พระดำรัสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง ศิลาจารึก สุโขทัยหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2532 ในวาระเสด็จทรงเป็นองค์ประธานการอภิปรายเรื่อง " ศิลาจารึกหลักที่ 1 " ณ ห้องประชุมใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม กรุงเทพฯ

กองบรรณาธิการ "ศิลปวัฒนธรรม" ขออัญเชิญพระดำรัสมาตีพิมพ์ไว้เพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ และเพื่อให้ท่านผุ้อ่านที่สนใจเรื่องนี้ได้ศึกษาต่อไป


าพเจ้ามีความยินดีที่มีผู้สนใจในเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งเรารู้จักในนามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ตั้งแต่เรียนประวิติศาสตร์ไทยกันมาในโรงเรียน ทุกคนจะยิ่งคุ้นกับรูปร่างของศิลาจารึกหลักนี้ เมื่อในปี 2526 ซึ่งเป็นปีที่มีการฉลองครบรอบ 700 ปีของลายสือไทย ซึ่งพ่อขุนได้ใส่ไว้ คำว่าใส่นี้ยังไม่กระจ่างนัก ตามที่ ดร.เกดนีย์ ได้กล่าวไว้จะแปลว่าคิดขึ้น หรืออะไรอื่น เช่น ซ่อมแซมก็ได้ ซึ่งเป็นคำแปลที่ว่าซ่อมแซมนั้นเป็นคำแปลในภาษาไทยตระกูลหนึ่ง

ข้าพเจ้าขอเล่า ทำไมข้าพเจ้ามาสนใจเรื่องหลักที่ 1 นี้ขึ้นมา เมื่อสามสี่ปีมาแล้วมีผู้มาพูดให้ฟังว่า เขาพูดกันว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 หลักนี้พ่อขุนรามคำแหงอาจจะไม่เป็นผู้ทำขึ้นมาก็ได้ ข้าพเจ้าก็ต้องภามทันทีอย่างที่ทุกคนคงอยากถาม "ใครเล่าเป็นผู้ทำขึ้นมา" เมื่อได้ยินคำตอบก็ออกจะตกใจและไม่เชื่อ คิดว่าเขาคงจะพูดเล่น ซึ่งก็ไม่เห็นเป็นเรื่องตลกจนนิดเดียว

เรื่องก็เงียบไปพักหนึ่งจนถึงปี 2530 นานๆ ทีจึงมีผู้ถามว่าได้ยินมั๊ยเรื่องหลักที่ 1 นี้ ในเดือน กรกฎาคม 2530 ดร.ไมเคิล วิกเกอรี่ จากมหาวิทยาลัย อดิเลด ในออสเตรเลีย ได้เสนอบทความในการประชุมไทยศึกษา ณ กรุง แคนเบอร่า ซึ่งตั้งคำถามว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นของเก่าจริงหรือเป็นของที่สร้างขึ้นมาภายหลัง

ต่อจากนั้นนิตยสารศิลปวัฒนธรรมได้ลงบทความเกี่ยวกับการปลอมหลักที่ 1 นี้มาบ่อยๆ นับได้ 5-6 เล่ม พร้อมทั้งฉบับ พิเศษโดยเฉพาะอีกด้วย

ปี 2533 ข้าเจ้าอยู่ต่างประเทศหลายเดือน จึงไม่มีโอกาสไปฟังการปาฐกถาของ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ที่แสดงที่สยามสมาคมและที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ได้รับฉบับที่พิมพ์ออกมาภายหลัง เมื่อ ม.จ. สุภัทรดิส ดิศกุล ชักชวนให้ไปฟังการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในเดือนพฤศจิกายน 2531 ข้าเจ้าก็รับด้วยความยินดี ผู้อภิปรายคือ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี โดยมี ม.จ. สุภัทรดิศ เป็นผู้ดำเนินรายการและอภิปรายด้วย การอภิปรายนั้นเป็นการตอบไม่ใช่การโต้ตอบสิ่งที่ ดร.พิริยะ ได้พูดไว้ก่อน เมื่อจบการอภิปรายแล้ว ข้าพเจ้าทูลถาม ม.จ.สุภัทรดิศ ว่าทำไมจึงไม่เชิญ ดร.พิริยะมาด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเวลา จะได้ทันใจดีด้วย ไม่ต้องคอยเป็นเดือนๆ กว่าจะตอบกัน ท่านสุภัทรดิศ รับสั่งว่า เชิญเขา เขาก็ไม่มาหรอก ถ้าใตฝ่าพระบาททรงเชิญ เขาอาจจะมาก็ได้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าน่าจะลองจัดดู ด้วยเหตุว่าเดี๋ยวนี้มีผู้ที่ได้ยินเรื่องหลักที่ 1 ปลอมหรือไม่ปลอมกันมานานแล้ว มามากแล้ว ข้าพเจ้าจึงคิดว่าคงจะมีผู้ที่อยากจะทราบว่าเรื่องเป็นอย่างไรถึงแม้ว่าจะไม่ได้ศึกษาปัญหานี้มาก่อน

ในการอภิปรายครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงขอวิงวอนให้ผู้อภิปรายพูดกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่พูดดังที่จะพูดระหว่างนักวิชาการกันเอง ถึงอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอพูดถึงหลักบางหลักซึ่งผู้อภิปรายคงจะต้องเอ่ยถึง ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเลขที่ของหลักต่างๆ โดยขออนุญาตใช้ข้อความจากหนังสือของ ดร.พิริยะ ไหนๆ มีหนังสือขายอยู่แล้วข้างหน้า ก็ขอโฆษณาให้ด้วย ไม่คิดอะไรด้วย ไม่รับเงิน

นี่คือหนังสือของ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งอ่านข้างหน้าลำบากหน่อยเพราะเป็นอักษรพ่อขุนรามคำแหง "จารึกพ่อขุนรามคำแหง : การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ" ในนี้ก็มีเรื่องที่ ดร.พิริยะ ได้พูดในปฐกถา 2 แห่งและมีเพิ่มเติมอีกมาก โฆษณาอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องโฆษณาอีกฝ่ายหนึ่ง มีหนังสือเล่มใหม่เพิ่งได้รับ ชื่อว่า "คำอภิปรายศิลาจารึกหลักที่ 1 จริงหรือปลอม" โดยสมาคมโบราณคดีแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดทำ หนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าถึงการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงเมื่อสักครู่

ดร.พิริยะ ได้เขียนว่า ส่วนมากศาสตราจารย์เซเดส ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสที่มาเป็นผู้ดูแลหอพระสมุดวชิรญาณอยู่พักหนึ่ง จะเป็นผู้ชำระและแปลจากจารึกสุโขทัย โดยรวบรวมตีพิมพ์ขึ้นในหนังสือประชุมจารึกสยามภาคที่1 จารึกสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2467

นี่เป็นคำพูดของ ดร.พิริยะ ศาสตราจารย์เซเดสเข้าใจว่าน่าจะได้พบสิ้นเชิงแล้ว จึงเห็สมควรพิมพ์พรวมเล่มได้ จารึกในเล่มนี้มี 15 หลัก ซึ่งศาสตราจารย์เซเดสได้ให้หมายเลขไว้ตามอายุเวลาที่ปรากฏในจารึก หรือตามคาดคะเนของท่าน ดังนั้น ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงจึงเป็นหลักที่ 1 เพราะเป็นจารึกภาษาไทยหลักแรก

ในปี 2472 ศาสตราจารย์เซเดสได้ตีพิมพ์ประชุมศิลาจารึกสยามภาคที่ 2 จากกรุงทวารวดีเมืองละโว้ และเมืองประเทศราชขึ้นแก่เมืองศรีวิชัย จารึกเหล่านี้เก่าแก่กว่าจารึกสุโขทัย แต่ก็มีหมายเลขเรียงต่อไปคือ 16-29 ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตีพิมพ์หนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3 ในปี 2508 หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ศิลาจารึกตั้งแต่หลักที่ 30 ถึงหลักที่ 84 การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ทำให้หมายเลขที่ของศิลาจารึกคละเคล้ากันไปทั่วทุกภาค และเรียงอายุเวลาของศิลาจารึกก็ยิ่งสับสนมากขึ้น ต่อมาก็ได้มีอีกหลายเล่มจนถึงเล่มเท่าที่ข้าพเจ้าได้หาพบ เล่มที่ 6 ภาค 2 ซึ่งไปถึงหลักที่ 284

อยากจะพูดถึงหลักสำคัญซึ่งข้าพเจ้าได้ถามผู้อภิปรายแล้วว่าน่าจะพูดถึงหลักไหนบ้าง เพราะผู้อภิปรายนี่คงจะพูดถึงหลักที่ 4 หลักที่ 3 อะไรเช่นนี้ แล้วเราก็ต้องทราบเองว่าหลักที่ 4 ที 5 นี่คืออะไร เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจะพูดถึงหลักพวกนี้ ถ้าใครมีดินสอก็จดไว้นิดหน่อย ถ้าท่านเป็นนักวิชาการในเรื่องนี้ก็คงทราบดีอยู่แล้ว

หลักที่ 1 ก็คือศิลาจารึกพ่อขุนรามกำแหง ได้กล่าวกันมาว่ารัชกาลที่ 4 ทรงนำมาพร้อมกับหลักที่ 4 และมนังคศิลาบาตร คือพระแท่นศิลานั้นมาพร้อมกัน และเข้าใจว่าสลักขึ้นในปี พ.ศ. 1835 ที่ให้ปีนี้ก็เพราะว่าเป็นปีที่สกัดกระดานมนังคศิลาแท่นนั้นในปีนั้น ก็เลยเหมาเอาว่าเป็นปีเดียวกัน

มีผู้แสดงความสงสัยถึงเวลาที่ได้สกัดได้จารึกหลักนี้ขึ้นมานานแล้ว เช่นอาจารย์แสง มนวิทูร ข้าพเจ้าได้พบศิษย์ 2 คนเร็วๆ นี้ของอาจารย์แสงก็ได้ถามเรื่องนี้ว่า เคยพูดอะไรมาบ้าง ทั้งสองคนก็พูดอ้อมแอ้ม ในที่สุดก็ไม่ได้อะไร ก้ไม่ได้ยินอะไรมา แต่าบางท่านก็คงได้ยินมาบ้างว่าอาจารย์แสงได้พูดว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 นี่ไม่ใช่พ่อขุนรามกำแหงหรอก เป็นของรัชกาลที่ 4 นอกจากนั้นก็ยังมีคุณปรีดา ศรีชลาลัย ได้เขียนบทความเร่องเวลาที่เข้าคิดว่าได้จารึกขึ้นมา และมี ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี ซึ่งได้รับสั่งมานานแล้ว่า ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง แต่มาเมื่อมีดร.ไมเคิล วิกเกอรี่ อีก การพบของรัชกาลที่ 4 นั้นเป็นเมื่อ พ.ศ.2376 เวลานี้หลักนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถ้าได้มาฟังการอภิปรายนี้แล้ว อยากจะไปดูหลักจริงก็ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ตอนที่ 1 ของหลักนี้มี 17 บรรทัดซึ่งเป็นประวัติของพ่อขุนรามกำแหง ในสรรพนามว่า "กู" เล่าถึงเรื่องครอบครัวของท่านจนถึงท่านได้ครองราชย์

ตอนที่ 2 นั้นก็ยังอยู่ในด้านที่ 1 ศิลาจารึกมี 4 ด้าน ได้สลักอยู่ใน 4 ด้าน ด้านที่ 1 นั้นตั้งแต่บรรทัดที่ 18 ถึงด้านที่ 4 เลยด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 พ่อขุนรามกำแหงได้ใช้สรรพนามว่า "พ่อขุนรามกำแหง" แทนคำว่า "กู" ได้พูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัย การปกครอง การศาสนา การสร้างพระแท่นมนังคศิลาบาตร การสร้างวัด การสร้างอักษรไทย ใน พ.ศ.1826 การสร้างหรือไม่สร้างได้กล่าวเมื่อสักครู่

ตอนที่ 3 นั้นอยู่ในด้านที่ 4 ตั้งแต่บรรทัดที่ 12 จนจบเป็ฯการสรรเสริญพ่อขุนรามกำแหงและพูดถึงอาณาเขตสุโขทัย

ผ่านไปถึงหลักที่ 2 หลักที่ 2 นี่ก็มีความสำคัญเหมือนกัน เรียกว่า ศิลาจารึกวัดศรีชุม วัดศรีชุมเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองของสุโขทัย กล่าวว่าหลวงต่อไปเป็นพระยาสโมสรฯ พบที่อุโมงค์ของวัดศรีชุมเมื่อปี พ.ศ. 2430 เข้าใจว่าผู้สักให้จารึกคือ สมเด็จพระมหาศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี เป็นโอรสของพระยากำแหงพระราม ซึ่งเป็นพระนัดดาของพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนผาเมือง ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปคือใคร ในรัชสมัยของพระเจ้าเลอไทก่อน พ.ศ. 1890

ตอนที่ 2 และที่ 3 ของจารึกนี้จะเล่าถึงประวัติผู้ครองสุโขทัยเบื้องต้น องค์แรกที่ทราบนามกัน คือ พ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ขอมได้เข้ามาครองเมืองสุโขทัยลูกชายของท่านชื่อพ่อขุนผาเมืองท่านเป็นเจ้าเมืองราด… ท่านได้ชักชวนสหายของท่านคือ พ่อขุนบางกลางหาวมาช่วย เมื่อได้เมืองคืนแล้ว ขุนผาเมืองกลับยกเมืองสุโขทัยให้เพื่อน พ่อขุนบางกลางหาวนี่เอง พร้อมทั้งมอบพระขรรค์ชัยศรี และนามของท่านคือ ศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเคยได้รับมอบจากกษัตริย์เขมร โดยที่เพราะท่านเป็นลูกเขยของกษัตริย์เขมร การที่ได้มอบเมืองสุโขทัยให้เพื่อนนี่ก็สันนิษฐานกันได้หลายอย่าง ข้าพเจ้าไม่อยากจะเล่าถึงเรื่องนี้ จะยาวไป และเมื่อยกเมืองให้เพื่อนแล้วท่านก็กลับไปครองเมืองราดของท่านอย่างเดิม พระเจ้าศรีอินทราทิตย์นี่ก็คือพ่อของพ่อขุนรามกำแหงนี่เอง ต้องเล่านิดหนึ่งว่าลูกหลานของพ่อขุนรามกำแหงคือใครบ้าง เพราะอาจจะต้องเอยชื่อในเวลาอภิปราย ขอใช้คำธรรมดาสามัญเพราะจะเข้าใจได้ง่ายกว่า ลูกของพ่อขุนรามกำแหงคือพระเจ้าเลอไท ต่อมามีลูกของพระเจ้าเลอไทคือพระเจ้าลิไท ได้เป็นกษัตริย์ของสุโขทัยต่อไป ท่านได้ใช้นามว่า "มหาธรรมราชาที่ 1 "

ในศิลาจารึกหลักที่ 2 นี่ นอกจากจะได้เล่าพระราชประวัตินี้มาต่อไป ได้มีการสรรเสริญพระมหาศรีศรัทธา พระมหาศรีศรัทธาที่ได้กล่าวชื่อนี้ไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นเจ้านายที่เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง และท่านได้ผนวชอยู่ที่สุโขทัยและท่านได้เสด็จไปที่เมืองลังกา ที่เมืองลังกาก็ได้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ก็มีการสรรเสริญท่าน และได้เล่าถึงอิทธิปาฏิหารย์ในการเสี่ยงบารมีของพระมหาเถรศรีศรัทธานี้ และได้เล่าถึงประวัติเดิมของท่านอีก ได้เล่าถึงตอนที่ท่านยังเป็นฆารวาสอยู่ ได้ได้มีการชนช้างและได้เล่าประวัติท่านต่อๆ แล้วได้เล่าการสร้างวัดของท่านและการปาฏิหารย์ต่าง ๆ หลักนี้อยู่ทิ่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเช่นกัน

หลักที่ 3 เรียกว่าศิลาจารึกนครชุม ไม่ทราบแน่ว่ามาจากไหนทำขึ้นใน พ.ศ.1900 ผู้ที่สร้างขึ้นคือพระมหาธรรมราชาลิไท ตอนที่ 1 ได้เล่าถึงการประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุของพระเจ้าลิไท และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากลังกา และท่านก็ได้ชักชวนต่อไปให้ได้ทำบุญกัน ตอนท้ายก็มีการสรรเสริญพระเจ้าลิไท หลักนี้อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ

หลักที่ 4 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาเขมร รัชกาลที่ 4 ได้ทรงนำมาในปี พ.ศ.2376 อันนี้ที่กล่าวกันอย่างชัดเจนพร้อมกับมนังคศิลาบาตร ได้ทำขึ้นในปี 1904 เป็นการเล่าถึงพระเจ้าลิไทเสด็จจากศรีสัชนาลัยไปสุโขทัยในปี พ.ศ.1890 มีการสรรเสริญพระปรีชาสามารถและเล่าถึงการอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชลังกาให้ไปพักที่วัดป่ามะม่วง และเล่าถึงการผนวชของพระเจ้าลิไท แล้วก็มีการชักชวนให้ทำบุญเช่นกัน หลักนี้อยู่ในหอสมุดแห่งชาติ

หลักที่ 5 คือ ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาไทย เราก็เห็นว่าเป็นคู่กัน คือหลักที่ 4 และหลักที่ 5 หลักหนึ่งเป็นภาษาขอมอีกหลักหนึ่งเป็นภาษาไทย จารึกปีเดียวกันคือปี พ.ศ. 1904 พบที่อยุธยาในปี พ.ศ.2450 ข้อความเหมือนกับหลักภาษาขอม แต่ไม่ได้เล่าถึงการไปตีเมืองสุโขทัยที่เล่ามาเมื่อสักครู่ว่าพระเจ้าลิไทเสด็จจากเมืองศรีสัชนาลัยไปตีสุโขทัยกลับมาแล้วก็ไม่ได้พูดถึงการประดิษฐานเทวรูป แต่มีกล่าวเพิ่มเติม คือกล่าวถึงพระยารามราชปลูกต้นมะม่วง

หลักที่ 8 คือหลักสุดท้ายที่ผู้อภิปรายบอกให้ข้าพเจ้าพูดถึง ก็คือ ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ ไม่ทราบแน่ว่าพบที่ไหนสันนิษฐานการจารึกว่าอยู่ที่เขาสุมนกูฏ คือเขาพระพุทธบาทใหญ่ รัชกาลที่ 6 ทรงนำมาในปี พ.ศ. 2451 พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระเจ้าลิไทเป็นผู้จารึก พระเจ้าลิไทประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้เมื่อ พ.ศ. 1902 ที่พูดอยู่ในจารึกนั้น มีการเล่าถึงแห่รอยพระพุทธบาทขึ้นเขานี้ และได้เล่าถึงพระเจ้าลิไทไปปราบหัวเมืองและไปประทับที่เมืองสองแคว เป็นระยะเวลา 7 ปี และทรงนำชาวเมืองต่าง ๆ มาสักการะรอยพระพุทธบาทที่ขานี้ นี่ก็เป็นหลักต่างๆ ผู้อภิปรายจะได้กล่าวถึง

ในเรื่องเก่าๆ หรือเรื่องใหม่ๆ ของไทยนั้น จะสังเกตได้ว่าชาวต่างประเทศมีความสนใจมาก และเริ่มศึกษาอย่างมีระบบก่อนเรา ข้าพเจ้าได้เคยพูดถึงเรื่องความสนใจของฝรั่งมาแล้วครั้งหนึ่ง วันนี้ก็จะไม่พูดซ้ำ ถึงอย่างไรก็ดี เราก็เห็นได้ว่า สยามสมาคมได้ก่อตั้งขึ้นมาโดยไทย และฝรั่งร่วมกันนานมาก่อนสมาคมต่างๆ ของเรา เช่น สมาคมประวัติศาสตร์ สมาคมโบราณคดี และอื่นๆ เนื่องจากมีสมาชิกชาวต่างประเทศมากซึ่งไม่ทราบภาษาไทย สยามสมาคมมีประเพณีที่จะใช้ภาษาอังกฤษส่วนมาก ในการแสดงปาฐกถาที่มีเป็นประจำ สมาคมนี้ก็อยู่มาได้ตลอดจนถึงทุกวันนี้เพราะระดับสูงและการเป็นวิชาการของศาสตร์แขนงต่างๆ ที่สมาคมฯนำมาแสดงแต่ก็เป็นการปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ทราบภาษาอังกฤษเหมือนกัน ในวันนี้ข้าพเจ้าได้ขอให้สยามสมาคมจัดการอภิปรายขึ้นเป็นภาษาไทย เพื่อให้ทุกคนที่สนใจสามารถมาฟังได้โดยไม่มีภาษาเป็นอุปสรรค การศึกษาประวิติศาสตร์หรือโบราณคดีนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ไม่มีผลกระทบกะเทือนใด ๆ

การสร้างประวัติศาสตร์ในทุกวันนี้ก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพลจะสามารถเขียนประวัติศาสตร์ไปตามที่ต้องการ โดยที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่ค้าน เพราะความกลัวหรือการไม่อยากออกตัว อยากอยู่สบาย ๆ จริงอยู่ผู้ค้านก็จะมีอยู่บ้าง แต่จะเป็นกลุ่มส่วนน้อยและถ้ามีโอกาส

การศึกษาศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ไม่ได้มีการศึกษาทางวิชาการเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้พูดกับชาวต่างประเทศคนหนึ่ง เขาได้กล่าวว่าไม่สนใจเลยในความหมายที่มีอยู่ สนใจแต่ทางด้านวิชาการ สำหรับคนไทยนั้น หลักที่ 1 มีความหมายลึกซึ้งทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ปรัชญาและจริยธรรม ดังนั้นจึงมีผู้สนใจมาก

มีผู้มาถามว่าไม่กลัวหรือถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม ข้าพเจ้าไม่กลัว เพราะคิดว่าถ้ามีคนที่สงสัยอะไรก็น่าที่จะให้โอกาสเขาอธิบายความเห็นของเขาด้วยเหตุผล ของเขา ซึ่งเราก็สามารถมาพิจารณาได้ภายหลัง

ถึงอย่างไรก็ดี เราไม่ควรยึดถืออะไรนัก ทุกอย่างในโลกนี้ก็ไม่เที่ยง ถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม อะไรก็จะมาลบการที่เรามีภาษาของเรา ซึ่งมีตัวเขียนองเราที่ใครสร้างขึ้นก็ตาม มีสถาปัตยกรรมของเราและอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นของเราไม่ได้


พระดำรัสช่วงท้ายของการอภิปราย

ตามที่ได้พูดกันมานี่ หลายท่านก็ได้แสดงความเห็นว่า น่าจะมาศึกษากันอีกให้ดีๆ ร่วมกันทั้งหมด งานชนช้างวันนี้ก็จบลงไปแล้ว ฉะนั้นเรามาสร้างช้างตัวใหม่ด้วยกันเห็นจะดี ให้มารวมกันทุกฝ่ายแล้วศึกษากันจริง ๆ

แต่ก่อที่จะจบนี้ ยังจะมีอะไรแปลกออกไปนิดหนึ่ง ก่อนที่จะมีการจัดการอภิปรายนี้ ข้าพเจ้าก็คิดว่าน่าจะมีวิธีอื่นที่จะมาศึกษาเพราะพูดกันวันนี้ ท่านเองก็คงงงไปหมดอย่างข้าพเจ้า ก็ไม่รู้เป็นอย่างไรกันแน่ แต่อาจจะมีวิธีอื่นที่จะหาความจริงหรือใกล้ความจริงขึ้นอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ก็อาจจะได้

ข้าพเจ้าจึงได้สืบดูว่ามีวิธีการใหม่คือ การที่จะใช้คาร์บอน 14 นั้นสำหรับของเช่นนี้มันเป็นไปไม่ได้เพราะจะวัดได้เป็นระยะที่ไกลมาก แต่เมื่อสอบดูแล้วมันมีวิธีหนึ่งเกิดขึ้นในศตวรรศอะไร คือห่างจากศตรวรรษนี้เท่าไร ถ้าในระยะเวลาสัก 500 ปีนี่พอที่จะทราบได้

แต่ขณะนี้เครื่องนี้กรมศิลปากรยังไม่มี คิดว่าอาจจะได้รับจากประเทศญี่ปุ่น แต่เวลานี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังพิจารณาอยู่ จะให้คำตอบในราวเดือนพฤษภาคม ที่สถาบันอื่นมีบ้างแล้วที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับวันนี้ก็มีเท่านี้ ก็ขอจบการอภิปรายแต่เพียงเท่านี้


| ย้อนกลับ | กลับไปหน้าแรก |