอนาคต ผู้เขียนเลือกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อศึกษาภาวะที่บาทหลวงคริสตังเข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนา ด้วยความหวังอย่างแรงกล้าที่จะให้คนไทยเข้ารีด การศึกษานี้น่าจะแสดงให้เห็นว่าอะไรคือปัจจัยให้พระพุทธศาสนาอยู่รอด
ข้อมูลที่รวบรวมมาใช้อ้างอิงในบทความชิ้นนี้ ได้มาจากบันทึกหรือจดหมายเหตุที่เขียนโดยชาวต่างประเทศทั้งที่เป็นบาทหลวง อัครราชทูต ทหารและพ่อค้า ข้อเขียนดังกล่าวทำให้เราทราบทัศนะของคนนอกที่มองคนไทยกันทัศนะที่คริสตศาสนิกชนมีต่องานเผยแพร่ศาสนาของเขาในเมืองไทยทั้งนี้ผู้เขียนได้พยายามเสนอภาพพจน์ที่ไม่เป็นการตีความเข้าข้างตนเอง
อยุธยากับพระพุทธศาสนา
แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็นแดนแห่งการศึก แก่งแย่งชิงดีทั้งภายในภายนอกก็ตาม พระพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นที่พึ่งทางกายทางใจของคนทั้งหลายไม่คลอนแคลน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงความเฉียบขาดในด้านการเมืองการปกครองล้วนมีศรัทธาแน่นแฟ้นในบวรพระพุทธศาสนาทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และทรงบำเพ็ญกรณียกิจทางศาสนามิได้ขาด และในฐานะที่ศูนย์กาลงของวัฒนธรรมและความมั่นคงของราชอาณาจักรอยู่ที่วัด ถาวรวัตถุและอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะทั้งทางโลกและทางธรรมได้ผสมผสานเป็นเกลียวเดียวกัน เป็นปรากฏการร์อันพึ่งถึงเป็นอนุสติ ณ ที่วัดนั่นเอง
พระเจ้าอู่ทองทรงโปรดฯให้สร้างสถาปนาวัดใหญ่ชัยมงคล (เดิมวัดเจ้าแก้วไท) และวัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดหลวงในอภิขิตสมัยที่ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงโปรดฯให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ชัยมงคลสวมพระเจดีย์เจ้าแก้วไท เพื่อนเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะและอิสระภาพ
พระเจ้าปราสาททองผู้มีฉายาว่าโหดเหี้ยมพระองค์หนึ่งในการปราบดาภิเษก ทรงกอปรด้วยรสนิยมทางสถาปัตยกรรมและศิลปะ โปรดฯให้สร้างวัดที่งดงามที่สุดวัดหนึ่งคือวัดชัยวัฒนาราม
พระเพทราชาโปรดฯให้สร้างวัดบรมพุทธาราม ณ บริเวณที่เคยเป็นที่นิเวศเดิมของพระองค์ท่าน
ฝ่ายประชาราษฏรก็เจริญรอยตามกุศโลบายในพระบรมกษัตราธิราช จนมีคำพังเพยว่า สร้างวัดเป็นปกติธรรมดา เหมือนสร้างศาลาให้ลูกหลานวิ่งเล่น อยุธยาจึงเป็นเมืองที่มีวัดมากมายล้วยแล้วแต่ประดับด้วยเงิอนทองของมีค่า ที่เหลือใช้ก็ยังฝังไว้ใต้องค์พระ ตามกำแพงและองพระเจดีย์ คนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฝากสมบัติไว้กับพระศาสนาด้วยประการฉะนี้
พระพุทธศาสนาถูกถ้าทาย
นับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงปราบศึกพม่าราบคาบ อาณาจักรแห่งกรุงศรีอยุธยาก็เริ่มมีความปรกติสุขและมีเสถียรภาพทางการเมืองการปกครองอย่างที่ไม่เคยมีมาช้านานฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงครองราชย์สืบต่อมา ก็ทรงดำเนินรัฐประศาสโนบายติดต่อกับต่างประเทศ ทั้งในภาคพื้นเอเซีย และยุโรป อาทิ ญี่ปุ่น แขก ปอร์ตุเกส ฝรั่งเศส ฮอลันดา อังกฤษ ทั้งนี้ทั้งนั้นมีความเฟื่องฟูถึงขีดสุดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
คณะทูตานุทูตที่มาเจริญสัมพันธไมตรี จะเป็นจากปอร์ตุเกสก็ดี หรือจากฝรั่งเศสก็ดี ย่อมประกอบด้วยคณะบาทหลวงผู้เข้ามาทำหน้าที่สอนคริสตศาสนา การครั้งนี้ทางสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราก็มิได้ทรงขัดขวาง เพราะทรงคำนึงถึงความจำเป็นสำหรับคริสตศาสนิกชนที่มาพำนักค้าขายและปฏิบัติราชการอยู่หรือถ้าจะมีส่วนเผยแพร่ให้คนไทยบ้าง ก็ทรงเปิดโอกาสให้เป็นไปตามอัธยาศัย เมื่อท่านราชทูตเดอโชมองต์มาเยือนเมืองสยาม เขาก็ยอมรับว่าสมเด็จพระนารายณ์ " ทรงตั้งพระทัยดีต่อศาสนาคริสตเตียน ทรงสร้างวัดพระราชทานให้ จนถึงที่สุดเมื่อสังฆราช (เดอเมเทลโลโปลิส) กราบทูลของอย่างไรก็พระราชทานให้ทุกอย่าง" (เดอ โชมองต์, 2511:48)
แต่เนื่องจากคณะบาทหลวงถึงว่าการเปลี่ยนศาสนาของผู้อื่นเป็นวัตถุประสงค์สำคัญ จึงพยายามเผยแพร่คริสตศาสนาในลักษระที่เป็นคู่แข่งของพระพุทธศาสนามากกว่าการใช้วิธีอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร
นโยบายการเผยแพร่ศาสนา
การเผยแพร่คริสตศาสนาของคณะบาทหลวงเท่าที่ค้นได้จากบันทึกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีนโยบายหลักคือการเลียนแบบและดูดกลืน ส่วนการดูหมิ่นหรือแกล้งมีประปรายเล็กน้อย
สำหรับการเลียนแบบดูดกลืนนั้น เป็นวิธีการที่บาทหลวงชาวฝรั่งเศสรูปหนึ่งใช้ และได้ผลสำเร็จมาแล้วที่ แซงต์โธเม่ ประเทศอินเดีย ซึ่งบางหลวงตาชาร์ดอ้างถึง มีข้อความว่า "บาทหลวงแต่งเป็นพราหมณ์ ใช้ชีวิตแบบพราหมณ์แต่สอนคริสตธรรมได้ผลสำเร็จ ชักนำคนให้เข้ารีตได้ถึงหกหมื่นคน" (ตาชาร์ด เล่ม 1,2517:85)
คณะบาทหลวงจึงมีนโยบายใช้วิธีการนี้ในประเทศสยามด้วย โดยให้บาทหลงคนหนึ่งเข้าถือบวชคลุกคลีอยู่กับพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ในการถือบวชนี้ให้นุ่งห่มจีวรทำตนเคร่งครัดสันโดษแบบพรุภิกษุ ให้ไปมาหาสู่ประจำและที่สำคัญคือให้ชักจูงพระภิกษุนั้นแหละให้เปลี่ยนศาสนาก่อนคนอื่นก็ต่าจะคล้อยตามได้ง่าย ทั้งนี้บาทหลวงตาชาร์ดได้อธิบายไว้ดังนี้
"ยังจะต้องมีบาทหลวงคณะยูเซอิตอีกสักคณะหนึ่งมาดำเนินการใช้ชีวิตเท่าที่สามารถทำได้อย่างเคร่งครัด และถือวิเวกตามแบบอย่างพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือชาวบ้านเป็นอันมาก ให้ห่มดองแบบภิกษุ ไปมาหาสู่กับพวกภิกษุอยู่เสมอ แล้วให้พยายามชักจูงรูปใดรูปหนึ่งให้หันมานับถือพระศริสตศาสนา วิธีนี้บาทหลวงคณะเยซูอิตชาวปอร์ตุเกสดำเนินการได้ผลมาแล้วที่ มาดูเร แถวประเทศแบงกอล" (ตาชาร์ด เล่ม 1,2517:85)
ต่อมาไม่กี่ปี คณะบาทหลวงก็ได้กระทำตามนโยบายดังกล่าวโดยเลือก หลวงพ่อเลอบลังก์ หลวงพ่อเดอลาเบรย์กับหลวงพ่อดูบูเซต์ ทั้งนี้ต่างยอมรับว่าการใช้ชีวิตเลียนแบบพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นการทดสอบอันทารุณ
อคติธรรมดา
เป็นกฏธรรมดาอันหนึ่งที่ผู้รับผิดชอบในคริสตศาสนาน่าจะเห็นว่า การนับถือพระผู้เป็นเจ้าของเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้องประการเดียว ส่วนการนับถือศาสนาพระพุทธศาสนากลับเห็นเป็นการนับถือผีปีศาจไป บาทหลวงตาชาร์ดได้ติดตามไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่พระราชวังลพบุรี มีความทึ่งที่เห็นมีวัดวาอารามในพระพุทธศาสนามากมาย จนมีฉายาไม่แพ้อยุธยาว่า " พระนครแห่งวัด" แต่เขากลับมีความภาคภูมิใจยิ่งกว่า เมื่อเห็นว่ามีโบสถ์ทางคริสตศาสนาสร้างสำเร็จ จึงถึงกับอุทานว่า "การก่อสร้างพระมหากางเขนกับโบสถ์ฝรั่งขึ้นฉะนี้ เท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะ ของพระเยซูคริสโตเจ้าในจักรวรรดิของภูติผีปีศาจนั่นเทียว" (ตาชาร์ด เล่ม 2,2519:141)
เรื่องอคติมีส่วนเกิดขึ้นเพราะความรักในศาสนาของตนเป็นอันดับแรก อันดับที่สองอาจเกิดขึ้นเพราะขาดผู้ที่จะอธิบายให้เข้าใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นผลจากความแตกต่างทางภาษา กับความแตกต่างทางทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวกับการกำเนิดชีวิต ความหมาย เป้าหมายสูงสุดและวิธีการจะกระทำกับชีวิต
ตัวอย่างเช่น พระพุทธศาสนาในชั้นปรมันต์เล็งเห็นโทษของกามสุขัลลิกานุโยค หรือโทษของการติดอยู่ในบ่วงของรูปหรือประสามสัมผัสทั้งห้า จึงพยายามที่จะให้สาวกตัดกังวลในอุปกรณ์แห่งความเย้ายวนต่าง ๆ เมื่อมีตน ไม่หลงในรูปของตนและไม่เป็นเหตุให้คนอื่นหลง ก็อาจล่วงพ้นไปกระทำกิจอันสูงยิ่งเป็นอริยมรรคอริยผลต่อไป เมื่อบาทหลวงตาชาร์ดไม่เข้าใจประเด็นนี้ ก็ค่อนขอดว่าการโกนผมและคิ้วของพระภิกษุเป็นสิ่งไร้สาระ "พระภิกษุ ต้องโกนผมและคิ้ว โดยอ้างว่าเป็นการไม่สุภาพเรียบร้อยและเป็นบาป ถ้าปล่อยให้มันงอกขึ้นมา ความเชื่อไร้เหตุผลเช่นนี้ ทำให้เราเกิดความเวทนาอย่างยิ่ง" (ตาชาร์ด เล่ม 1, 2517:21-23)
ปกติชาวต่างชาติที่เข้าสู่แหล่งวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากของตนย่อมมีคำถามมากมาย และพบใครก็มักถามเรื่อยไป ผู้ตอบก็ตอบไปตามความรู้ความเห็นผิดบ้างถูกบ้าง ทีเล่นทีจริงบ้าง คนไทยบางคนชอบมีอารมณ์ขันอันเหลือเชื่อก็เล่าเพียงเพื่อให้สนุกสามารถ "หลอก" ฝรั่งได้ก็มี เรื่องนี้บรรดาล่ามต้องใคร่ครวญให้มาก ในบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด มีนิยายอยู่หลายเรื่องเกี่ยวกับพระสมณโคดม (เช่นเรื่องพระสมณโคดมมาเล่นว่าวในเมืองสยาม) ที่ผู้เขียนในฐานะคนศึกษานิทานไทย ก็ยังไม่เคยได้พบเห็น และเรื่องของบาทหลวงตาชาร์ดดังกล่าวก็มีผู้ติดใจอ้างถึงต่อไปนี้ เช่น วอลแตร์ ในพจนานุกรมปรัชญา (ค.ศ.1752)
อคติในบางกรณีทำให้เกิดมีการกลั่นแกล้งกันขึ้นเช่น เมื่อบาทหลวงตาชาร์ดและคณะไปเรือแตกอยู่ที่จันทบุรีมีเรื่อชาวบ้านช่วยให้ไปพักค้างแรมที่วัดแห่งหนึ่งในหมู่บ้านสามไห้ เมื่อเข้าไปในศาลาคงแลเห็นมีพระพุทธรูปและเทียนที่ใช้จุดบูชาวางไว้จึงล้มทิ้งเสียและแทนที่จะขอบคุณเจ้าของถิ่นก็กลับขอบคุณแต่พระเจ้าของตนเป็นต้น
"เขานำเราไป ที่วัดแห่งหนึ่งพอหลบฝนได้ เราได้ล้มเทียนและรูปปั้นเหล่านั้นเสียหมด เพื่อขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ผู้เที่ยวแท้ ซึ่งด้วยพระเมตตาคุณของพระองค์ ท่านพระองค์เดียวเท่านั้นที่บันดาลให้เรารอดพ้นจากเรืองอัปปางได้ "(ตาชาร์ด เล่ม 2, 2519:86)
ความมีอคติที่แสดงออกด้วยประการต่าง ๆ นี้ ย่อมเป็นที่สักเกตและตระหนักได้ดีในหมู่คนไทย โดยทั่วไปคนไทยไม่ก้าวร้าวอาคันตุกะ และมักเกรงใจอาคันตุกะ มีการยกย่องให้เกียรติเป็นนิสัย ฉะนั้น ปฏิกิริยาจึงมักเป็นไปในเชิงสงสัยในความก้าวร้าวของอีกฝ่ายหนึ่ง มากกว่าที่จะโกรธตอบ
เรื่องนี้ฟอร์บังบันทึกถึงทัศนคติของพระภิกษุไทยไว้อย่างน่าคิดว่า "เมื่ออาตมาภาพเห็นว่าศาสนาของท่านเป็นศาสนาที่ดีเหตุไรท่านจึงไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีเหมือนกันเล่า "(ฟอร์บัง , 2513:247)
บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น
ความต้องการที่จะเผยแพร่คริสตศาสนาของคณะทูตสันถวไมตรีและคณะบาทหลวงมีมากในยุคของสมเด็จพระนารายณ์นั้น ท่านเปิดโอกาสให้อย่างยิ่งทั้งนี้ถ้าว่าเป็นเรื่องดีก็เห็นในแง่ที่ว่า เป็นการผ่อนสั้นผ่อนยาวตามกุศโลบายทางการเมืองประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเป็นการทดสอบอย่างยิ่ง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ได้ผ่านการทดสอบเป็นอย่างดีเข้าลักษณะบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นอุปมาเหมือนเขาส่งลูกบอลมา เราก็มีหน้าที่เป็นกำแพงเท่านั้น ไม่ต้องตีลูก ลูกก็กระเด็นกลับไปเองโดยอัตโนมัติ ฝรั่งที่สังเกตการณ์อยู่ก็ทราบว่าการเผยแพร่คริสตศาสนาไม่ได้ผลตามเป้า ฟอร์บัง เคยกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วยซ้ำว่า " ผู้สั่งสอนศาสนาชักชวนคนไทยเข้ารีตไม่ได้สักคนเดียว" ในเรื่องนี้แม้บาทหลวงตาชาร์ดก็ยอมรับโดยกล่าวว่า " ความจริงนั้นก็มิได้รับความร่วมมือจากประชาชนพลเมืองมากมายนักดอก เพราะว่าคนสยามไม่ได้เข้ารีตเป็นคริสตัง มีแต่ชาวฝรั่งเศสกับชาวปอร์ตุเกสที่อยู่ในเมืองละโว้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น" (ตาชาร์ด เล่ม1 , 2519:141)
ความมั่นคงสามประการ
จากกรณีศึกษาดูบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และสมัยใกล้เคียง พอจะประมวลองค์ประกอบแห่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนาได้ 3 ประการคือ พระมหากษัตริย์ พระภิกษุ และประชาชน
พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นมหาราชซึ่งยิ่งด้วยบารมีเป็นบารมีในบุคลิกทั้งภายในและภายนอก ยังผลให้ทรงไว้ซึ่งพระเดชและพระคุณ ในขณะเดียวกันทรงเปิดโอกาสให้เสรีภาพอย่างยิ่งแก่บุคคลที่ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ (เช่นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์) แก่คณะเอกอัครราชทูต (เช่น เดอโชมองต์ และ ลาลูแบร์) แก่คณะของบาทหลวง (เช่น ตาชาร์ด) แก่กองทหารฝรั่งเศส (ซึ่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์อ้างพระบรมราชโองการขอไปยังพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) แก่นักวิทยาศาสตร์ (ที่มาถวายความรู้พร้อมกับคณะทูต) ฯลฯ และในความมีเสรีภาพอันเปิดกว้างเช่นนี้ พระองค์ก็สามารถทรงความเป็นที่ยำเกรงได้โดยตลอดไม่ปรากฏได้มีการบีบบังคับให้ทรงยินยอมคล้อยตามได้เลยในเรื่องที่มิใช่พระราชประสงค์
บาทหลวงตาชาร์ดในคณะของท่านราชทูตเดอโชมองต์ซึ่งหมายนั่นมาแปลงศาสนาพระองค์ ก็ยอมรับว่าไม่อาจทำได้สำเร็จดังพรรณาถึงเหตุการณ์ตอนจะเข้าเฝ้าพร้อมกับราชทูตเดอโชมองต์ว่า " ม. เดอโชมองต์ ก็หันไปสนทนาเกี่ยวกับเรื่องการแปลงศาสนาของพระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการแต่งทูตมาในครั้งนี้ ม.ก๊องสตังซ์ (เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) แสดงความประหลาดใจอยู่ และบอกท่านราชทูตว่าเป็นสิ่งที่เขามีความปรารถนาเป็ฯอย่างยิ่งที่สุดในโลกทีเดียว หากแต่ว่าเขายังมองไม่เห็นลู่ทางเลย พระเจ้าแผ่นดินทรงมีความผูกพันกับศาสนาแห่งบรรพชนของพระองค์ยิ่งนัก" (ตาชาร์ด เล่ม 1, 2517:37 ดูเปรียเทียบ เดอ โชมองต์, 2511:47-54)
จุดใหญ่จึงมาลงที่ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนา ความมั่นคงดังกล่าวมิได้แสดงด้วยการเจรจาตอบโต้หรืออภิปรายเฉพาะครั้งเฉพาะคราว หากแต่เป็นสิ่งที่ทรงแสดงด้วยกิจวัตรและพระราชกรณียกิจอันสำคัญทางศาสนา ซึ่งทำให้คนทั้งหลายแม้แต่ชาวต่างชาติต้องประจักษ์ด้วยตนเอง จนมิอาจกล้าที่จะเสนอกิจที่เป็นอื่นได้
กาลลัวซ์ เขียนถึงสมเด็จพระนารายณ์ว่า เคยมีพระบรมราชโองการให้คัดคัมภีร์พระไตรปิฎกโดยสมบูรณ์ทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ และโปรดให้นิมนต์พระไปแสดงธรรมถวายเป็นครั้งคราว
นอกจากนี้บุคลิกภายในและภายนอกของพระองค์เป็นที่รักและยำเกรงประกอบกับผู้คนไม่หาญกล้าที่จะขัดพระราชประสงค์ น่าจะมิใช่เพราะกลัวอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเพราะพระองค์ท่านสุภาพเสียจนต้องผ่อนปรน บาทหลวงตาชาร์ด พรรณาว่า "เป็นผู้ทรงมีความละเอียดอ่อนในเรื่องมรรยาท" และฟอร์บังก็กล่าวสนับสนุดเช่นกัน ว่า ทรงมีมรรยาทงามกับทั้งสง่าผ่าเผย
สมเด็จพระนารายณ์ทรงกอปรด้วยความละเมียดละไม ซึ่งฝรั่งเองยอมรับว่าเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทยและคงมีไม่น้อยทีเดียวที่โอนอ่อนตามคุณสมบัตินี้ เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างไมตรีจิตมิตรภาพ นาเวเรต์ พ่อค้าข้าวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ประจำอยู่ในสยาม ถึงกับแนะนำไปยังบริษัทของเขา (ปี ค.ศ. 1682) ว่าควรพิถีพิถันในการเลือกส่งคนไปเมืองสยาม ขอให้เป็นคนดีมีอัชฌาสัย ดังข้อความต่อไปนี้ " และท่านจะส่งคนให้มาอยู่ในเมือง (สยาม) นี้แล้ว คนเหล่านั้นจะต้องเป็นผู้ดีและเป็นคนที่สุภาพเรียบร้อยจึงจะได้ มิฉะนั้นก็อย่าส่งคนมาเลยจะดีกว่า" (วาเรต์, 2511:29)
เมื่อเป็นดังนี้ ความมุ่งมาดของคณะราชทูตเดอโชมองต์ที่จะทูลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้ารีตเป็นอันต้องเพลาลง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เองก็ได้แสดงให้คณะราชทูตเห็นว่า การเพ็ดทูลน่าจะเป็นการขัดพระกรุณา และได้ถือโอกาสตัดข้อความที่ล่อแหลมออกไปพอสมมควร เมื่อทำหน้าที่ล่ามถวายเวลาท่านราชทูตและคณะบาทหลวงเข้าเฝ้า ทังฟอร์บังยังยืนยันว่า "พระนารายณ์ไม่เคยทรงพระราชดำริจะเข้ารีตเลยและไม่มีมนุษย์ใดกล้ากราบบังคบทูลแนะนำให้ทรงเลื่อมใสคริสตศสนาด้วย"
พระภิกษุ ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยหรือขัอวัตรปฏิบัติเป็นบารมีอันยิ่งใหญ่ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา วินัยบัญญัติทั้ง 227 ข้อนับเป็นการแจงวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมของคำสั้น ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงใช้สำหรับประมวลทางอันเป็นอริยมรรคสายนี้มุ่งสละความยึดติดในโลกดังนั้นการประพฤติใด้มีเค้าความเป็นโลก โลกย่อมต้องฝืนแล้วขจัดออก ผู้ให้ทำได้จึงได้รับความยกย่องนับถือเพราะหากยังทำตนเหมือนคนทั่วไปจะไปนับถือกันทำไมเล่า?
มิใช่แต่ชาวพุทธเท่านั้นที่ยอมรับความจริงในข้อนี้ แม้ในหมู่ชาวคริสต์เองก็อดมิได้ที่เห็นว่า วินัยทำให้พระภิกษุเป็นบุคคลที่พิเศษควรแก่การคารวะ และก็วินัยอีกนั้นแหล่ะที่ทำให้พระภิกษุเป็นแกนสำคัญแห่งความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา ฟอร์บังวิเคราะห์สาเหตุแห่งการที่คริสตศาสนาไม่ประสบความสำเร็จในการแผ่ขยายในประเทศสยามว่า เนื่องมาจาก "จรรยาวัตรของพระภิกษุสงฆ์" (ฟอร์บัง น.24-56) ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น สองหัวข้อดังนี้
1. จรรยาวัตรเกี่ยวกับการบริโภค กล่าวคือ "ไม่เสพสุราเมรัยฉันแต่ของที่คนใจบุญถวายไปวัน ๆ ของที่ได้มากเกินกว่าความจำเป็น ก็มอบให้คนจนไม่เก็บไว้สำหรับวันรุ่งขึ้นเลย" และสำหรับอาการที่ภิกขาจารก็สำรวม "เพียงแต่ถือบาตรไปยืนนิ่งๆ " (ฟอร์บัง, 2513:24 5-6) ยิ่งกว่านั้นยัง "ทรมานอดอาหาร" อีกด้วย
2. จรรยาวัตรเกี่ยวกับการสังคม คือพระภิกษุไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่ข้องในอิสตรี จริงเป็นผู้ "สงบกามารมณ์" ทั้งยังคำนึงถึงที่อันควรโคจรด้วย จึงไม่ปรากฏว่าพระภิกษุเดินท่องเที่ยวไปไหน จะเห็นก็แต่เวลาออกบิณฑบาตทั้งฟอร์บังและบาทหลวงตาชาร์ดเอง ยอมรับว่าความเคร่งครัดน่าเลื่อมใส่ยิ่งกว่า ผู้ที่ถือว่าเคร่งในคริสตศาสนาเสียอีก " พระภิกษุสงฆ์เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว สังเกตดูภายนอกก็เห็นจะประพฤติดีกว่าผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้าของเรามาก (ฟอร์บัง, 2513:24 )
บาทหลงตาชาร์ดเมื่อคราวเรือแตกที่จันทบุรี ได้ไปอาศัยค้างคืนอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ได้เห็พระภิกษุ 3 รูปเข้าไปสวดมนต์ทำวัตรเช้าเข้าโบสถ์ ใจหนึ่งก็มีอคติรังเกียจว่าเป็นเรื่องนอกศาสนาของตน อีกใจหนึ่งกลับรู้สึกประทับใจ "ข้าพเจ้ายอมรับสารภาพว่า ตัวอย่างของบุคคลที่น่าสงสารเหล่านี้ ก่อให้เกิดความประทับใจเสียยิ่งกว่าธรรมเทศนาและหนังสือธรรมะใด ๆ ซึ่งเราต้องใช้ความอ่อนน้อมในการประพฤติปฏิบัติต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าประเสริฐ ไม่ว่าเราจะอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ในโบสถ์หรือกล่าวขวัญถึงพระองค์ในขณะสวดอ้อนวอนอยู่ก็ตาม เราได้เห็นชาวยุโรปน้อยคนนักที่แสดงอาการสงบเสงี่ยมถึงขนาดนี้และอยู่ในอิริยาบถเดียวเป็นเวลาช้านานในการสวดมนต์"(ตาชาร์ด เล่ม 2 , 2519:93-4)
ประชาชน ประชาชนคนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นคนมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนาพอสมควรทีเดียว ในสายตาชาวต่างประเทศแล้ว คนไทยเป็นคนมีคุณสมบัติ 2 ประการ คือใจบุญ กับ อ่อนนอกแข็งใน
ก. ลักษณะความใจบุญ ปรากฏในกรณียกิจต่อพระศาสนาหนึ่ง ต่อเพื่อนมนุษย์หนึ่ง และต่อสัตว์ดิรัจฉานหนึ่ง
ในกรณียกิจที่เกี่ยวกับพระศาสนานั้น คนไทยทำบุญถวายสังฆทานเป็นประจำ ส่วนถาวรวัตถุเล่าก็มิได้ทอดทิ้ง สร้างวัดเป็นเรื่องที่นิยมกันมาก ตาชาร์ดเล่าว่า "ไม่มีใครเลยที่ว่าเมื่อเดินทางไปสักหนึ่งลิเออแล้ว จะไม่พบวัดเข้าสักแห่ง" โดยเฉพาะเกาะเมืองอยุธยามีวัดไม่ต่ำกว่า 145 วัด ต่อเนื้อที่ประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร
ท่านอัครราชทูตลาลูแบร์ กลับไปเขียนบันทึกเล่านิสัยคนไทยว่า "ชาวสยามผู้ใดมั่งมีพอแล้วก็ไม่เว้นที่จะสร้างพระอุโบสถและฝังทรัพย์สมบัติอันมีค่าบรรดาที่เหลือใช้เหลือสอยไว้" (ลาบูแบร์ เล่ม 1,2510:553) ความจริงคนไทยก็มิใช่คนร่ำรวยเท่าใดนัก เพราะทำกสิกรรม และถึงจะค้าขายก็พอประมาณ แต่ไม่ว่าจะมีเงินทองของมีค่าอย่างไรขึ้น ก็ภูมิใจอุทิศถวายต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น เรียกว่า เห็นพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งระลึกอย่างเดียว ไม่ได้สุรุ่ยสุร่ายจ่ายแจกไปในเรื่องไร้สาระ
บาทหลวงตาชาร์ด อดแสดงความทึ่งไม่ได้ เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปทองคำที่มีราคาสูงยิ่ง " เราไม่เข้าใจเลยว่าประชาชนพลเมืองที่ค่อนข้างยากจนเหล่านี้ไปได้ทองคำมาจากไหนมากมายถึงขนาดนี้ และก็ไม่สามารถหักห้ามมิให้รู้สึกประทับใจได้เลยเมื่อได้เห็นพระพุทธรูป ซึ่งเพียงองค์เดียวเท่านั้นก็มีมูลค่ากว่าตู้ศักดิ์สิทธิ์ ( Tabernacie ) ทุกแห่งในโบสถ์ฝรั่งทั้งหลายของทวีบยุโรปรวมกัน พระพุทธรูปล้วนเป็นทองคำและประดับอัญมณี" (ตาชาร์ด เล่ม 1, 2517:61)
ในกรณียที่เกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ คนไทยเป็นคนสุภาพ (ลาลูแบร์ เล่ม 1, 2510:239) ผู้ชายไม่ดุร้าย (ฟอร์บัง, 2513:246) และเด็ก ๆ ว่าง่าย (ฟอร์บัง,2512:24 6 ลาลูแบร์ เล่ม1, 2510:239) ลักษณะการปฏิบัติต่อกันจึงเป็นเรื่องของถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มีความ เอื้อเฟื้อต่อกันไม่มีคนที่รวยมากและที่จนมาก ดังที่ฟอร์บังตั้งข้อสังเกตว่า " เราจะไม่แลเห็นคนที่จนต้องมาขออาหารมารับประทาน"
ในกรณีที่เกี่ยวกับสัตว์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คนไทยแม้จะยังไม่ถือมังสวิรัติก็ไม่เบียดเบียนสัตว์ใหญ่ มีปรกติกินอาหารปลา ลาลูแบร์สังเกตว่าไม่มีโรงฆ่าสัตว์เพราะ " ชาวสยามไม่ค่อยชอบบริโภคเนื้อสัตว์" ส่วนเรื่อง "บูชายัญ" นั้นไม่มีกระทำกันเลย ในกรณีนี้ ลาลูแบร์อ้างถึงหลักพระพุทธศาสนาด้วยว่าพระบรมศาสดาห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ลาลูแบร์ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่คนไทยสามารถครองความดีมีศีลธรรมไว้ได้ก็เนื่องจาก "ใช้ชีวิตสันโดษ" นี้หมายถึงการไม่ปรนเปรอตนเองด้วยความสุขมีความพอใจในการสร้างประโยชน์และถวรวัตถทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้พระพุทธศาสนามีหลักฐานมั่นคง และกุลบุตรก็นิยมบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนเพื่อสืบทองพระธรรมคำสอน
ข. ลักษณะอ่อนนอกแข็งใน คนไทยมีลักษณะนิสัยไม่ขัดคอใครซึ่งหน้า ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยก็รู้จักผ่อนปรนเพื่อเป็นการรักหน้า ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ฟอร์บังตั้งข้อสังเกตว่า " คนไทยเป็นคนว่านอนสอนง่ายเพราะฉะนั้นจะสั่งให้ทำอะไรก็ทำตามความต้องการ" ยกตัวอย่างเช่นว่า เมื่อ บาทหลวงมาแสดงธรรมคนไทยก็ไม่ขัด และดูจะให้ความสนใจดีโดยตลอด " เมื่อผู้สั่งสอนศาสนาเราแสดงคริสต์ธรรม คนไทยซึ่งเป็นคนว่านอนสอนง่ายนั่งฟังธรรมปริยายนั้นเหมือนฟังคนเล่านิทานให้เด็กฟัง ความพอใจฟังของเขานั้นไม่ว่าจะสอนศาสนาใดก็ชอบฟังเท่านั้น" นิสัยโอนอ่อนผ่อนปรนทำนองนี้ ยังมีปรากฏในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กาลลัวซ์ เมื่อเขียนถึงคนไทยช่วงที่บาทหลวง ปาลเลอกัวส์ มาเผยแพร่ศาสนา ก็ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นกันว่า คนไทยนั้น " ไม่รังเกียจต่อการปฏิบัติในศาสนาของชาติต่างด้าว แต่ก็มีศรัทธาในศาสนา ประจำชาติของตนอยู่เหนือสิ่งอื่นใด" (กาลลัวซ์,2514:22)
สรุป
ตราบใดที่พุทธบริษัทยังคงกอปรด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งจริยาวัตรอันทรงธรรมทรงวินัย ตามสมควรแก่สถานภาพของตน ตราบนั้นพระสัทธธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาก็จะยังคงดำรงอยู่ ความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาย่อมมีส่วนชี้ให้เห็ฯว่ามนุษย์จะยังคงมีเสรีภาพที่เลือกทางเดินของตน ด้วยความรับผิดชอบในเจตนคติ และผลทั้งหลายอันจะเกิดขึ้น ปัญหาเป็ฯสิ่งที่เราสร้างและการจะหมดปัญหาก็ต้องเป็นสิ่งที่เราแก้ปัญหาเป็นเสิ่งที่เพิ่มพูนได้ ความทุกข์ทั้งหลายเป็นเรื่องมาจากกิเลส อัตตวาทุปาทานในตัวเอง หรือในรูปแบบแห่งเทววิสัยยังมิใช่ทางอันประเสริฐ ผู้เห็นคุณค่าของอริยมรรค ย่อมคุ้มคอรงพระสัทธธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยประการดังกล่าวแล้วข้างต้นแล.
เอกสารอ้างอิง
กาลลัวซ์, เอเตียน ราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร กรมศิลปากร, 2514. 113 หน้า
โชมองต์, เดอ. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 40-41 เล่ม 24 คุรุสภา, 2511. 324 หน้า
ตาชาร์ด, บาทหลวง (เล่ม 1) จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร กรมศิลปากร 2517. 145 หน้า
ตาชาร์ด, บาทหลวง (เล่ม 2 ) จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่สอง แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร กรมศิลปากร 2519. 296 หน้า
ฟอร์บัง. จดหมายเหตุฟอร์บัง ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 80 เล่ม 50 คุรุสภา 2513. 267 หน้า
ลาลูแบร์, เดอ. จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร สำนักพิมพ์ก้าวหน้า 2510. 639 หน้า
เวเรต์. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 44 เล่ม 26 คุรุสภา 2511. 290 หน้า
Voltaire. Philosophical Dictionary trans. by Peter Gay. Basic Book, Inc., New York, 1962
[ กลับไปหน้าแรก ]